2nd benefit

2nd benefit

ภาคประชาชน-นักวิชาการ ร่วมวง สปช. ถกแก้กม.ดิจิทัล ชี้ขาดการมีส่วนร่วมของ ปชช.

712791

ภาคประชาชน นักวิชาการร่วมวง สปช. ย้ำ แก้กม.ดิจิทัล เพียงแค่เอาตัวรอด ไม่จริงใจส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ส่งเสริมการวิ่งเต้นเสรี ขาดการมีส่วนร่วม เสนอให้ประธานคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นตัวแทนผู้บริโภค ในชุดกฎหมายดิจิทัล

วันนี้ (19 มี.ค.) คณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ร่วมกับ คณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค สภาปฏิรูปแห่งชาติ จัดเสวนา “กฎหมาย Digital Economy:ส่งเสริมหรือสวนทางการปฏิรูป” โดยเชิญ ตัวแทนจากทั้งภาคประชาชน นักวิชาการ นักกฎหมาย และผู้ประกอบการหลายฝ่ายเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น ต่อร่างกฎหมายกิจดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม


นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ รองประธานกรรมาธิการปฏิรูปการสื่อฯ สปช. ชี้ว่าร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว มีทั้งข้อดีและจุดบกพร่องหลายประการ โดยเฉพาะการขาดความมีส่วนร่วมของประชาชน แต่ประเทศไทยก็มีความจำเป็นต้องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิตอล ดังนั้น กฎหมายชุดนี้ จึงมีความจำเป็น แต่ก็ต้องได้รับการทบทวนแก้ไขเช่นเดียวกัน

ทางด้าน น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล อนุกรรมการด้านสื่อและโทรคมนาคม องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค (คอบช.) ระบุว่า ร่างกฎหมายดิจิทัลที่กำลังมีการแก้ไข เห็นว่ายังไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล แต่เป็นเรื่องของการพยายามตั้งหน่วยงาน กรรมการในชุดต่างๆ มีตัวแทนฝ่ายความมั่นคงเข้าไปร่วมด้วย ส่วนด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งเป็นผู้เกี่ยวข้องโดยตรงกลับไม่มีการระบุไว้ จึงเสนอให้กำหนดในชุดกฎหมายดิจิทัล มีประธานของคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นกรรมการด้วย แม้ในขณะนี้กฎหมายองค์การอิสระฯจะอยู่ในระหว่างพิจารณาของคณะรัฐมนตรี เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน

อนุกรรมการด้านสื่อและโทรคมนาคม คอบช. กล่างต่อไปว่า นอกจากนี้ เรื่องการจัดสรรคลื่นความถี่ ซึ่งเป็นทรัพยากรของชาติ ต้องดำเนินตามแผนแม่บท กสทช. ไม่ใช่ มานั่งทำใหม่ และคลื่นที่นำมาใช้เพื่อบริการสาธารณะ ก่อนนำไปจัดสรรควรมีการรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนด้วย ไม่ใช่การจัดสรรคลื่นให้หน่วยงานรัฐ และให้รัฐนำคลื่นไปใช้ทำประชาสัมพันธ์ภาพของตัวเองฝ่ายเดียวอย่างที่ผ่านมา ปัญหาเรื่องธรรมาภิบาล การคุ้มครองด้านสื่อและโทรคมนาคมยังไม่ได้รับการแก้ไข ยืนยันว่า พรบ.กสทช.ยังต้องแก้ไข เพื่อให้เกิดการปฏิรูปสื่ออย่างแท้จริง

ด้าน นายสมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่า การแก้กฎหมายรัฐธรรมนูญ และการแก้ร่างกฎหมาย กสทช. ผู้ร่างอาจยังมีความเข้าใจผิดอยู่ ทำให้ยังไม่อาจเกิดการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งการประมูลคลื่นความถี่ ไม่ได้ทำให้ผู้บริโภคต้องรับภาระเพิ่ม เพราะการประมูลไม่มีผลต่ออัตราการเก็บค่าบริการกับประชาชน แต่ขึ้นอยู่กับความต้องการในตลาด โดยการประมูล 3 จี ที่ผ่านไป ผู้ประกอบการประมูลได้ราคาต่ำกว่าตลาด 30% เรื่องการประมูลคลื่น ไม่ได้ส่งผลโดยตรงกับการนำไปใช้ประโยชน์สาธารณะ เพราะ กสทช.ก็กำหนดเงื่อนไข ในการประมูลได้อยู่แล้ว เพื่อให้ผู้ชนะทำตามเงื่อนไข จึงไม่จำเป็นต้องกำหนดไว้ในร่าง พรบ. ที่กำลังจะแก้นี้ อีกทั้งการกำหนดให้มีทั้งการประมูลและรูปแบบอื่นๆ จะทำให้เกิดการวิ่งเต้นอย่างเสรี แทนการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม ผู้ประกอบการต้องวางแผนการลงทุน ไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาแน่นอน

ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวต่อไปว่า สังคมอยากเห็นแผนการจัดสรรคลื่น และรัฐบาลควรประกาศแผนจัดสรรคลื่นโดยเร็ว โดยต้องไม่ผูกกับร่างกม.ที่กำลังจะออกมาเพื่อไม่ทำให้การประมูล 4 จี มีปัญหา ต้องทำให้การประมูลเกิดขึ้นได้อย่างมีหลักประกัน โดยต้องไม่ใช้คลื่นความถี่อื่นๆ มากมายมาผูกกับการประมูลครั้งนี้ นอกจากคลื่น 1,800 กับ 900 MHz เท่านั้น และยืนยันว่า การแก้กฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล ตามร่างที่เป็นอยู่นี้ จะทำให้เกิดการส่งเสริมการวิ่งเต้นเสรี และทำให้เกิดการไม่พัฒนาของตลาดโทรคมนาคม และตลาดเศรษฐกิจดิจิทัล