2nd benefit

2nd benefit

คอบช.ย้ำให้กำหนด ‘ห้ามปัดเศษเป็นนาที’ ไว้ในประกาศ กสทช.

554151
กรรมการองค์การอิสระฯ ขอยืนยันให้ กสทช. กำหนดเรื่องห้ามปัดเศษเป็นนาที ไว้ในประกาศ กสทช. เรื่อง การกระทำที่น่าจะเอาเปรียบผู้บริโภคฯ

ตามที่ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างประกาศ กสทช. เรื่อง การกระทำที่เอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมโดยอาศัยการใช้เครือข่ายหรือการโฆษณา อันมีลักษณะเป็นการค้ากำไรเกินควร หรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ พ.ศ. .... โดยมี นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช. และ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ร่วมรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ในวันที่ 12 มี.ค. 58 ที่อาคารหอประชุม ชั้น 2 สำนักงาน กสทช.

นางสาวชลดา บุญเกษม กรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ( คอบช. ) กล่าวว่า ให้ กสทช. พิจารณากำหนดเรื่องการปัดเศษค่าโทรเป็นนาทีไว้ใน ข้อ 5 (4) ของประกาศดังกล่าว ให้ชัดเจน เป็นรูปธรรม เนื่องจากการที่ค่ายมือถือเรียกเก็บค่าบริการในการใช้งานโทรศัพท์ที่ไม่เป็นไปตามที่ใช้งานจริงจากผู้บริโภค มีการปัดเศษจากวินาทีเป็นนาที เข้าข่ายเป็นการคิดค่าบริการที่ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค และมีลักษณะเป็นการค้ากำไรเกินควร ทำให้ผู้บริโภคต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
"นอกจากนี้ เห็นว่า คำนิยาม “ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม” ตาม ข้อ 4 ยังมีความหมายแคบ เพราะนอกจากจะหมายถึงผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแล้ว ควรจะกำหนดให้รวมถึง ผู้ที่ร่วมค้ากับผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมด้วย เพราะเวลาที่เกิดการเอาเปรียบผู้บริโภค เช่น กรณีส่ง SMS เข้ามาโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้บริโภค ทำให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ เมื่อมีการร้องเรียน ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมมักอ้างว่าไม่รู้เห็น และเป็นการดำเนินการของบริษัทที่โฆษณาข้อมูลเอง ซึ่งเห็นว่าในฐานะที่ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม เป็นผู้มีหน้าที่ดูแลโครงข่ายโทรคมนาคม จึงควรจะร่วมรับผิดด้วย” นางสาวชลดา กล่าว

ด้าน นางมณี จิรโชติมงคลกุล อนุกรรมการด้านสื่อและโทรคมนาคม คอบช. ได้เสนอให้มีการปรับปรุงประกาศดังกล่าว โดยเฉพาะในข้อ 6 เรื่องสิทธิร้องเรียนของผู้บริโภค ไม่ควรจำกัดเฉพาะ ‘ผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายหรือได้รับความเดือดร้อนแล้ว’ เท่านั้น แต่ควรเป็นสิทธิของผู้บริโภคทุกคนที่เห็นถึงการกระทำที่น่าจะเอาเปรียบผู้บริโภค ก็ควรมีสิทธิจะร้องเรียนได้ และกระบวนการพิจารณาเรื่องร้องเรียน ควรมีการกำหนดขั้นตอนที่รวดเร็ว มีประสิทธิภาพกว่าการรับเรื่องร้องเรียนทั่วไป

“ประกาศฉบับนี้ มีเจตนารมณ์ มุ่งจะป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับผู้บริโภค ปกป้องประโยชน์สาธารณะ และเมื่อคณะกรรมการ กสทช. เห็นว่ามีบริษัทรายใดกระทำการที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค การมีคำสั่งให้ระงับการดำเนินการ ควรจะสั่งให้มีผลกับผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมทุกราย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาตามมา ไม่ใช่ รอให้เกิดปัญหาแล้วค่อยมาสั่งทีหลัง ซึ่งจะไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของประกาศดังกล่าวที่ต้องการป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบจากการใช้บริการโทรคมนาคม” นางมณี กล่าว

 

บทความเนื้อหาใกล้เคียงกัน:

|

Tags: กสทช.,