2nd benefit

2nd benefit

  • หน้าแรก
  • ด้านอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ

กราโนล่า-มูสลี 14 ยี่ห้อดัง ปลอดสารพิษจากเชื้อรา

press 31102016 granola muesli in the bowl

ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยผลทดสอบสารพิษจากเชื้อราหรืออะฟลาท็อกซิน รวมทั้งปริมาณน้ำตาล ใยอาหารและพลังงาน ในอาหารเช้ากราโนล่าและมูสลีจำนวน 14 ยี่ห้อยอดนิยม พบทุกตัวอย่างปลอดภัย ไม่มีการปนเปื้อนสารพิษ บางยี่ห้อให้พลังงานสูงแนะบริโภคแต่น้อย

     14 ต.ค.59 ณ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ ได้ติดตามจัดอันดับอาหารปลอดภัย เห็นความสำคัญของอาหารประเภทซีเรียลสำหรับผู้ใหญ่ คือ กราโนล่าและมูสลี (Granola, Muesli) ซึ่งปัจจุบันได้รับความนิยมในหมู่คนรักสุขภาพ จึงได้สุ่มเก็บตัวอย่างกราโนล่าและมูสลี จำนวน 14 ยี่ห้อ จากห้างสรรพสินค้าต่างๆ และนำมาทดสอบหาการปนเปื้อนของสารพิษ อะฟลาท็อกซินซึ่งเป็นสารพิษชนิดหนึ่งที่สร้างขึ้นจากเชื้อรา รวมทั้งตรวจสอบปริมาณน้ำตาลและใยอาหารของแต่ละยี่ห้อ ซึ่งผลการทดสอบพบว่าทุกยี่ห้อที่นำมาทดสอบทั้งหมด 14 ตัวอย่าง ไม่พบการปนเปื้อนสารอะฟลาท็อกซิน แก่ ยี่ห้อ

1. McGarrett (แม็กกาเร็ต)
2. Stun (สตั๊น)
3. Tilo's (ทิโลส์)
4. Nestlé (เนสท์เล่)
5. Kellogg’s (เคลล็อกส์)
6. TescoSwiss Style (เทสโก้ สวิส สไตล์)
7. Be Nature บี เนเจอร์
8. SanitariumWEET BIX FRIUITY WILDBERRY (แซนนิทาเรี่ยม วีท บิกซ์ ฟรุตตี้ ไวล์ดเบอร์รี่)
9. Post (โพสต์)
10. Kolln Musli (โคลน์)
11. Familia Knusper Crunch (แฟมิเลีย นูสเปอร์ ครั้นช์)
12. Hahne(ฮาทเน่)
13. My Choice (มายชอยส์)
และ 14. Diamond Grains (ไดมอนด์ เกรนส์)

         อย่างไรก็ตามสำหรับปริมาณน้ำตาลและใยอาหาร พบว่ามี 2 ยี่ห้อ ที่ไม่แสดงฉลากโภชนาการ ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลทางโภชนาการได้ ได้แก่ ยี่ห้อ Diamond Grains (ไดมอนด์ เกรนส์) และ My Choice (มายชอยส์) ส่วนตัวอย่างที่เหลือแบ่งเป็น 5 ยี่ห้อที่มีการแสดงฉลากโภชนาการภาษาไทย และอีก 7 ยี่ห้อที่แสดงฉลากโภชนาการภาษาต่างประเทศ ซึ่งพบว่า หากเทียบให้ทุกยี่ห้อมีหน่วยบริโภคที่เท่ากันคือ 100 กรัมนั้น จะพบยี่ห้อที่มีปริมาณน้ำตาลน้อยที่สุด คือ Tilo’s (ทิโลส์) มีปริมาณน้ำตาล 8.6 กรัม/100 กรัม และยี่ห้อที่มีปริมาณน้ำตาลมากที่สุด คือ ยี่ห้อ Nestle (เนสท์เล่) มีปริมาณน้ำตาล 30 กรัม/100 กรัม

         สำหรับปริมาณใยอาหารพบว่ายี่ห้อที่มีปริมาณใยอาหารมากที่สุด คือ Be Nature (บี เนเจอร์) 12 กรัม/ 100กรัม และยี่ห้อที่มีปริมาณใยอาหารน้อยที่สุด คือ Kellogg’s (เคลลอกกส์), 4.4 กรัม / 100กรัม

         นอกจากนี้ยังพบว่ายีห้อที่ให้พลังงานน้อยที่สุด คือ ยี่ห้อNestle (เนสท์เล่) ให้พลังงานทั้งหมด 350 กิโลแคลอรี/100กรัม) และ ยี่ห้อที่ให้พลังงานมากที่สุด คือ ยี่ห้อ Sanitarium(แซนนิทาเรี่ยม) ให้พลังงานทั้งหมด 1,460 กิโลแคลอรี / 100 กรัม

         โดยสรุป จากทั้งหมด 12 ตัวอย่างที่สามารถอ่านฉลากได้ สามอันดับแรกของอาหารเช้ากราโนล่าและมูสลี ที่มีปริมาณน้ำตาลต่ำ พลังงานต่ำ แต่ใยอาหารสูง เมื่อเทียบที่ปริมาณต่อ 100 กรัม ได้แก่ 1. Tilo’s (ทิโลส์) 2. Be Nature (บี เนเจอร์) และ 3. Post (โพสต์) และสามอันดับแรกที่มีปริมาณน้ำตาลสูง พลังงานสูง แต่ใยอาหารต่ำหรือปานกลาง เมื่อเทียบปริมาณต่อ 100 กรัม ได้แก่  1. Sanitarium (แซนนิทาเรี่ยม) 2. Stun (สตัน) และ 3. Familia (แฟมิเลีย)  

press 31102016 granola muesli01

         ด้านนางสาวมลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการด้านอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) ได้กล่าวถึงอันตรายของอะฟลาท็อกซิน ว่า เป็นสารพิษที่สร้างขึ้นโดยเชื้อรา ซึ่งองค์การอนามัยโลกจัดให้เป็นสารก่อมะเร็งที่ร้ายแรงที่สุดชนิดหนึ่ง และจำเป็นที่จะต้องมีการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในอาหารกลุ่มเสี่ยงจำพวก ถั่วลิสง ข้าวโพด ข้าว กระเทียม พริกแห้ง พริกป่น กุ้งแห้ง รวมถึงอาหารจำพวกแป้ง เช่น แป้งข้าวสาลี แป้งข้าวเหนียว แป้งข้าวเจ้า แป้งข้าวโพด ซึ่งหลายประเทศมีการกำหนดปริมาณการปนเปื้อนของสารดังกล่าวในอาหาร โดยในประเทศไทยกำหนดให้ปนเปื้อนได้ไม่เกิน 20 ไมโครกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่98(พ.ศ.2529) เนื่องจากการรับประทานอาหารที่มีการปนเปื้อนของสารดังกล่าวในปริมาณมาก อาจส่งผลต่อระบบทางเดินอาหาร ทำให้เกิดอาการท้องเดิน อาเจียน ยิ่งในเด็กเล็กยิ่งเสี่ยงต่อการได้รับผลรุนแรงเฉียบพลัน อาจเกิดอาการชักและหมดสติเนื่องจากตับและสมองทำงานผิดปกติ นอกจากนี้ยังมีผลในระยะยาว คือ อะฟลาท็อกซินที่สะสมอยู่ในร่างกายจะไปยับยั้งไม่ให้ร่างกายสร้างโปรตีน ส่งผลให้การทำงานของเซลล์ผิดปกติ ส่งผลต่อการเกิดมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งตับ เนื่องจากสารพิษนี้จะไปรบกวนการทำงานของตับ ทำให้เกิดไขมันมากในตับ และทำให้มีพังผืดขึ้นที่ตับได้

         นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวเพิ่มเติมว่า จะเห็นว่าผลิตภัณฑ์ประเภทนี้เป็นผลิตภัณฑ์ที่โดยภาพรวมมีน้ำตาลสูง และให้พลังงานค่อนข้างสูงไม่ต่างจากการรับประทานอาหารมื้อหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยี่ห้อที่มีพลังงานสูงสุดคือ Sanitarium (แซนนิทาเรี่ยม) นั้น ให้พลังงานถึง 1,460 กิโลแคลอรี / 100 กรัม ซึ่งหากเทียบเกณฑ์พลังงานที่พึงได้รับต่อวันที่ซึ่งอยู่ที่ 2,000 กิโลแคลอรี นั้น จะเห็นว่าได้รับพลังงานแค่1มื้อไปแล้วถึงสองในสามของเกณฑ์พลังงานที่แนะนำให้บริโภคต่อวัน (ค่าเฉลี่ยพลังงานของทั้ง 12 ตัวอย่างอยู่ที่ 473.9 กิโลแคลอรี/100กรัม) ด้านน้ำตาลนั้น หากยกตัวอย่างยี่ห้อที่มีน้ำตาลสูงที่สุดคือNestle (เนสท์เล่)นั้นจะทำให้ได้รับน้ำตาลถึง 30กรัม/100กรัม ซึ่งเมื่อเทียบกับปริมาณที่แนะนำให้บริโภคน้ำตาลของคนไทย ที่ 24กรัม/วัน จะพบว่าเราได้รับน้ำตาลสูงกว่าคำแนะนำไปเรียบร้อยแล้วด้วยการบริโภคเพียง1มื้อ(ค่าเฉลี่ยน้ำตาลของทั้ง 12 ตัวอย่างอยู่ที่ 21.125กรัม/100กรัม) อย่างไรก็ตามข้อดีของผลิตภัณฑ์ชนิดนี้คือใยอาหาร จะเห็นว่าค่าเฉลี่ยของใยอาหารที่จะได้รับต่อการบริโภค ในทั้ง 12 ตัวอย่างจะอยู่ที่ 8.2กรัม/100กรัม ซึ่งเป็นค่าที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับปริมาณใยอาหารที่แนะนำให้บริโภคต่อวันคือ 25 กรัม นั้น จะเห็นว่าอาหารชนิดนี้ให้ใยอาหารสูงถึงเกือบหนึ่งในสามของปริมาณที่แนะนำให้บริโภคต่อวัน แต่ก็มีราคาที่ค่อนข้างสูง เช่นกัน ดังนั้นผู้บริโภคที่จะบริโภคอาหารชนิดนี้ขอให้ระมัดระวังการบริโภคให้ดี หากไม่อ่านฉลากก่อนการบริโภคและบริโภคในปริมาณที่สูงแล้ว อาจนำมาซึ่งความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพ และสภาพคล่องทางการเงินในระยะยาวได้