2nd benefit

2nd benefit

มพบ. ย้ำไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนในการขอทุน สสส. พร้อมโต้ กก.มพบ.ไม่ได้เป็นผู้ร่วมพิจารณาโครงการให้มูลนิธิฯ ตามที่สตง.ให้ข้อมูล

FFC

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยืนยัน มูลนิธิฯ ไม่มีปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนในการขอทุนกับกองทุนสสส. พร้อมโต้แย้ง กรรมการมูลนิธิ ฯ ไม่ได้เป็นผู้ร่วมพิจารณาโครงการให้มูลนิธิ ฯ และไม่ได้มีผลประโยชน์ทับซ้อน ตามที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินให้ข้อมูล

​จากรายงานของสำนักข่าวไทยพลับบลิก้า เมื่อวานนี้ (26 ต.ค.) เรื่องการตรวจสอบการดำเนินงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยอ้างรายงานของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และได้ระบุชื่อกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องกับมูลนิธิซึ่งเป็นผู้รับเงินจากสสส. โดยมีการพาดพิงถึงกรรมการของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

​มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ชี้แจงว่า นายวีรพงษ์ เกรียงสินยศ และ นายชัยรัตน์ แสงอรุณ เป็นกรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจริง แต่โครงการทั้ง 8 โครงการของมูลนิธิ ฯ ที่ได้รับการสนับสนุนจากสสส. กรรมการทั้ง 2 ท่าน ไม่เคยเป็นผู้พิจารณาโครงการของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแต่อย่างใด รวมทั้งมูลนิธิ ฯ ไม่เคยขอรับการสนับสนุนจากแผนงานที่นายวีรพงษ์เป็นกรรมการแผนแต่อย่างใด และในปัจจุบันนายวีรพงษ์ ก็ไม่ได้เป็นกรรมการบริหารแผนงานของสสส.แล้ว ส่วนนายชัยรัตน์ เพิ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการบริหารแผนงานของสำนัก 2 ชุดปัจจุบัน ภายหลังจากที่มูลนิธิได้รับงบประมาณในการดำเนินการไปแล้วเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2557

ดังนั้นการเสนอรายงานดังกล่าวโดยไม่มีการสอบถาม ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่ากรรมการทั้ง 2 ท่าน มีประโยชน์ทับซ้อนกับมูลนิธิฯ จึงเป็นการกล่าวหาที่ไม่มีข้อเท็จจริงและเหตุผลที่เพียงพอ จึงอาจเข้าข่ายเป็นการกล่าวหาที่ไม่เป็นธรรมกับมูลนิธิฯ และกรรมการทั้ง 2 ท่าน

​การจัดทำโครงการทั้งหมด ดำเนินการโดยสำนักงานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค รวมทั้งการพิจารณาโครงการเป็นไปตามระเบียบและขั้นตอนที่กำหนดโดยสสส. ทั้งหมด และไม่ได้มีสิทธิพิเศษใดๆ ในการพิจาณาโครงการ หรือรับเงินอุดหนุน ไม่แตกต่างจากสี่หมื่นโครงการอื่นๆ ที่ขอรับเงินสนับสนุนจากสสส.

​นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ชี้แจงว่า ได้รับเงินสนับสนุนงบประมาณจากสสส.ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550-2557 จำนวน 8 โครงการ เป็นจำนวนเงิน 147 ล้านบาทจริง โดยงบประมาณที่ได้รับเป็นงบประมาณของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคทั่วประเทศ โดยงบประมาณในการดำเนินการมีการแบ่งกิจกรรมและการดำเนินงานที่ชัดเจน และมีสัดส่วนงบประมาณระหว่างมูลนิธิฯ และเครือข่ายในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน และสามารถตรวจสอบรายงานผู้ตรวจสอบบัญชี และรายงานกิจกรรมของมูลนิธิประจำปีได้เนื่องจากมูลนิธิฯเสนอต่อกระทรวงการคลังและสำนักงานปกครองจังหวัดนนทบุรี เป็นประจำทุกปี

