2nd benefit

2nd benefit

กสทช.แกล้งโง่? แจกกล่องฟรีทั่วไทย

L6lSqLDw

กสทช.จัดตั้งขึ้นมาเพื่ออะไร? ทำประโยชน์อะไรนอกจากหารายได้ค่าสัมปทานคลื่นความถี่...ยังเป็นคำถามสำคัญของผู้ที่ติดตามความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด

เม็ดเงินก้อนโตจากการประมูลทีวีดิจิตอล 50,862 ล้านบาท...อาจไม่แฟร์นัก ถ้ายังมีกรณีปัญหาทางเทคนิค สถานีทีวีดิจิตอลระบบ HD คมชัดสูง จะถูกลดคุณภาพการส่งมาเป็นระบบ SD...เท่ากับไม่ได้ถูกส่งและรับผ่านดาวเทียมเต็มคุณภาพ

แม้ว่า กสทช.จะไม่ได้ทำหน้าที่สร้างเครือข่าย แค่คุม...รับหน้าที่เป็นนายหน้าเก็บค่าต๋งอย่างเดียวก็ตาม แต่จะต้องบังคับให้เครือข่ายมีอุปกรณ์พร้อมดำเนินการออกอากาศได้อย่างเต็มระบบ...

อย่าให้ใครมองได้ว่า กสทช.เป็นแค่หน่วยงานเสือโหย เลือกปฏิบัติ บุคลากรธรรมาภิบาลแย่ กินเงินเดือนแพง...แต่ไร้ความสามารถ

โครงการติดตามนโยบายสื่อและโทรคมนาคม (NBTC Policy Watch) สะท้อนผลการศึกษาใน 6 ประเด็นหลัก หัวข้อ “อดีต ปัจจุบัน อนาคต ทีวีดิจิตอลไทย” โดย ดร.พรเทพ เบญญาอภิกุล และ วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง เอาไว้น่าสนใจ...

ได้แก่ การประมูลคลื่นความถี่โทรทัศน์ดิจิตอล, การแจกคูปองสำหรับเครื่องรับสัญญาณ, หลักเกณฑ์ must carry, การประชาสัมพันธ์ทีวีดิจิตอล, การกำกับดูแลการวัดเรตติ้ง และการกำกับดูแลเนื้อหา

ทั้งหมดเหล่านี้...เกี่ยวข้องกับบทบาทหน้าที่ของ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ “กสทช.” โดยตรง

เม็ดเงินก้อนโตจากการประมูลทีวีดิจิตอล 50,862 ล้านบาท...อาจไม่แฟร์นัก ถ้ายังมีคนตั้งคำถามกับ กสทช.ว่า ทำไม? ต้องจ่ายค่าคูปองผู้รับชมทางบ้าน เพื่อไปแลกซื้อกล่องเครื่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอล

มองในมุมคิดแบบผู้บริโภค กสทช.รับค่าสัมปทานมหาศาลมโหฬารขนาดนี้ ถ้าจะทำกล่องแจกฟรีทั่วประเทศ น่าจะทำได้ง่ายๆ

คนวงใน วงการส่งสัญญาณโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม มองว่า กล่องเครื่องรับมีต้นทุนเท่าไหร่ “Made in China”...ไม่น่าจะถึง 100 บาท ด้วยจำนวนการผลิตเอาเป้าหมาย 22 ล้านครัวเรือน ที่ กสทช. จะให้เป็นตัวตั้งมาคูณ...เป็นเงิน 2,200 ล้านบาท

เจียดเงินค่าประมูลที่มีอยู่แล้วในหน้าตักแค่ 4 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ก็ทำกล่องแจกฟรีทั่วไทยได้แล้ว...ข้อดีเห็นๆ เพื่อเป็นการเผยแพร่ทีวีดิจิตอล ให้ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องลุ้น...ตรงตามหน้าที่ กสทช.เป๊ะเว่อร์

“แจกกล่องฟรีไปแล้ว...แม้ว่าผู้รับจะยังได้ดูทีวีดิจิตอลไม่ได้เต็มระบบ แต่ก็เป็นการกระตุ้นให้ระบบทำงานเร็วขึ้น...เมื่อผู้ชมรอดูอยู่ คนที่สร้างเครือข่ายกระจายเผยแพร่สัญญาณจะช้า ไม่เร่งมือก็คงไม่ได้...เราต้องใช้สังคมภาคประชาชนกดดันจึงจะได้ผล”

ไม่ต้องรอฟ้ารอฝนเหมือนวันนี้...กว่าจะแพร่ภาพทีวีดิจิตอลได้ทั่วถึงทั้งประเทศ ไม่รู้ว่าจะต้องใช้เวลาอีกนานเท่าไหร่ ปีนี้ประเมินจากประสบการณ์ เอาอย่างเน้นๆคุณภาพเต็มที่แค่ทั่วกรุงเทพฯ ปริมณฑลก็ดีแล้ว

โครงการติดตามนโยบายสื่อและโทรคมนาคมสะท้อนกรณีศึกษาในต่างประเทศ การสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้วยการอุดหนุนต้นทุนอุปกรณ์ให้กับผู้บริโภคเป็นเรื่องปกติในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา อิตาลี ออสเตรเลีย อังกฤษ เพียงแต่มีวิธีการ...ลักษณะที่แตกต่างกันไป

ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่ กสทช.ควรจะใช้มาตรการอุดหนุนหรือไม่ แต่อยู่ในรายละเอียดของการดำเนินมาตรการ ซึ่งเป็นปัจจัยชี้ขาดความสำเร็จ

