2nd benefit

2nd benefit

จัดระเบียบสื่อวิทยุโทรทัศน์ 'โครงข่าย-ช่อง'ปรับเพย์ทีวี

85945 1

กสทช.อิงประกาศ คสช.เดินหน้าจัดระเบียบวิทยุทีวี ปรับโครงข่ายกล่อง-ช่องทีวีดาวเทียมให้บริการ"บอกรับสมาชิก"รับสิทธิออนแอร์อีกครั้งหลัง คสช.สั่งระงับ 200 ช่องทีวีดาวเทียม ด้าน"พีเอสไอ-บิ๊กโฟร์" ขานรับนโยบายยืนยันให้บริการบอกรับสมาชิก "แกรมมี่-อาร์เอส"พร้อมเปลี่ยนช่องเพย์ทีวี

เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศ เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย คสช.ได้ออกประกาศฯ เกี่ยวข้องกับกิจการวิทยุและโทรทัศน์หลายฉบับ ซึ่งกำหนดประเภทวิทยุและโทรทัศน์ ทั้งที่ได้รับอนุญาตออกอากาศและ "ระงับ" ออกอากาศ โดยมีคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) องค์กรอิสระ ทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการสื่อ ตามประกาศฯ คสช. ซึ่งถือเป็นประกาศฯ ที่มีอำนาจสูงสุดในขณะนี้

ปัจจุบัน ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 27 กิจการวิทยุและโทรทัศน์ที่ได้รับอนุญาตออกอากาศ ประกอบด้วย ทีวีอนาล็อก 6 ช่อง ทีวีดิจิทัล 23 ช่อง ยกเว้นวอยซ์ทีวี ช่องเพย์ทีวี 310 ช่อง และสถานีวิทยุเอฟเอ็ม-เอเอ็ม 525 สถานี

ส่วนกลุ่มที่ยังถูก "ระงับ"ออกอากาศในขณะนี้ ประกอบด้วย ช่องทีวีดาวเทียมรวม 200 ช่อง วิทยุชุมชนทดลองประกอบกิจการ 4,671 สถานี และวิทยุชุมชนไม่ได้รับใบอนุญาต 2,899 สถานี รวมประมาณ 7,000 สถานี

กสทช.จัดระเบียบทีวี-โครงข่าย

พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช. และประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) กล่าวว่าจากประกาศฯ คสช. ฉบับที่27 ได้กำหนดกิจการทีวี ที่สามารถออกอากาศได้เป็น 2 กลุ่ม คือ"ฟรีทีวี" ประกอบด้วย ทีวีอนาล็อกและทีวีดิจิทัล และกลุ่มบอกรับสมาชิก ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นช่องเพย์ทีวี เพียงแต่เป็นรูปแบบการรับชมแบบมีเงื่อนไข ถือว่าเข้าข่าย "ช่องทีวีบอกรับสมาชิก"

ดังนั้นสิ่งที่ กสทช. จะดำเนินการต่อจากนี้ เพื่อทำให้กิจการวิทยุทีวีกลับสู่ภาวะปกติตามลำดับขั้นตอน พร้อมปฏิบัติตามประกาศ คสช.คือ การกำหนดให้โครงข่ายและช่องทีวี ที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช.ไปแล้ว ต้องแสดงสถานะที่ชัดเจน โดยเริ่มจากโครงข่าย เป็นลำดับแรก

"ที่ผ่านมา กสทช. ไม่ได้นิยามโครงข่ายว่าเป็นบอกรับสมาชิก หรือไม่บอกรับสมาชิก แต่วันนี้ จำเป็นต้องให้โครงข่ายแสดงสถานะอย่างชัดเจน"

ปัจจุบันโครงข่ายบอกรับสมาชิก ระดับชาติ มีจำนวน 10 ราย และอีกประมาณ 10 โครงข่ายยังไม่แสดงสถานะ ทั้งนี้ โครงข่ายที่มีเงื่อนไขให้ผู้ชมปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ถือเป็นโครงข่ายที่เข้าหลักเกณฑ์บอกรับสมาชิกทั้งสิ้น แต่ที่ผ่านมาอาจยังไม่มีการระบุว่าเป็นผู้ประกอบการบอกรับสมาชิก แต่วันนี้กิจการทีวี ภายใต้ประกาศ คสช. จะเดินต่อไปได้ จำเป็นต้องมีการจัดระเบียบใหม่ โดยทั้งช่องและโครงข่าย จะต้องแสดงสถานะ เพราะช่องทีวี ที่จะได้รับอนุญาตออกอากาศ ต้องเข้าเงื่อนไขการเป็นช่องบอกรับสมาชิก

"เมื่อโครงข่ายแสดงสถานะเป็นโครงข่ายบอกรับสมาชิก จะต้องทำหน้าที่ออกอากาศช่องทีวีบอกรับสมาชิกเท่านั้น"

เปิดทาง'ทีวีบอกรับสมาชิก'ออนแอร์

พ.อ.นที กล่าวอีกว่าสำหรับช่องทีวี ที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. มี 3 ประเภท 1. บอกรับสมาชิก 2. ไม่บอกรับสมาชิก 3. คลุมเครือ แต่จากแนวทางตามประกาศ คสช. ที่กำหนด "ช่องทีวี" ที่ได้รับอนุญาตออกอากาศ คือช่องฟรีทีวี และช่องบอกรับสมาชิก กสท.จึงต้องจัดระเบียบ ทั้งโครงข่ายและช่องรายการให้เป็นไปในทิศทางเดียวกับ ประกาศ คสช.

ปัจจุบันมีช่องทีวีดาวเทียมราว 200 ช่อง ซึ่งถูกระงับออกอากาศตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 27 ขณะที่มีช่องทีวีบอกรับสมาชิก ออกอากาศได้แล้ว 310 ช่อง

หลังจากนี้ คณะอนุกรรมการกิจการไม่ใช้คลื่นความถี่ กสทช. จะเร่งชี้แจงแนวทางของกลุ่มช่องทีวี ตามประกาศ คสช. หากช่องทีวีดาวเทียม แสดงสถานะเป็นช่องบอกรับสมาชิก กสท.จะส่งข้อมูลรายชื่อ ให้ คสช. พิจารณาเพื่อกลับมาออกอากาศผ่านโครงข่ายบอกรับสมาชิกอีกครั้ง

การทำงานในการกำกับและดูแลกิจการวิทยุและโทรทัศน์ของ กสทช. ขณะนี้ จะต้องดำเนินการไปพร้อมประกาศ คสช. และจะต้องมีการจัดระเบียบกิจการทีวีให้ชัดเจน โดยตามโรดแมพกิจการโทรทัศน์ระบบดิจิทัล อุตสาหกรรมทีวีจะมีกิจการทีวี 2 ประเภท คือฟรีทีวีและทีวีบอกรับสมาชิก หรือเพย์ทีวี เช่นเดียวกับกิจการทีวีในต่างประเทศ

ชงวางโรดแมพทีวีการเมือง-วิทยุ

นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. กล่าวว่า จากประกาศ คสช. ที่เกี่ยวข้องกับสื่อ ส่งผลต่อโครงสร้างอุตสาหกรรมทีวีและสิทธิเสรีภาพต่อการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ทำให้ช่องทีวีและวิทยุหลายสถานีถูกระงับออกอาอากาศ ซึ่งมีทั้งช่องที่ถูกกฎหมาย และช่องที่ทำผิดกฎหมาย แม้ขณะนี้มีแนวทางการออกอากาศได้เฉพาะช่องฟรีทีวี อนาล็อก ทีวีดิจิทัล และช่องรายการ ประเภทบอกรับสมาชิก (เพย์ทีวี) เท่านั้น ส่งผลให้ช่องทีวีดาวเทียมกว่า 200 ช่อง ไม่สามารถออกอากาศได้

