2nd benefit

2nd benefit

  • หน้าแรก
  • ด้านอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ

พบยาปฏิชีวนะใน แซนด์วิชไก่อบ ซับเวย์ แต่ไม่เกินมาตรฐาน องค์กรผู้บริโภค-นักวิชาการสุขภาพ เรียกร้องให้ลดและยกเลิกการใช้เนื้อสัตว์ที่มียาปฏิชีวนะ

press 16112016 web 01

นิตยสารฉลาดซื้อ ส่งห้องทดลองตัวอย่างเนื้อสัตว์ปรุงสุกในเมนูอาหารของร้านฟาสต์ฟู้ดทั้งแม็คโดนัลด์ เคเอฟซี ซับเวย์ เบอร์เกอร์คิง เชสเตอร์กริลล์  เซเว่น อีเลฟเว่น จำนวน 18 ตัวอย่าง พบมียาปฏิชีวนะจำนวนหนึ่งตัวอย่าง เป็นยา Doxycycline จำนวน 13.73 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม จากแซนด์วิชไก่อบ ของร้านซับเวย์ แต่ปริมาณที่พบไม่เกินมาตรฐานอาหารที่ยอมรับให้มียาสัตว์ตกค้างในอาหาร โดยกลุ่ม Tetracycline (เททระไซคลีน) กำหนดสูงสุดให้ตกค้างได้ไม่เกิน 200 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม องค์กรผู้บริโภคและนักวิชาการสุขภาพเรียกร้องให้ธุรกิจอาหารฟาสต์ฟู้ดมีนโยบายและแผนการลด รวมทั้งยกเลิกการใช้เนื้อสัตว์ที่มียาปฏิชีวนะ ทั้งนี้สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากล(Consumers International) ชื่นชมประเทศไทยเพราะเป็นครั้งแรกที่องค์กรผู้บริโภคทดสอบการตกค้างของยาปฏิชีวนะในอาหารฟ้าสต์ฟู้ด 

วันนี้ (16 พฤศจิกายน 2559) นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) แถลงผลทดสอบ พบมีการใช้เนื้อสัตว์ปนเปื้อนยาปฏิชีวนะในอาหารฟาสต์ฟู้ด โดยได้สุ่มเก็บตัวอย่างเนื้อสัตว์ปรุงสุกในเมนูอาหารของร้านฟาสต์ฟู้ด 18 ตัวอย่าง จาก 7 แหล่งซื้อ ตัวอย่างส่วนใหญ่เก็บร้านจำหน่ายอาหารฟาสต์ฟู้ดส์ย่านใจกลางกรุงเทพฯ ในเดือนกันยายน 2559 ที่ผ่านมา

ผลการทดสอบ พบว่ามีการตกค้างของยาปฏิชีวนะ 1 ตัวอย่าง คือ เมนูแซนด์วิชไก่อบ จากร้าน ซับเวย์ สาขาพารากอน ที่พบ Doxycycline ในกลุ่มยา Tetracycline ปริมาณ 13.73 ไมโครกรัม / กิโลกรัม (ug/kg)ทั้งนี้ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 303) พ.ศ. 2550 เรื่อง อาหารที่มียาสัตว์ตกค้าง ที่เป็นประกาศควบคุมปริมาณการตกค้างของสารใดๆ ที่ถูกใช้กับสัตว์ที่ถูกเลี้ยงเพื่อเป็นอาหารสำหรับมนุษย์ โดยสารดังกล่าวถูกใช้เพื่อมุ่งหวังในการรักษา ป้องกัน วินิจฉัยโรค หรือเพื่อวัตถุประสงค์ในการเปลี่ยนแปลงทางสรีระหรือพฤติกรรมของสัตว์ กำหนดให้พบการตกค้างของยาในกลุ่ม Tetracycline (เททระไซคลีน) ในเนื้อไก่สูงสุดได้ไม่เกิน 200 ไมโครกรัมต่อเนื้อไก่ 1 กิโลกรัม(ดูข้อมูลตามบัญชีแนบท้ายของประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 303) เท่ากับว่า ปริมาณยาปฏิชีวนะที่พบตกค้างในตัวอย่าง เมนูแซนด์วิชไก่อบ จากร้าน ซับเวย์ สาขาพารากอน  ที่ปริมาณ 13.73 ไมโครกรัม / กิโลกรัม อยู่ในเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด และไม่พบการตกค้างในยาปฏิชีวนะ กลุ่มอื่นๆ

การทดลองในครั้งนี้ เป็นการตรวจกลุ่มยาปฏิชีวนะจำนวน 4 กลุ่มคือ

  1. กลุ่ม Tetracycline (เททระไซคลีน) ประกอบด้วยยา Chlortetracycline และยา Doxycycline
  2. กลุ่ม Colistin ประกอบด้วย ยา Colistin A และ ยา Colistin B
  3. กลุ่ม Beta-lactam groups ประกอบด้วย Amoxicillin
  4. กลุ่ม Microlide groups ประกอบด้วย Tylosin tartrate

 

ตารางแสดงผลการวิเคราะห์การตกค้างของยาปฏิชีวนะในเนื้อสัตว์ในเมนูอาหารจากร้านฟาสต์ฟู้ด

ร้าน

เมนู

ราคา/ชิ้น (บาท)

สาขาที่เก็บตัวอย่าง

ผลทดสอบการตกค้างของยาปฏิชีวนะ

ซับเวย์

ไก่อบ

109.-

สยาม พารากอน

พบ Doxycycline 13.73 ไมโครกรัม / กิโลกรัม(ug/kg)

สเต็ก & ชีส

129.-

สยาม พารากอน

ไม่พบ

แฮมหมู

89.-

สยาม พารากอน

ไม่พบ

แมคโดนัลด์

แมคไก่

97.-

สยาม พารากอน

ไม่พบ

แมคนักเก็ตไก่

49.-

สยาม พารากอน

ไม่พบ

บิ๊กแมค (เนื้อวัว)

123.-

สยาม พารากอน

ไม่พบ

ซามูไรเบอร์เกอร์ (หมู)

97.-

สยาม พารากอน

ไม่พบ

เคเอฟซี

ไก่ทอด

37.-

สยาม พารากอน

ไม่พบ

นักเก็ตไก่

65.-

สยาม พารากอน

ไม่พบ

เบอร์เกอร์ไก่

62.-

สยาม พารากอน

ไม่พบ

เชสเตอร์ กิลล์

ไก่ย่าง

29.-

เซ็นจูรี่ อนุสาวรีย์ชัย

ไม่พบ

นักเก็ตไก่

63.-

เซ็นจูรี่ อนุสาวรีย์ชัย

ไม่พบ

เบอร์เกอร์ไก่

29.-

เซ็นจูรี่ อนุสาวรีย์ชัย

ไม่พบ

เบอร์เกอร์คิง

วอปเปอร์ (เนื้อวัว)

145.-

สยาม พารากอน

ไม่พบ

เซเว่น อีเลเว่น

เบอร์เกอร์หมู

25.-

อนุสาวรีย์ชัย

ไม่พบ

เบอร์เกอร์ไก่

39.-

อนุสาวรีย์ชัย

ไม่พบ

กูร์เมต์ มาร์เก็ต พารากอน (ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ ซีพี)

คุโรบูตะ สันคอย่างพริกไทยดำ

119.-

สยาม พารากอน

ไม่พบ

ซีพี สเต็กไก่กระเทียมพริกไทย

79.-

สยาม พารากอน

ไม่พบ

ผลทดสอบเฉพาะตัวอย่างที่ส่งทดสอบเท่านั้น (เก็บตัวอย่าง เดือนกันยายน 2559)

 

press 16112016 web 02นาวสาวสารี อ๋องสมหวัง บรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า “จากผลการวิเคราะห์ตัวอย่างฯ พบการตกค้างยาปฏิชีวนะในอาหารฟาสต์ฟู้ดจำนวน 1 จาก 1๘ ตัวอย่าง โดยพบไม่เกินมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด จากแซนด์วิชไก่อบร้านซับเวย์