ความท้าทายสำคัญ...ระยะเวลาเปลี่ยนผ่านจากทีวีระบบอนาล็อกไปสู่ดิจิตอล ความล่าช้าจะมีผลต่อต้นทุนผู้ประกอบการทีวีทั้ง 2 ระบบ...ทีวีดิจิตอลและทีวีดั้งเดิม นอกจากนี้ความล่าช้ายังส่งผลต่อการนำคลื่นความถี่ระบบทีวีอนาล็อกเดิมไปใช้ในกิจการอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์และมีประสิทธิภาพ

ความพร้อมเชิงโครงสร้าง ผลลัพธ์มาตรการอุดหนุนขึ้นอยู่กับโครงสร้าง ความสัมพันธ์และการประสานงานที่ดีระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย อาทิ ผู้ผลิตอุปกรณ์ หน่วยงานกำกับดูแล ผู้ขายอุปกรณ์ หน่วยงานที่รับผิดชอบการผลิต แจกจ่าย นับรวมถึงระบบชำระเงินคูปอง

กระบวนการแจกจ่ายคูปองเป็นปัญหาสำคัญ แต่ กสทช.ก็ยังมีภาระอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

ประเด็นต่อมา...จังหวะเวลาและกลุ่มเป้าหมายของนโยบาย การอุดหนุนแบบครอบคลุม การแจกคูปองลดราคาอุปกรณ์ ข้อดีคือช่วยผู้บริโภคในกระบวนการเปลี่ยนผ่านได้รวดเร็ว ถ้ามีการบริหารโครงการอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังสามารถสร้างความรับรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านได้อย่างกว้างขวาง

อีกด้านหนึ่ง...ก็เป็นมาตรการที่มีค่าใช้จ่ายสูง และมีความซับซ้อนในการบริหารจัดการ การแจกคูปองให้กับทุกครัวเรือน...ในพื้นที่ครอบคลุม โดยไม่มีมาตรการคัดกรองเงื่อนไขด้านความจำเป็น ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของการเปลี่ยนผ่าน อาจจะทำให้ กสทช.ต้องใช้งบประมาณมากกว่าที่ควรจะเป็น

คูปองอาจถูกแจกให้กับครัวเรือนที่พร้อมเปลี่ยนผ่าน โดยไม่จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุน...อย่าลืมว่า การเปลี่ยนผ่านของประเทศไทยมีลักษณะเป็นช่วงที่แต่ละกลุ่มจังหวัดจะมีการเปลี่ยนผ่านไม่พร้อมกัน

กสทช.สามารถรอให้ผู้บริโภคที่มีความพร้อมทำการเปลี่ยนผ่านด้วยตัวเองก่อนที่จะช่วยเหลือสนับสนุนแบบปูพรม

ถึงตรงนี้ ต้องเน้นย้ำว่า...มาตรการ กสทช.ไทยต่างจากหลายประเทศพอสมควร ที่จะเน้นความช่วยเหลือครัวเรือนที่ประสบปัญหา ยกตัวอย่างอังกฤษเปลี่ยนผ่านคล้ายบ้านเรา ไม่พร้อมกันทั้งประเทศ เขาช่วยเหลือด้วยการจัดหา ติดตั้งอุปกรณ์ให้กับกลุ่มประชากรสูงอายุ 75 ปีขึ้นไป และผู้พิการ...

โดยมีค่าใช้จ่าย 40 ปอนด์ หรือราว 2,000 บาท

ค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะได้รับการยกเว้นสำหรับครัวเรือนที่มีรายได้น้อย ที่ได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐหรือผู้ตกงาน ที่มีผลสำรวจอยู่ราว 7 ล้านครัวเรือน ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณราวๆ 30,000 ล้านบาท

ถ้าจะคิดกันแบบลึกซึ้งมองโลกในแง่ลบ กรณีแจกคูปองแลกกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอล กสทช.เคาะราคาวันนี้ 1,000 บาท สนับสนุน 22 ล้านครัวเรือน...ก็ใช้เงิน 22,000 ล้านบาท ขณะที่ถ้า กสทช.ทำกล่องแจกเอง จะใช้เงินแค่ 2,200 ล้านบาท...ต่างกันลิบลับ 10 เท่าตัว เกือบ 20,000 ล้านบาท

วันนี้...ผลสำรวจราคาขายปลีกกล่องในท้องตลาดเฉลี่ยอยู่ที่ 1,670 บาท เอาดีมานด์ 22 ล้านเป็นตัวตั้ง คิดแบบลวกๆ ต้นทุน 1 ล้านกล่อง กล่องละ 100 บาท ก็มีส่วนต่างกล่องละ 1,500 บาท เข้าไปแล้ว...มีคูปองโปรโมชั่นเข้ามาเอี่ยว ยิ่งการันตีกำไรชัดเจน อย่างน้อยก็กล่องละ 1,000 บาท

แบ่งเค้กบริษัทขายกล่องแต่ละราย ไม่รู้ว่ามีกี่ราย เอาแค่ขายได้มีคูปองสนับสนุนเจ้าละ 1 ล้านกล่อง...กำไรแน่นอน 1,000 ล้านบาท หักค่าต้นทุนกล่องก็มีกำไรอีก 500 ล้านบาท เห็นส่วนต่างชัดเจนแจ่มแจ๋ว

ไม่แน่ว่างานนี้...ไม่ใครก็ใคร ถ้ามีเงินทอนกำไรส่วนต่างจากคูปองนอกรอบ อาจจะมีเศรษฐีใหม่รวยพุงปลิ้นเพราะเจ้าพ่อ กสทช. ทั้งหมดนี้แค่คิด...เรื่องจริงขออย่าให้เป็นเช่นนั้น.

 

ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์  20 พ.ค. 2557 05:01