2nd benefit

2nd benefit

เครือข่ายศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค 10 จังหวัดภาคเหนือ “ลั่น” ไม่ว่ารัฐบาลไหนจะเข้ามาบริหารประเทศ ภาคประชาชนจะยังเดินหน้าผลักดันกฎหมายที่พิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคให้ถึงที่สุด

 press consumer network north 161259 for web

จากเวทีสภาผู้บริโภคภาคเหนือ “การรวมกลุ่มผู้บริโภค: เปลี่ยนความเสียหายเป็นพลัง” เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2559 ณ โรงแรมบีพีเชียงใหม่ซิตี้ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ น.ส.พวงทอง ว่องไว ตัวแทนเครือข่ายศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ภาคเหนือ กล่าวว่า สถานการณ์ภาพรวมการรับเรื่องร้องเรียนของศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคและองค์กรผู้บริโภคที่ทำงานใน 10 จังหวัดภาคเหนือ คือ จ.เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำปาง แพร่ น่าน ลำพูน พิษณุโลก กำแพงเพชร และชัยนาท ในประเด็นงานผู้บริโภคทั้งหมด 7 ด้าน คือ ด้านการบริการสุขภาพ ด้านการบริการสาธารณะ ด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ด้านการเงิน การธนาคาร ด้านสินค้าและบริการทั่วไป ด้านสื่อสารและโทรคมนาคม และด้านที่อยู่อาศัย ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2557 ถึงวันที่ 10 ธันวาคม 2559  มีจำนวนเรื่องร้องเรียนเข้ามาทั้งหมด 1,090 กรณี

ประเด็นที่มีผู้บริโภคร้องเรียนเข้ามามากที่สุด 3 อันดับแรก คือ
อันดับที่ 1 เรื่องบริการสุขภาพและบริการสาธารณสุข
เช่น การเข้ารับการรักษาจากอุบัติเหตุแล้วถูกเรียกเก็บเงิน หรือการวินิจฉัยโรคล่าช้าทำให้ผู้รับบริการเสียชีวิต เป็นต้นมีทั้งหมด 260 กรณี

อันดับที่ 2 เรื่องสื่อและโทรคมนาคม
เช่น ขอรับคำปรึกษาเรื่องผลกระทบจากเสาส่งสัญญาณโทรคมนาคม การยกเลิกซิมโทรศัพท์มือถือแล้วแต่ยังถูกเรียกเก็บค่าบริการ เป็นต้นมีทั้งหมด 203 กรณี

และอันดับที่ 3 เรื่องอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ
เช่น การโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง การตรวจพบสารสเตียรอยด์ในยาสมุนไพรเป็นต้นมีทั้งหมด 166 กรณี

นางนันทนา บุญเรืองทา ประชาชนจากชุมชนบ้านหนองแมงดาหมู่ 5 ต.พิชัย อ.เมือง จ.ลำปาง เล่าเรื่องเรียนให้ฟังว่า เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2558 มีบริษัทโทรศัพท์เคลื่อนที่รายหนึ่งเข้ามาติดตั้งเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์กลางชุมชนซึ่งเป็นพื้นที่คาบเกี่ยวระหว่างอบต. และเทศบาล โดยไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาทำประชาพิจารณ์ เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนในพื้นที่ เมื่อประชาชนไปสอบถามข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นก็ไม่ได้รับคำตอบแต่อย่างใด โยนเรื่องไปมาระหว่าง อบต.และเทศบาล ทำให้ประชาชนรู้สึกสับสน แต่สิ่งสำคัญคือคนในชุมชนก็ไม่ต้องการเสาส่งสัญญาณตั้งอยู่กลางชุมชน เนื่องจากหวั่นเกรงผลกระทบด้านสุขภาพ

ประชาชนในชุมชนประมาณ 50 – 60 ครัวเรือนจึงรวมกลุ่มไปร้องเรียนที่ศูนย์ดำรงธรรม จ.ลำปาง แต่ไม่เป็นผล เพราะศูนย์ดำรงธรรมเห็นว่าเสาส่งสัญญาณเป็นประโยชน์ต่อคนในชุมชนและประเทศชาติ จึงมีคนแนะนำให้รู้จักกับศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค จ.ลำปาง ทำให้ได้รับข้อมูลอย่างรอบด้านเกี่ยวกับการติดตั้งเสาส่งสัญญาณและผลกระทบที่ประชาชนอาจจะได้รับ ทำให้กลุ่มประชาชนบ้านหนองแมงดาเดินทางไปร้องเรียนกับผู้อำนวยการสำนักงาน กสทช. เขต 3 ลำปาง นำไปสู่การจัดวงคุยระหว่างบริษัทโทรศัพท์เคลื่อนที่ กสทช. เขต 3 ฝ่ายท้องถิ่น ประชาชนหมู่บ้านหนองแมงดา และศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค จ.ลำปาง เพื่อหาข้อสรุปจากกรณีดังกล่าว จนในที่สุดบริษัทก็ยอมรื้อถอนเสาออกจากชุมชน  

ส่วน นางดรรชนี กาบคำ ผู้เสียหายด้านการเงิน จ.เชียงใหม่ เล่าว่าตัวเอง แม่บ้าน และคนสวนที่เป็นพนักงานของบริษัทโครงการหมู่บ้านจัดสรรแห่งหนึ่งใน จ.เชียงใหม่พร้อมกับกลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้างรวมกันทั้งหมดประมาณ 70 รายถูกทางบริษัทขอสำเนาบัตรประชาชนและทะเบียนบ้านที่ไม่ได้เซ็นสำเนากำกับ โดยบริษัทอ้างว่าจะทำประกันสังคมให้ ต่อมาทางกลุ่มผู้เสียหายได้รับจดหมายทวงหนี้จากธนาคารร้อยกว่าล้านบาททั้งที่เจ้าตัวไม่ทราบเรื่องมาก่อน จึงแจ้งเรื่องไปยังเจ้าของบริษัทซึ่งรับปากว่าจะจัดการเรื่องหนี้สินให้ หนึ่งปีผ่านไปทางกลุ่มผู้เสียหายก็ได้รับจดหมายทวงหนี้จากธนาคารอีกครั้งในยอดเงินเท่าเดิม จึงรวมตัวไปร้องเรียนที่ศูนย์ดำรงธรรมอำเภอ ทางอำเภอแนะนำให้ส่งเรื่องมาที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดซึ่งทางจังหวัดแนะนำให้รอดูไปก่อน แต่ผู้เสียหายหลายคนมีความกังวลใจกับหนี้สินที่ไม่ได้ก่อ อีกทั้งจะไปกู้ยืมเงินที่ใดก็ไม่ได้ เพราะมีรายชื่อติดบัญชีดำ ทำให้กลุ่มผู้เสียหายที่รวมตัวกันได้ประมาณ 10 กว่ารายมาขอรับความช่วยเหลือจากศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค จ.เชียงใหม่

หลังจากนั้น ทางศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคช่วยประสานงานกับสภาทนายความภาคเหนือให้ช่วยเจรจาเรื่องหนี้สินกับทางธนาคารให้ จนตอนนี้ธนาคารได้ถอนชื่อกลุ่มผู้เสียหายทั้งหมดออกจากการเป็นหนี้แล้ว ทำให้ตัวเองได้บทเรียนว่าก่อนจะส่งเอกสารให้คนอื่นควรเซ็นกำกับทุกครั้ง เพื่อป้องกันคนแอบอ้าง     

นายคงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ มูลนิธิผู้บริโภค กล่าวว่าจากประสบการณ์ของศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคของภาคเหนือทำให้เห็นบทเรียนที่สำคัญ คือ ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคที่ดำเนินการโดยภาคประชาชนเป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนความเข้มแข็งให้กลุ่มผู้เสียหายทั้งการให้ข้อมูล การให้คำแนะนำด้านเอกสาร และการช่วยประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้กลุ่มผู้เสียหายมีความมั่นใจในการลุกขึ้นมาจัดการปัญหาของตัวเอง อีกทั้งการจัดการปัญหาให้ได้ผลนั้นกลุ่มผู้เดือดร้อนที่เป็นเจ้าของปัญหาต้องเป็นเจ้าภาพหลักในการจัดการปัญหาร่วมกับศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค

อย่างไรก็ตาม จากกรณีดังกล่าวยังเห็นข้อจำกัดว่าการจัดการปัญหายังทำได้เพียงรายกรณีเท่านั้น หากต้องการให้งานคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคเกิดความยั่งยืนจำเป็นจะต้องมีกฎหมายที่เข้ามาทำหน้าที่พิทักษ์และคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคให้เกิดความเป็นธรรมดังที่เคยปรากฏในรัฐธรรมนูญปี 2540 ในมาตราที่ 57 ที่กำหนดให้มีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่ให้การคุ้มครองผู้บริโภคทำได้อย่างอิสระ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมในการให้ความเห็นในการออกกฎหมาย และร่วมกำหนดมาตรการเพื่อคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ซึ่งจะส่งผลให้การคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคเกิดความเข้มแข็งอย่างมาก

ส่วนรัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาตราที่ 61 ได้มีการระบุเรื่องการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค และให้รัฐสนับสนุนการจัดตั้งองค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐ เพื่อทำหน้าที่ให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของหน่วยงานของรัฐในการตราและการบังคับใช้กฎหมาย และให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค

แต่ในรัฐธรรมนูญปี 2559 กลับพูดถึงแค่การรวมกลุ่มของผู้บริโภคแต่ไม่มีการระบุเรื่องการให้รัฐสนับสนุนการจัดตั้งองค์การคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากหน่วยงานรัฐ จึงเป็นความท้าทายว่าในสถานการณ์ทางการเมืองเช่นนี้ ภาคประชาชนที่ทำงานคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจะทำอย่างไรให้การทำงานคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคเกิดความมั่นคง

