2nd benefit

2nd benefit

ศาลปกครองรับฟ้อง และให้พิจารณาโดยเร่งด่วน กรณี กขค. มีมติควบรวม ซีพี และเทสโก้ อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย

CP Law1

วันนี้ (3 เมษายน 2564) ศาลปกครองมีคำสั่งลงวันที่ 22 มีนาคม 2564 รับคำฟ้องของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และอีก 36 องค์กรผู้บริโภค รวมถึงผู้บริโภคจากทั่วประเทศ กรณีคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) มีมติอนุมัติให้บริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์จำกัด ควบรวมกิจการกับ บริษัท เทสโก้ สโตร์ส จำกัด ที่อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยที่ศาลปกครองมีคำสั่งให้พิจารณาโดยเร่งด่วน และสั่งให้ทำคำชี้แจง รวมถึงส่งเอกสารประกอบว่า หากไม่มีคำสั่งให้ชะลอหรือระงับตามคำสั่งทางปกครองในเหตุพิพาทไว้เป็นการชั่วคราวก่อนนั้นจะเกิดความเสียหายและยากแก่การเยียวยาแก้ไขอย่างไร

ทั้งนี้ ศาลได้เรียกบริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และ บริษัท โลตัส สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัดเข้ามาเป็นคู่กรณีฝ่ายที่สาม โดยกำหนดให้บริษัท ซี.พี. ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัดเป็นผู้ร้องสอดที่ 1 และบริษัท โลตัส สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ร้องสอดที่ 2 (ซึ่ง บริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท โลตัส สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2564

ส่วนในกรณีที่ผู้ฟ้องคดีได้ร้องขอให้ศาลไต่สวนและมีคำสั่งกำหนดมาตรการคุ้มครองหรือบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษานั้น ศาลขอให้ผู้ฟ้องจัดทำคำชี้แจง พร้อมเอกสารหลักฐานเพื่อยื่นต่อศาลภายใน 7 วัน หลังจากที่ได้รับหมาย

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และอีก 36 องค์กรผู้บริโภค รวมถึงผู้บริโภคทั่วประเทศได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองในกรณีคณะกรรมการแข่งขันทางการค้ามีมติอนุญาติให้บริษัท ซีพี และบริษัทเทศโก้ควบรวมได้ศาลปกครองไปในวันที่ 15 มีนาคม 2564 โดยสาระสำคัญของการฟ้องมีเนื้อหา ดังนี้

มตินี้อาจขัดต่อ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 ที่มุ่งเน้นกำกับดูแลการประกอบธุรกิจให้มีแข่งขันทางการค้ามากที่สุดภายใต้หลักเสรีและเป็นธรรม ปล่อยให้บริษัทที่มีส่วนแบ่งในตลาดอยู่แล้วมากถึงร้อยละ 69.3 ก่อนการควบรวม ให้ได้มีอำนาจเหนือตลาดเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 83.97 หลังการควบรวม ซึ่งมตินี้จะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เนื่องจากทำให้เกิดการผูกขาดสินค้าที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อผู้บริโภค อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตสินค้าและวัตถุดิบ ที่ขาดอำนาจการต่อรอง และทำลายโอกาสการแข่งขันอย่างเป็นธรรมกับคู้แข่งเดิมและคู่แข่งหน้าใหม่ และเมื่อจำนวนผู้แข่งขันลดลง ย่อมทำให้ผู้บริโภคมีโอกาสเลือกสินค้าน้อยลง จนทำให้ผู้บริโภคอาจตกอยู่ในภาวะที่ต้องซื้อสินค้าในราคาที่สูงอย่างเลี่ยงไม่ได้

นอกจากนั้นแล้ว คณะกรรมการแข่งขันทางการค้าไม่ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนทั่วไป ซึ่งถือได้ว่าไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง มีการกำหนดกรอบในการลงมติของคณะกรรมการเป็นการกำหนดกรอบที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีเงื่อนไขว่าคณะกรรมการที่ลงมติไม่เห็นชอบ จะไม่มีสิทธิกำหนดเงื่อนไขเชิงโครงสร้างและเงื่อนไขเชิงพฤติกรรม

 

Tags: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค , เครือข่ายผู้บริโภค, สภาองค์กรผู้บริโภค