2nd benefit

2nd benefit

เตือน!! ซื้อสินค้าระวังถูกเอาเปรียบโดยไม่รู้ตัว แนะก่อนซื้อให้ดูฉลาก ตรวจสอบน้ำหนัก และเปรียบเทียบราคา

5800001

องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ร่วมกับ นิตยสารฉลาดซื้อ เตือนซื้อสินค้าระวังถูกเอาเปรียบ โดยเฉพาะสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน แนะนำก่อนซื้อให้ดูฉลาก ตรวจสอบน้ำหนัก และเปรียบเทียบราคา อย่าดูแต่รูปทรงภายนอก เพราะกลยุทธ์ทางการตลาดเรื่องการทำแพ็กเก็จให้ใหญ่ไว้ก่อน แต่ของข้างในอาจใส่ลงไปแค่ 60% หรือ 70% ของผู้ผลิตสินค้านั้น

อาจอาศัยช่องว่างที่หน่วยงานรัฐเองก็ไม่ได้กำหนดขนาดมาตรฐานอะไรไว้ในพวกสินค้าทั่วไป เพราะถือว่าเป็นการค้าเสรีผู้ผลิตมีสิทธิบรรจุน้ำหนักเท่าไรก็ได้ เป็นหน้าที่ของผู้ซื้อที่ต้องพิจารณาฉลากให้ดี และเปรียบเทียบน้ำหนักราคากันเอง ในหลายครั้งการทำแพ็กเก็จใหม่ให้ใหญ่ขึ้น ก็เพื่อให้ผู้ซื้อเข้าใจผิดไปว่ามีการเพิ่มน้ำหนักสินค้าเพื่อถือโอกาสปรับราคาเพิ่ม ทั้งที่จริงๆ แล้วน้ำหนักเท่าเดิม หรือทำเผื่อไว้เพื่อลดน้ำหนักที่บรรจุให้น้อยลงสักหน่อย แต่ยังคงขายในราคาเดิม กรณีต้นทุนสินค้ามันเพิ่ม โดยผู้ซื้อไม่ทันรู้ตัวว่าถูกหลอก

นิตยสารฉลาดซื้อ ฉบับที่ 164 และ 165 ประจำเดือนตุลาคม และพฤศจิกายน 2557 ที่ผ่านมา สำรวจปริมาณสินค้าในบรรจุภัณฑ์ สินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน 4 ประเภท อย่าง ยาสระผม สบู่เหลว แป้งฝุ่น โลชั่น ที่ทุกวันนี้เริ่มมีแต่เสียงสะท้อนว่า “กระป๋องใหญ่ไปไหม ข้างในมีอยู่นิดเดียว” หรือ “เพิ่งซื้อมาใช้ ทำไมหมดเร็วจัง” ซึ่งจริงๆ แล้วสินค้าประเภทนี้ น้ำหนัก ประมาณ 200 – 250 กรัม (มิลลิลิตรในกรณีของเหลว) คนส่วนใหญ่ก็ไม่รู้หรอกว่าจริงๆ แล้วมันคือแค่ไหน ทุกคนก็อาศัยมองดูลักษณะเอาจากตัวแพ็กเก็จหรือบรรจุภัณฑ์ ซึ่งเป็นธรรมดาที่เราจะมองว่าแพ็กเก็จใหญ่ของข้างในก็น่าจะเยอะสิ ยิ่งถ้าดูยี่ห้อหนึ่งที่กระป๋องใหญ่แล้วราคาถูกกว่าอีกยี่ห้อ บางทีก็ไม่ได้ดูฉลากว่าน้ำหนักบรรจุเท่าไหร่รีบคว้าไปจ่ายเงินทันที ทั้งที่อีกยี่ห้อที่มองข้ามอาจบรรจุน้ำหนักสินค้ามากกว่าก็ได้ เพียงแต่กระป๋องดูเล็กกว่า

ด้วยจิตวิทยาแบบนี้ ผู้ผลิตจึงมักเลือกออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ใหญ่สักหน่อย หรือทำให้ดูเหมือนใหญ่เพื่อดึงความสนใจของคนซื้อ แต่ของข้างในอาจใส่ลงไปแค่ 60% หรือ 70% เหลือที่ว่างอีกเยอะ ทางหน่วยงานรัฐเองก็ไม่ได้กำหนดขนาดมาตรฐาน เช่น ยาสระผมขนาดกลางทุกยี่ห้อ ต้องบรรจุน้ำหนักที่ 200 มล. เท่ากันหมด เพราะถือว่าเป็นการค้าเสรีผู้ผลิตมีสิทธิบรรจุน้ำหนักเท่าไรก็ได้ เป็นหน้าที่ของผู้ซื้อต้องพิจารณาฉลากกันเอาเอง แต่รัฐจะไปเน้นควบคุมที่เรื่องราคาขายปลีกแทนและดูแลไม่ให้โกงน้ำหนักที่ผิดไปจากฉลาก

กรณีทำแพ็กเก็จให้ใหญ่ยังอาจใช้เพื่อให้ผู้ซื้อเข้าใจผิดว่ามีการเพิ่มน้ำหนักสินค้าเพื่อการปรับขึ้นราคา ทั้งที่บรรจุน้ำหนักเท่าเดิม และในทางกลับกันแพ็กเก็จก็อาจเท่าเดิม (คือใหญ่มาแต่แรก) เพื่อเผื่อไว้สำหรับลดน้ำหนักที่บรรจุให้น้อยลงแต่ขายในราคาเดิม โดยผู้ซื้อไม่ทันรู้ตัวว่าน้ำหนักได้ลดลงไปแล้ว

แต่เรื่องแบบนี้ถ้าพูดอย่างเดียวอาจถูกมองว่ารู้สึกไปเองหรือเปล่า ฉลาดซื้อเลยนำตัวอย่างสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันอย่าง แป้งฝุ่น โลชั่น ยาสระผม สบู่เหลว มาทดลองหาน้ำหนักที่กระป๋องหรือขวดที่ผู้ผลิตใช้ในการบรรจุสินค้าแต่ละชนิดนั้น ว่าสามารถบรรจุน้ำหนักเต็มที่ได้เท่าไหร่ เพื่อเทียบกับปริมาณที่บรรจุจริงตามฉลาก แล้วหาสัดส่วนของพื้นที่ว่างในบรรจุภัณฑ์ว่าเหลืออยู่กี่เปอร์เซ็นต์


สำรวจเมื่อเดือนตุลาคม 2557

  • แป้งฝุ่น เป็นอะไรที่น่าสนใจมาก เพราะพบว่าส่วนใหญ่บรรจุน้ำหนักลงไปแค่ครึ่งหนึ่งของกระป๋องเท่านั้น เหลือพื้นที่ว่างอยู่ ราวๆ 50% คาดว่าน่าจะช่วยให้สามารถเขย่าแป้งได้สะดวก 
  • ยาสระผม พบว่าส่วนใหญ่บรรจุน้ำหนักลงไปแค่ประมาณ 80% ของขวด โดยเหลือพื้นที่ว่างอยู่ เฉลี่ย 20%

      icon ผลทดสอบฉบับที่164 Download File 

      icon ผลทดสอบฉบับที่165 Download File 

 

อ่านข้อมูลผลทดสอบผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้ที่ นิตยสารฉลาดซื้อ http://www.chaladsue.com/

 

บทความเนื้อหาใกล้เคียงกัน :

|