​ในการนี้ นางสุภาพร ถิ่นวัฒนากูล มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา ภาคเหนือ , นายปฏิวัติ เฉลิมชาติ สมาคมผู้บริโภคขอนแก่น ภาคอีสานตอนบน , นางอาภรณ์ อะทาโส สมาคมผู้บริโภค ร้อยเอ็ด ภาคอีสานตอนล่าง , นายพงษภัทร หงส์สุขสวัสดิ์ สมาคมผู้บริโภคภาคตะวันตก , นางสาวจุฑา สังขชาติ สมาคมผู้บริโภคสงขลา ภาคใต้ , นางสาวชลดา บุญเกษม เครือข่ายผู้บริโภคภาคกลาง และ นางสุภาวดี ใจกว้าง เครือข่ายผู้บริโภคภาคตะวันออก ชี้แจงว่า ได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก สสส. ผ่านมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยเป็นการจัดทำโครงการร่วมกัน นำเสนอ และชี้แจงโครงการร่วมกัน

​ที่ผ่านมา การทำโครงการร่วมกันได้ทำให้เกิดความเข้มแข็งของกลไกคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน และเกิดองค์กรผู้บริโภคในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ใน 72 จังหวัด ทำให้มีโอกาสเผยแพร่ข้อมูล ให้ความรู้ คำแนะนำเรื่องงานคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งให้การช่วยเหลือผู้บริโภคให้ได้รับสิทธิอันพึงมีพึงได้ในฐานะผู้บริโภค

​ผลจากการดำเนินงาน ทำให้เกิดกลไกและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศในการปฏิบัติการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน สามารถยกระดับองค์กรผู้บริโภคจากการทำงานเฉพาะด้านให้พัฒนาเป็นศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคระดับจังหวัดจำนวน 44 จังหวัด และสามารถจดทะเบียนเป็นองค์กรนิติบุคคลด้านการคุ้มครองผู้บริโภคเพิ่มขึ้น เช่น สมาคมผู้บริโภคภาคตะวันตก , สมาคมพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค จังหวัดสมุทรสงคราม , สมาคมคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ , สมาคมคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคสระบุรี , สมาคมคุ้มครองผู้บริโภคร้อยเอ็ด, สุรินทร์ เกิดความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ในการจัดทำแผนคุ้มครองผู้บริโภคระดับจังหวัดใน 72 จังหวัด ซึ่งใช้เป็นเข็มทิศในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคในระดับจังหวัด ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคหลายจังหวัดเป็นที่รู้จัก และได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคทั่วประเทศ

​บทบาทในการให้การช่วยเหลือผู้บริโภค เฉพาะมูลนิธิ ฯ ได้ให้การช่วยเหลือผู้บริโภค นับตั้งแต่ปี 2551 ถึง 2558 มีมากถึง 10,834 ราย ส่วนเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ มีการให้ความช่วยเหลือผู้บริโภคจำนวนมากถึง 3,802 เรื่อง ในปี 2556 จำนวน 2,706 เรื่องในปี 2557 จำนวน 2,513 เรื่อง ในปี 2558 รวมทั้งการสนับสนุนการฟ้องคดีของผู้บริโภคมากกว่า 600 คดี และคดีสาธารณะที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์มากกว่า 10 คดี ไม่ว่าจะเป็นการแปรรูปกฟผ. ปตท. การขึ้นราคาค่าผ่านทางดอนเมืองโทลเวย์ การอนุญาตอาคารสูง 22 ชั้นของกรุงเทพมหานครในซอยร่วมฤดีที่ความกว้างถนนไม่ถึง 10 เมตร กรณีจอดำฟุตบอลยูโร จนทำให้เกิดประกาศการให้บริการโทรทัศน์เป็นการทั่วไป (Must carry) ทำให้รัฐประหยัดงบประมาณ 7,000 ล้านบาทในการแจกคูปองดิจิตอล ชนะคดีถูกยึดเงินเมื่อบัตรเติมเงินหมดอายุ เป็นต้น

​การพัฒนากลไกคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ได้ทำให้เกิดความร่วมมือ (MOU) กับหน่วยงานในพื้นที่ในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภค เช่น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค จังหวัด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) หรือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดลำปาง ร่วมมือกับชมรมสื่อสร้างสรรค์จังหวัด และ สสจ. ในการเฝ้าระวังโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย จังหวัดเพชรบุรีได้รับการสนับสนุนจากกสทช.ให้เป็น ”เพชรบุรีโมเดลในการจัดการปัญหาการโฆษณาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพเกินจริง ผิดกฎหมาย” รวมถึง ภาคกลางทั้ง 8 จังหวัด ได้ทำความร่วมมือกับกับ สสจ. และ ประชาสัมพันธ์จังหวัด ส่วนจังหวัดพะเยา ร่วมมือกับผู้ว่าราชการจังหวัด สำนักงานการท่องเที่ยว และกีฬาเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาการถูกหลอกจากบริษัททัวร์ จังหวัดประจวบฯมีการทำข้อตกลงร่วมกับจังหวัดในการร่วมแก้ปัญหารถโดยสารสาธารณะปลอดภัย พร้อมทั้งนำไปสู่การแต่งตั้งคณะกรรมการรถโดยสารสาธารณะปลอดภัยระดับจังหวัด เป็นต้น

​งานด้านอาหารปลอดภัย สามารถผลักดันให้เปิดเผยข้อมูลชื่อสินค้าที่ทำการทดสอบของหน่วยงานของรัฐ การรณรงค์ให้มีฉลากอาหารที่ดี เป็นมิตรกับผู้บริโภค อ่านง่าย เป็นภาษาไทย รวมทั้งผลักดันให้เครื่องดื่มประเภทชาบรรจุขวดปิดสนิท ควรถูกกำกับดูแลเช่นเดียวกับเครื่องดื่มผสมคาเฟอีน รณรงค์ผลกระทบของกระทบการบริโภคเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูงต่อสุขภาพ และผลักดันให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาใช้ฉลากอาหาร มีสัญญลักษณ์สีเขียว เหลือง แดง

งานด้านรถโดยสารสาธารณะปลอดภัย ทำให้ผู้บริโภคได้ตื่นตัวเรื่องความปลอดภัย ได้รับการคุ้มครองสิทธิอันพึงมีพึงได้ในฐานะผู้บริโภค การช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายที่ได้รับผลกระทบจากอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะให้ได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น เช่น กรณีตัวอย่าง จักรพงษ์ทัวร์ประสบอุบัติเหตุที่เสียชีวิตจำนวน 3 คน จังหวัดลำปาง กรณีรถโดยสารเปรมประชาที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่เสียชีวิต 5 คนและบาดเจ็บ 56 คน และกรณีรถเช่าเหมาทัศนาจรของเทศบาลตำบลชมภู อำเภอสารภี ไปประสบอุบัติเหตุที่อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง เสียชีวิต 22 คน

​งานด้านการศึกษาวิจัย มีการศึกษาวิจัยที่ทำโดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่าย หลายประเด็นที่ส่งผลต่อนโยบายและมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค

มูลนิธิ ฯ ขอเรียนว่า การสนับสนุนองค์กรผู้บริโภค เป็นเรื่องที่หน่วยงานรัฐหลายประเทศให้ความสำคัญ เช่น สมาคมผู้บริโภคสิงคโปร์ (CASE) ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลประมาณ ๑๗๕ ล้านบาทต่อปี และสมาคมผู้บริโภคสิงคโปร์ ยังสามารถเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการให้บริการจากผู้ประกอบการเมื่อมีการเจรจาไกล่เกลี่ยให้ผู้บริโภคตั้งแต่ 1,100 - 10,000 บาทต่อครั้งจากผู้ประกอบธุรกิจ หรือรัฐบาลฮ่องกงให้การสนับสนุน สภาผู้บริโภคฮ่องกง (Hong Kong Consumer Council) จำนวนไม่น้อยกว่า 3,500 ล้านบาทต่อปีในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภค

​จึงเรียนชี้แจงประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อน และการทำงานขององค์กรผู้บริโภค เพื่อทำความใจต่อสาธารณะ มา ณ โอกาสนี้ และหวังว่า สังคมไทยจะให้สำคัญกับความเข้มแข็งของผู้บริโภค เพราะกลไกรัฐที่มีอยู่ยังไม่เพียงพอ การมีองค์กรผู้บริโภค ภาคประชาสังคมทำเพื่อประโยชน์สังคม จะช่วยลดความเสียหายให้กับประชาชนจำนวนมหาศาล

 

ข่าวบทความเนื้อหาใกล้เคียงกัน:

|

Tags: สตง., มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค , สสส., วีรพงษ์ เกรียงสินยศ, ชัยรัตน์ แสงอรุณ, กรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, ผลประโยชน์ทับซ้อน, สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน