2nd benefit

2nd benefit

รู้จักองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค

 

" องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค " มีแล้วเกิดประโยชน์อย่างไร? 

 

(1) เปิดเผยชื่อสินค้า ที่เอาเปรียบผู้บริโภค

หากเรามีองค์การอิสระก็จะออกมาเตือนให้ผู้บริโภคระวัง ทำให้ผู้บริโภคที่กำลังจะไปเป็นสมาชิกก็น้อยลง แทนที่จะถูกหลอกถูกโกง กันเกือบสองแสนคน ก็น่าจะน้อยลง เสียหายกันน้อยลง เช่น แคลิฟอร์เนีย ฟิตเนส ว้าว ที่ปิดกิจการ

(2) เป็น หู ตา ปาก เสียง ให้ผู้บริโภคก่อนถูกเอารัดเอาเปรียบ

2nd benefit

กรณีการขึ้นค่าโทลเวย์จาก 55 บาท เป็น 85 บาท โดยไม่ต้องขออนุญาตใครเพียงแต่ติดประกาศแจ้งผู้ใช้รถทราบ ภายใน 30 วัน แต่หากมีองค์การอิสระ กรมทางหลวงต้องจัดส่งเรื่องนี้ ขอความคิดเห็นต่อคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งคณะกรรมการฯ ต้องทำหน้าที่ให้ความเห็นต่อเรื่องนี้โดยใช้ข้อมูลความรู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด การทำหน้าที่ให้ความเห็นจะช่วยเป็นปากเป็นเสียง แทนผู้บริโภคและช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตัดสินใจโดยใช้ข้อมูลจากตัวแทนผู้บริโภคมากขึ้น แทนที่กลุ่มผู้บริโภคต้องอาศัยการฟ้องคดี ในการคัดค้านการขึ้นราคาซึ่งก็เป็นปลายเหตุ

(3) ใช้ชีวิตอย่างเท่าทันปัญหา ไม่ต้องเสี่ยง ถูกหลอก ถูกโกง

ให้ข้อมูล ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสินค้า และโฆษณา ในโทรทัศน์ ทีวีดาวเทียม วิทยุชุมชน เคเบิ้ลทีวี เพราะแม้แต่เครื่องดื่มรังนกสำเร็จรูปที่มีรังนกแห้งเพียง 1% แต่กลับโฆษณารังนกแท้ 100%

(4) เป็นหน่วยสนับสนุนผู้บริโภคแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร

ผู้บริโภคสามารถไปร้องเรียน ตรวจสอบ ขอคำปรึกษาทางกฎหมาย และ ติดตามความคืบหน้าได้ในทุกประเด็นปัญหา ทุกข้อเรียกร้อง แบบเบ็ดเสร็จครบวงจร (One Stop Service) แม้องค์การนี้จะไม่มีอำนาจหน้าที่ในการสั่งห้าม สั่งปิด สั่งรื้อ หรือสั่งปรับ ก็จะเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคมาก เพราะการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทยมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แม้แต่อยากจะร้องเรียนปัญหาการละเมิดสิทธิก็ยากที่จะรู้ว่าต้องเดินไปที่ไหน โทรศัพท์สายด่วนเบอร์อะไร

(5) ตรวจสอบการคุ้มครองผู้บริโภค ให้คุ้มครองมากขึ้นกว่าเดิม

กรณี แร่ใยหิน ที่พบข้อมูลชัดเจนว่าทำให้เกิดมะเร็งเยื่อหุ้มปอด เดิมประเทศไทยมีเพียงมาตรการฉลาก หากมีองค์การอิสระ ต้องขอความเห็นจากองค์การนี้ ซึ่งจะมีโอกาสเสนอให้ยกเลิกการใช้อย่างที่ประเทศพัฒนาแล้ว หรือถึงแม้ในปัจจุบันจะมีมติคณะรัฐมนตรียกเลิกการนำเข้าและผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมแร่ใยหิน แต่กระทรวงอุตสาหกรรมกลับโยกเย้ จะทำงานวิจัยใหม่ แทนที่จะปฏิบัติตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติและมติคณะรัฐมนตรี องค์การอิสระ ก็จะช่วยตรวจสอบการทำหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรมในการคุ้มครองผู้บริโภค แทนที่หน่วยงานอื่นๆ ต้องแก้ปัญหาจากการตีรวนไม่ทำหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรม

(6) ผลักดันกฎหมายให้บรรลุวัตถุประสงค์

แม้ว่า กสทช.จะกำหนดกติกาให้บริษัทผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ห้ามกำหนดวันหมดอายุบัตรเติมเงิน แต่ในความเป็นจริงทุกบริษัทกำหนดวันหมดอายุบัตรเติมเงินกันทั้งนั้น ไม่มีบริษัทไหนเลยที่ไม่ทำผิด กสทช.ก็มีมาตรการปรับวันละ 100,000 บาท รวม 3 บริษัทก็ตกเดือนละ 9 ล้านบาท แต่บริษัทก็อุทธรณ์เพราะการไม่ทำตามคำสั่งได้ประโยชน์มากกว่าเพราะมีตัวเลขชัดเจนว่า ผู้บริโภคที่ร้องเรียน ถูกยึดเงินไปเฉลี่ยคนละ 517 บาท หากคิดว่าถูกยึดเงินเพียงร้อยละ 1 จากจำนวน 70 ล้านเลขหมาย บริษัทจะได้ประโยชน์ไม่น้อยกว่า 350 ล้านบาท


 

" องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค " 

ต่างจาก สคบ. อย่างไร ?

         สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. เป็นหน่วยงานของรัฐ ทำหน้าที่ดูแลผู้บริโภคในเรื่องสัญญาซื้อขาย และการโฆษณาสินค้าและบริการทั่วๆ ไปเป็นหลัก รวมทั้งยังมีอำนาจสั่งปรับ สั่งจับ บริษัทเหมือนเดิม แต่ก็มีปัญหาของผู้บริโภคอีกมายมายเกินกำลังของ สคบ. จะดูแลได้ อย่างเรื่องการขึ้นค่าแก๊ส ค่าไฟ ค่าทางด่วน ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานรัฐอื่นๆ ซึ่ง สคบ. มีข้อจำกัดที่จะตรวจสอบนโยบาย หรือหน่วยงานของรัฐกันเอง ที่มักมีปัญหาความไม่โปร่งใสหรือผลประโยชน์ทับซ้อน รัฐธรรมนูญก็เลยเขียนไว้อย่างชัดเจนว่า...

         ให้มี องค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐ และคนทำงานให้มาจากตัวแทนผู้บริโภคเท่านั้น ไม่ใช่ข้าราชการ ไม่ใช่พ่อค้านักธุรกิจ เพราะรัฐธรรมนูญเชื่อว่า ไม่มีใครรู้ปัญหาและทำงานคุ้มครองผู้บริโภคได้ดีเท่ากับตัวผู้บริโภคไงล่ะ...




" องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค "

คืออะไร... ใครรู้บ้าง ?

     แนวคิดเรื่อง " องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค " ถือกำเนิดและก่อร่างสร้างตัวขึ้นในยุค รัฐธรรมนูญปี 2540 มาตรา 57 ซึ่งกำหนดให้มีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ทำหน้าที่ให้ความเห็นต่อนโยบาย มาตรการในการคุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างอิสระไม่ถูกบังคับด้วยเงื่อนไขจากฝ่ายบริหาร หรือฝ่ายการเมือง เปรียบเสมือนการบอกกลายๆ ว่าอำนาจในการออกกฎหมายและมาตรการในการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นของผู้บริโภคเอง ไม่ได้ถูกผูกขาดอยู่เฉพาะหน่วยงานของรัฐ ที่ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค หรือผู้บริโภคต้องมีส่วนร่วมที่สำคัญ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคได้มีส่วนร่วมในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง เสนอ และให้ความเห็นในการออกกฎหมาย รวมทั้งให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค

     เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคได้พยายามรณรงค์เรื่องนี้อย่างต่อเนื่องทำให้ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ชัดเจนมากขึ้นในมาตรา 61 รับรองสิทธิของบุคคล ซึ่งเป็นผู้บริโภค ย่อมได้รับความคุ้มครองในการได้รับข้อมูลที่เป็นความจริง และมีสิทธิร้องเรียนเพื่อให้ได้รับการแก้ไขเยียวยาความเสียหาย รวมทั้งมีสิทธิรวมตัวกันเพื่อพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค

     ให้มีองค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐ ซึ่งประกอบด้วย ตัวแทนผู้บริโภค ทำหน้าที่ให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของหน่วยงานของรัฐในการตราและการบังคับใช้กฎหมายและกฎ และให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งตรวจสอบและรายงานการกระทำ หรือละเลยการกระทำอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งนี้ ให้รัฐสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการขององค์การอิสระดังกล่าวด้วย 

     รวมทั้งได้มีการกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาล มาตรา 303 ให้มีการดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับแต่วันที่แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ซึ่งได้ครบกำหนดในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552 ที่ผ่านมา

     ร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริดภค พ.ศ. .... ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเครือข่ายผู้บริโภคและประชาชน ได้ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญในการเสนอกฎหมาย

     โดยการเข้าชื่อประชาชนจำนวน 12,208 รายชื่อและเสนอต่อประธานรัฐสภา เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2552 จนผ่านกระบวนการพิจารณาของรัฐสภามาเป็นลำดับ ผ่านกรรมาธิการร่วม ล่าสุดได้ผ่านการพิจารณาในวาระ 3 ของวุฒิสภาเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2556 และอยู่ระหว่างการพิจารณาในวาระที่ 3 ของสภาผู้แทนราษฎร จนกระทั่งรัฐบาลประกาศยุบสภา เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2556 ที่ผ่านมา ทำให้กฎหมายฉบับนี้ตกไป รอการร้องขอของคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ภายในหกสิบวัน และให้รัฐสภามีมติเห็นชอบด้วย เพื่อเดินหน้ากฎหมายฉบับนี้ตามมาตรา 153 ของรัฐธรรมนูญ แต่ปัจจุบันรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับดังกล่าวได้ถูกยกเลิกไปและยังมีข้อถกเถียงเรื่องอำนาจทางอาญาในการเสนอกฎหมายของประชาชนที่รอ สนช. ชี้ขาด