องค์กรผู้บริโภคจึงขอเรียกร้องให้บริษัทฟาสต์ฟู้ดมีนโยบาย มีแผนการลด ยกเลิก ใช้เนื้อสัตว์จากซัพพลายเออร์ที่มียาปฏิชีวนะด้วยปัญหาเรื่อง “เชื้อดื้อยาปฏิชีวนะ” เป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก ที่หลายประเทศต่างก็พยายามเร่งหาทางแก้ไข ในปีนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ร่วมกับ สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคสากล (Consumers International) ได้นำประเด็นปัญหาเรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่เหมาะสมจนนำไปสู่การเกิดปัญหาเชื้อดื้อยา มาเป็นประเด็นหลักในการรณรงค์ทั่วโลก ว่า “เอายาปฏิชีวนะ ออกจากอาหารของเรา” (Antibiotics Off the Menu) เป้าหมายสำคัญในการรณรงค์ เพื่อให้เกิดนโยบาย มีแผนปฏิบัติการลดและยุติการใช้ยาปฏิชีวนะ โดยสามารถให้มีนักวิชาการอิสระเข้าไปตรวจสอบการดำเนินการในกระบวนการเลี้ยงสัตว์เพื่อนำมาเป็นอาหาร ซึ่งในปัจจุบันภาคปศุสัตว์มีการใช้ปฏิชีวนะเพื่อใช้รักษาอาการเจ็บป่วยของสัตว์ไม่น้อยไปกว่าการใช้ปฏิชีวนะรักษาอาการเจ็บป่วยในคน โดยเป้าหมายหลักให้ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดที่มีสาขาอยู่ทั่วโลก ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมอาหารขนาดใหญ่ที่มีการใช้เนื้อสัตว์มาปรุงอาหารเป็นจำนวนมาก”

จากข้อมูลล่าสุดของสหพันธ์ผู้บริโภคสากลเปิดเผยว่า แมคโดนัลด์ซึ่งมีสาขาใน 100 ประเทศทั่วโลกแสดงจุดยืนที่ชัดเจนใน 2 ประเทศเพียงในสหรัฐฯ และแคนาดาเท่านั้น โดยให้คำมั่นว่า แมคโดนัลด์อเมริกาจะรับซื้อเฉพาะเนื้อไก่จากฟาร์มที่ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะชนิดที่ใช้ในคนภายในปี พ.ศ. 2560 ในขณะที่แมคโดนัลด์แคนาดาจะทำเช่นเดียวกันในอีก 1 ปีต่อมา

นางสาวสารี เพิ่มเติมว่า บริษัทซับเวย์ แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนในสหรัฐฯ โดยจะรับซื้อเฉพาะเนื้อไก่ปลอดยาปฏิชีวนะภายในปี พ.ศ. 2559 เนื้อไก่งวงปลอดยาปฏิชีวนะภายในปีพ.ศ. 2562 และเนื้อวัว เนื้อหมูที่ปลอดยาปฏิชีวนะภายในปีพ.ศ. 2568 แต่ซับเวย์ใช้นโยบายดังกล่าวเพียง 1 ใน 111 ประเทศที่บริษัทดำเนินธุรกิจอยู่เท่านั้น ขณะที่เคเอฟซี ไม่แสดงจุดยืนใดๆ ในเรื่องดังกล่าว

“สามบริษัทนี้มีร้านอาหารในเครือรวมกันกว่า 100,000 สาขาทั่วโลก นั่นแสดงถึงอิทธิพลที่บริษัทมีต่อตลาดสินค้าเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ นโยบายของบริษัทสามารถส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงเรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะในการเกษตรได้ เพื่อแก้ปัญหาเชื้อดื้อยา”

press 16112016 web 04

 

รศ.ดร.จันทร์เพ็ญ วิวัฒน์ ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึง การใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์ที่ไม่ถูกต้อง ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค ยาปฏิชีวนะที่ตกค้างในเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ สามารถก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคได้ ทำให้เกิดอาการข้างเคียงของยา การแพ้ยา และ เชื้อดื้อยา ซึ่งส่งผลต่อการรักษาโรคในคน

การใช้ยาในสัตว์อย่างไม่ถูกต้อง ไม่จำเป็น มีโอกาสที่จะทำให้เชื้อดื้อยาในสัตว์ได้ เพราะเชื้อมีกลไกการดื้อยาได้หลายวิธีเมื่อได้รับยาอย่างไม่เหมาะสม และเชื้อสามารถถ่ายทอดความสามารถในการดื้อยาให้เชื้ออื่นๆ หรือมีการแลกเปลี่ยนยีนดื้อยากับเชื้อต่างชนิดได้ด้วย ส่งผลให้เชื้อดื้อยาหลายชนิดได้

 

 

 มาตรการสำหรับผู้บริโภคในประเทศไทย

ปัญหาแบคทีเรียดื้อยาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน มีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ หากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเหมาะสมและทันสถานการณ์ นับว่าเป็นภัยคุกคามชีวิตคนไทยและคนทั่วโลก และเห็นได้ว่า การปรับตัวดื้อยา ปฏิชีวนะของแบคทีเรียเกิดขึ้นได้ไม่ยาก แล้วเชื้อสามารถแพร่กระจายได้หลายวิธีการ ผู้บริโภคจำป็นต้องรู้เท่าทันปัญหา และไม่ร่วมสร้างปัญหาเพิ่มขึ้น โดย

- ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น
- หากจำเป็นต้องใช้ ต้องใช้อย่างถูกต้อง เพื่อทำลายเชื้อก่อโรคให้หมดจริงๆ ไม่เหลือให้ปรับตัวดื้อยาในร่างกาย
- จำกัดการใช้ยาปฏิชีวนะในอุตสาหกรรมเกษตร สัตว์ และปศุสัตว์  ใช้เมื่อจำเป็น อย่างเหมาะสม
- ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของสารเคมีฆ่าแบคทีเรียที่เสี่ยงต่อการทำให้เชื้อดื้อยาข้ามกลุ่ม
- ช่วยเฝ้าระวังการปนเปื้อนของยา เชื้อดื้อยา ในอาหาร ผลิตภัณฑ์ต่างๆ และสิ่งแวดล้อม

press 16112016 web 03


ผศ.ภญ.ดร.นิยดา  เกียรติยิ่งอังศุลี
ผู้อำนวยการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ได้ให้ข้อมูลว่า ปัญหาการเกิดเชื้อดื้อยาเป็นปัญหาสาธารณสุขระดับโลก มีรายงานวิจัยมากมายถึงการดื้อยาต้านแบคทีเรีย ทั้งที่เป็นเชื้อดื้อยา หรือยีนดื้อยา ของเชื้อแบคทีเรียหลายชนิด ทั้งในคนและการเกษตร ในทางนโยบายมีรายงานสถานการณ์จากการเฝ้าระวังทั่วโลกโดยองค์การอนามัยโลก และมีมติสมัชชาอนามัยโลก นำไปสู่การจัดทำแผนปฏิบัติการของโลกเรื่องการจัดการเชื้อดื้อยา และต่อมาที่ประชุมผู้บริหารระดับสูงของสมัชชาสหประชาชติ ก็ได้วาระประชุมเรื่องนี้  ประเทศต่าง ๆ ตระหนักถึงปัญหาและได้ออกนโยบาย ยุทธศาสตร์ และมาตรการระดับชาติ ส่วนการกระตุ้นความตระหนักในทุกภาคส่วน เช่น Antibiotic Awareness Week จัดทั่วโลก 

ในส่วนประเทศไทย  “มีงานวิจัยที่ระบุว่าในแต่ละปีคนไทยติดเชื้อแบคทีเรียที่ดื้อยา ประมาณ 88,000 คน และเสียชีวิตจากเชื้อดื้อยา ปีละ 20,000 – 38,000 คน  ส่งผลต่อความสูญเสียทางเศรษฐกิจถึง 46,000 ล้านบาท  สาเหตุการเกิดเชื้อดื้อยา เกิดจากพฤติกรรมการใช้ยาต้านแบคทีเรีย (ยาปฏิชีวนะ) พร่ำเพรื่อ ใช้ไม่ถูกโรค ใช้ไม่จำเป็น ใช้ไม่ถูกวิธี ไม่ถูกขนาด  มาจากทั้งจากฝั่งประชาชน ผู้กระจายยา และผู้ประกอบวิชาชีพ  เป็นต้น ซึ่งประเทศไทยก็ได้มีมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ต่อมามีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพฯ รับรองโดยคณะรัฐมนตรีแล้ว แต่การดำเนินการให้ได้ประสิทธิภาพนั้นมีผู้เกี่ยวข้องมากมาย ที่ต้องทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ ด้านการสร้างความตระหนัก มีการจัดงาน สัปดาห์รู้รักษ์ ตระหนักใช้ยาต้านแบคทีเรีย จัดงานวันที่ 18 พฤศจิกายน ที่ สสส เช้า และ รพ รามาธิบดี บ่าย รวมทั้งการจัดงานรณรงค์ตลอดเดือน ในโรงพยาบาลและร้านยา จำนวนหนึ่ง ที่เข้าร่วม ทั่วประเทศ 

 

ทำไมเชื้อดื้อยาถึงอยู่ในเนื้อสัตว์ที่เรากิน

          เพราะยาปฏิชีวะหรือยาต้านแบคทีเรีย ไม่ได้ถูกนำมาใช้เฉพาะกับคนเท่านั้น แต่ยังใช้ในสัตว์เลี้ยง ในการเกษตร ทั้งในสัตว์ คือปศุสัตว์และประมง และในการปลูกพืช  หรืออาจนำไปใช้ในทางอุตสาหกรรม เบื้องต้นมีรายงานว่าทั้งประเทศในภาพรวมมีการใช้ยาต้านจุลชีพปีละ 20,000 ล้านบาท โดยเป็นยาปฏิชีวนะหรือยาต้านแบคทีเรีย 10,000 ล้านบาท ส่วนการแบ่งว่ามีการใช้ในภาคส่วนใดนั้น ต้องมีการสำรวจและรายงานกันต่อไป   ในด้านอาหารพบมีรายงานการศึกษาตรวจพบในตัวอย่างเนื้อสัตว์ และในพืชผัก มาแล้วศึกษาทั้งโดยนักวิจัยไทยและงานวิจัยจากต่างประเทศ 

          ปัญหาการใช้ยาอย่างไม่ถูกต้อง คือ ใช้ยาผิดวัตถุประสงค์ เกินจำเป็น ใช้ไม่ตรงกับโรค ผิดขนาด ผิดช่วงเวลา วิธีการใช้ไม่ถูกต้อง การใช้ยาที่ไม่ถูกต้องจะส่งผลให้การรักษาไม่ได้ผล อาจนำไปสู่การเพิ่มปริมาณยา ใช้ยาบ่อยและนานขึ้น หรือไปจนถึงการเปลี่ยนไปใช้ตัวยาอื่นที่แรงขึ้น รวมทั้งการหยุดใช้ยาที่ไม่ถูกต้อง

          การใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่เหมาะสม ดังกล่าวมีส่วนทำให้เชื้อแบคทีเรียเกิดการพัฒนายีนส์ที่ต้านทานต่อยาปฏิชีวนะมากขึ้น เกิดได้ทั้งในคนและสัตว์ ซึ่งนำไปสู่ปัญหาสาธารณสุขที่การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะจะทำได้ลำบากขึ้น มีผู้คาดการณ์ว่าหากไม่มีการจัดการที่ดีพอ ในปีพ.ศ. 2593 จะมีผู้เสียชีวิตจากเชอื้ดื้อยาทั่วโลกถึง 10 ล้านคน

          กรณีการนำยาปฏิชีวนะไปใช้ในการเกษตร สิ่งที่เป็นห่วงกันทั่วโลกคือการตกค้างในผลิตภัณฑ์ที่ผู้บริโภคได้รับ  ซึ่งอาจเป็นยาปฏิชีวนะ เป็นเชื้อแบคทีเรียดื้อยา หรือเป็นยีนดื้อยา รวมทั้งล่าสุดที่มีการห่วงใยเพิ่มเติมคือการตกค้างในสิ่งแวดล้อม เหล่านี้มีโอกาสนำไปสู่ปัญหาเชื้อดื้อยาทั้งในคน ในสัตว์ ได้

          หลักการการใช้ยาปฏิชีวนะหรือยาต้านแบคทีเรียต้องสั่งหรือจ่ายโดยบุคลากรสุขภาพ  ดังนั้นร้านค้า ร้านชำที่ขายยายาปฏิชีวนะซึ่งจัดเป็นยาอันตราย โดยไม่มีใบอนุญาต ถือเป็นการผิดกฎหมาย รัฐพึงจัดระบบการเฝ้าระวัง ทั้งการควบคุมการกระจายตลอดเส้นทางของยาตั้งแต่นำเข้าจนถึงผู้ใช้ปลายทาง และส่งออก ควบคุมดูแลการใช้ให้ถูกต้อง และเฝ้าระวังการดื้อยาทั้งในคน ในอาหาร และการเกษตร อนาคตอาจถึงขั้นต้องตรวจในสิ่งแวดล้อมด้วย

press 16112016 web 05