ในการนี้ทางเครือข่ายศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคและองค์กรผู้บริโภคที่ทำงานในพื้นที่ 10 จังหวัดกว่า 100 คน ได้ร่วมกันพัฒนาข้อเสนอที่เป็นทิศทางการขับเคลื่อนงานคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคภาคเหนือที่เห็นชอบร่วมกันว่า แม้การผลักดัน (ร่าง) พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ..... (ภาคประชาชน) จะยังคงยืดเยื้อตั้งแต่ปี 2540 มาจนถึงปัจจุบันยาวนานกว่า 19 ปี แต่ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคและองค์กรผู้บริโภคใน 10 จังหวัดภาคเหนือจะยังคงผลักดันให้ (ร่าง) พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวเกิดขึ้นให้ได้

“โดยเบื้องต้นแต่ละจังหวัดต้องเตรียมข้อมูล เพื่อเข้าไปคุยกับว่าที่นักการเมืองที่ในอนาคตจะมาเป็นตัวแทนของพี่น้องประชาชนให้มาเป็นกำลังสำคัญในการช่วยผลักดันกฎหมายที่มีความสำคัญในการคุ้มครองผู้บริโภคที่จะนำไปสู่การปฏิรูประบบคุ้มครองผู้บริโภคของไทยให้เกิดประสิทธิภาพ เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม และสร้างความเข้มแข็งให้ประชาชนสามารถลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของตนเองได้อย่างแท้จริง”

--------------------------------------------------------------------------

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
กลไกเครือข่ายศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ภาคเหนือ: มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา http://phayaocivil.com/ 

FB: มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา

เครือข่าย ปชช.ภาคเหนือออกแถลงการณ์ "ร่างพ.ร.บ.กสทช.ฉบับใหม่" ต้องคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคอย่างแท้จริง

consumer net news 270859-08

แถลงการณ์เครือข่ายประชาชนภาคเหนือ
“ร่าง พ.ร.บ. กสทช. ฉบับใหม่ต้องสนับสนุนการทำงานเพื่อคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคอย่างแท้จริง”

วันที่ 27 สิงหาคม 2559 ณ โรงแรมคุ้มภูคำ จังหวัดเชียงใหม่ ในนามเครือข่ายประชาชนภาคเหนือ ขอให้กำลังใจ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมและกิจการกระจายเสียงวิทยุและโทรทัศน์ (กสทช.) ชุดปัจจุบัน และคณะอนุกรรมการชุดต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่มีความตั้งใจดีที่จะทำงานเพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชน ตามแนวทางการคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ ดังนั้นพลเมืองที่มีคุณภาพที่ดีและสังคมที่ดำรงด้วยคุณธรรมจึงเป็นสิ่งสำคัญของการพัฒนาประเทศ ตามนโยบายของรัฐบาล

            ดังนั้น ร่าง พ.ร.บ.กสทช.ฉบับใหม่ ซึ่งอาจไม่สร้างความสมดุลอีกทั้งยังคงบั่นทอนและกลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อความมุ่งมั่นและความตั้งใจในการทำงานของเครือข่าย และ กสทช. ที่จะทำงานด้านการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคเพื่อประโยชน์ของประชาชนทุกคน

            ในนามเครือข่ายภาคประชาชนภาคเหนือ จึงขอเรียกร้องให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ ร่าง พ.ร.บ.กสทช.ฉบับใหม่ ได้ปฏิบัติตามข้อเสนอและข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้
            1) ให้คงรูปแบบการมีอนุกรรมการในชุดต่าง ๆ เพื่อให้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนภาคประชาชน
            2) ในสัดส่วนของ บอร์ด กสทช. 7 คนชุดใหม่ที่จะต้องมีการแต่งตั้งตาม ร่าง พ.ร.บ.กสทช.ฉบับใหม่นั้น ต้องมีผู้เชี่ยวชาญงานคุ้มครองผู้บริโภคที่มาจากตัวแทนภาคประชาชน
            3) สนับสนุนให้มีการจัดตั้งสภาผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม โดยมีองค์ประกอบที่กลุ่มองค์กรผู้บริโภคที่หลากหลาย เพื่อให้เป็นตัวแทนและเป็นปากเสียงสำคัญแทนผู้บริโภคในการทำงานคุ้มครองสิทธิร่วมกับกสทช.อย่างต่อเนื่อง
            4) ให้ความสำคัญการทำแผนยุทธศาสตร์การคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมที่มีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนให้ชัดเจน

            เครือข่ายประชาชนภาคเหนือ ประกอบด้วย เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคภาคเหนือ, เครือข่ายเพื่อนสื่อสาธารณภาคเหนือ, เครือข่ายคนทำงานด้านเด็กและเยาวชนภาคเหนือ, เครือข่าย 17 ชาติพันธ์, เครือข่ายพิทักษ์สิทธิชุมชนภาคเหนือ, เครือข่ายแรงงานนอกระบบภาคเหนือ, เครือข่ายผู้พิการภาคเหนือ, เครือข่ายวิทยุชุมชนภาคเหนือ, สถาบันปวงผญาพยาว และสมาคมสื่อจังหวัดพะเยา

     consumer net news 270859-05consumer net news 270859-06