ทั้งนี้ เห็นว่า กสทช. ควรเป็นตัวกลางเจรจาแนวทางการดูแลสื่อ เนื่องจากมีผลกระทบวงกว้าง โดยควรฟังเสียงเอกชนและผู้บริโภค ตลอดจนการจัดทำแผนเยียวยากลุ่มที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้งแยกแยะช่องที่ทำถูกกฎหมาย เช่น ช่องการ์ตูน ช่องการศึกษา ช่องสารคดี ออกจากช่องที่ทำผิดกฎหมาย เช่น ช่องที่โฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพเกินจริง ช่องไสยศาสตร์ เป็นต้น ซึ่งเป็นกลุ่มที่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีคำสั่งเตือน ปัจจุบันพบว่ามีจำนวน 30-40 ช่อง อาจเป็นช่องที่ยังไม่ได้รับอนุญาตออกอากาศในช่วงนี้

"เช่นเดียวกับสถานีวิทยุที่ถูกปิด มีทั้งสถานีวิทยุกลุ่มน้ำดีทำถูกกฎหมาย และสถานีวิทยุที่ทำผิดกฎหมาย เห็นว่าควรมีการทยอยอนุญาตให้สถานีกลุ่มที่ทำถูกกฎหมาย เช่น วิทยุชุมชนที่ไม่มีโฆษณา วิทยุธรรมะ วิทยุธุรกิจที่ทำตามกฎหมายควรมีแผนกลับมาออกอากาศด้วย เพราะการปิดยาวไป อาจส่งผลกระทบต่อเรื่องอื่นๆ ด้วย อย่างเช่นคนตกงานจำนวนมาก จึงควรมีการชี้แจงแนวทางให้ชัดเจน" นางสาวสุภิญญา กล่าว

ในการประชุม บอร์ด กสท. วันนี้ (2มิ.ย.) จะหารือแนวทางหรือทางออกให้กับผู้ประกอบกิจการทีวีดาวเทียมและวิทยุ ที่อาจถูกปิดเป็นระยะเวลานานโดยไม่รู้อนาคต ว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร โดยเฉพาะในกลุ่มทีวีการเมือง ช่องทีวีดาวเทียมขายสินค้า และกลุ่มวิทยุชุมชน โดย กสท. ควรมีแนวทางและโรดแมพที่ชัดเจนให้ผู้ประกอบการกลุ่มดังกล่าวปรับตัว โดยในกลุ่มทีวีการเมือง อาจต้องปรับเนื้อหารายการ รวมทั้งกำหนดกติกาห้ามถ่ายทอดสดการชุมนุม เป็นต้น

นอกจากนี้จะต้องกำหนดแนวทางปฏิบัติ เรื่องการโฆษณาให้กับช่องทีวีดาวเทียม ซึ่งเดิมยังไม่มีการกำหนดเวลาโฆษณา ขณะที่การปรับตัวเป็นช่องเพย์ทีวี กำหนดเวลาโฆษณา 6 นาทีต่อชั่วโมง

โครงข่ายปรับ'บอกรับสมาชิก'

นายสมพร ธีระโรจนพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีเอสไอ โฮลดิ้ง จำกัด เจ้าของแพลตฟอร์มกล่องและจานรับสัญญาณดาวเทียม "พีเอสไอ" เปิดเผยว่าปัจจุบันโครงข่ายดาวเทียม เป็นการรับสัญญาณแบบมีเงื่อนไขอยู่แล้ว เนื่องจากกล่องรับสัญญาณมีการเข้ารหัส (CA) ดังนั้นพีเอสไอ ได้ทำหนังสือ "ยืนยัน" ไปยังสำนักงาน กสทช.อีกครั้ง เพื่อแสดงสถานะเป็นโครงข่ายแบบบอกรับสมาชิก แบบไม่เรียกเก็บค่าใช้จ่ายรายเดือน หรือให้บริการดูฟรี เพื่อให้ช่องทีวีดาวเทียมต่างๆ ที่ต้องการเปลี่ยนช่องจากรูปแบบฟรีทูแอร์ เป็นบริการบอกรับสมาชิก เพื่อได้รับอนุญาตออกอากาศอีกครั้งตามประกาศ คสช. ได้มีความมั่นใจว่าสามารถออกอากาศผ่านโครงข่ายพีเอสไอ ได้เช่นเดิม ขณะที่ผู้ชมที่รับชมผ่านกล่องพีเอสไอ รุ่นเข้ารหัส จำนวน 10 ล้านกล่องในตลาด สามารถรับชมช่องทีวีบอกรับสมาชิกได้ตามปกติเช่นกัน

"วันนี้ผู้ประกอบการโครงข่ายและช่องทีวี จะต้องร่วมมือกับ กสทช. ในการจัดระเบียบกิจการวิทยุทีวี ตามประกาศ คสช."

นายนิรันดร์ ตั้งพิรุฬห์ธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินโฟแซท อินเตอร์เทรด จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายจานดาวเทียมและอุปกรณ์ทีวีดาวเทียม "อินโฟแซท กล่าวว่าผู้ผลิตกล่องและจานดาวเทียม ในนามกลุ่มบิ๊กโฟร์ (Big4) ที่ประกอบด้วย อินโฟแซท, ไอเดียแซท, ไทยแซท และ ลีโอเทค เตรียมส่งหนังสือ"ยืนยัน" สถานะโครงข่ายแบบบอกรับสมาชิก แบบไม่มีค่าใช้จ่ายรายเดือน ให้สำนักงาน กสทช.วันนี้ (2มิ.ย.) เพื่อรองรับช่องทีวีดาวเทียม ประเภทธุรกิจ ที่เตรียมจะปรับรูปแบบการให้บริการแบบบอกรับสมาชิก เพื่อกลับมาออกอากาศใหม่อีกครั้ง

'แกรมมี่-อาร์เอส'เปลี่ยนเพย์ทีวี

นางสาวจิตรลดา เฮงยศมาก ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส สายงานกฎหมายและรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัทจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าภายใต้หลักเกณฑ์ กสทช. ที่กำหนดให้ โครงข่ายบอกรับสมาชิก ต้องออกอากาศช่องรายการบอกรับสมาชิกเท่านั้น อีกทั้งประกาศ คสช. ที่ระงับการออกอากาศช่องทีวีดาวเทียม และอนุญาตให้ช่องทีวีบอกรับสมาชิกสามารถออกอากาศได้

ดังนั้นจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ซึ่งเป็นเจ้าของช่องทีวีดาวเทียมกว่า 10 ช่อง มีแนวโน้มปรับรูปแบบการออกอากาศจากทีวีดาวเทียมเป็นช่องบอกรับสมาชิก

ทั้งนี้ เนื่องจากช่องบอกรับสมาชิก หรือเพย์ทีวี มีกติกาเรื่องโฆษณา 6 นาทีต่อชั่วโมง ดังนั้นระยะแรกของการปรับบริการจากช่องฟรีทูแอร์ เป็นเพย์ทีวี ของทีวีดาวเทียม จึงต้องการให้ กสทช. กำหนดระยะเวลาผ่อนผันเรื่องโฆษณา 6 นาทีไว้ก่อน เพราะเป็นการปรับตัวอย่างกะทันหัน ขณะที่ช่องทีวีดาวเทียมมีการขายโฆษณาล่วงหน้าไปแล้ว

นายสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทอาร์เอส จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าจากนโยบายการจัดระเบียบสื่อวิทยุทีวีของ กสทช. ที่วางโรดแมพให้อุตสาหกรรมทีวี มี 2 แพลตฟอร์มหลัก คือฟรีทีวี และเพย์ทีวี ประกอบกับการปฏิบัติตาม ประกาศ คสช. ในขณะนี้ ดังนั้นอาร์เอส พร้อมที่จะเปลี่ยนช่องทีวีดาวเทียม ในเครือ คือช่อง 2 ช่องยู แชนแนล และสบายดีทีวี จากบริการฟรีทูแอร์ เป็นช่องบอกรับสมาชิกเช่นกัน โดยยังให้บริการผ่านโครงข่ายบอกรับสมาชิกหลักๆ เช่น พีเอสไอ กล่องซันบ็อกซ์ แบบดูฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายรายเดือน

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์   วันที่ 2 มิถุนายน 2557 11:33