2nd benefit

2nd benefit

ปัญหาบริการสาธารณสุข ครองแชมป์ปัญหาผู้บริโภค คอบช. เสนอรัฐบาลเร่งมีองค์กรคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค

600111 news2
คอบช. เสนอรัฐบาลเร่งมีองค์กรคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคที่มีพลัง ตามมาตรา 46 แห่งรัฐธรรมนูญ หนึ่งปีที่ผ่านมามีผู้บริโภคร้องเรียนจำนวน 3,622 เรื่อง เป็นปัญหาด้านบริการสาธารณสุข การเงินการธนาคาร และบริการสาธารณะมากที่สุดจากองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ

600111 news jompon
เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2560 ผศ.จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ รองประธานกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน กล่าวว่า จากการดำเนินงานขององค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ในสามปีที่ผ่านมา พบว่าเกิดประโยชน์ต่อการคุ้มครองผู้บริโภคมาก ทั้งช่วยให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองมากขึ้น เช่น การคุ้มครองผู้บริโภคจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ ทำให้ผู้บริโภคประหยัดเงินไม่น้อยกว่า 700 ล้านบาท ในการเปลี่ยนบัตรโดยสารรถไฟฟ้าใต้ดิน ควบคุมราคาจำหน่ายก๊าซหุงต้มทั่วประเทศ การเสนอให้มีกฎหมายคุ้มครองสินค้าใหม่ที่ชำรุดบกพร่อง (Lemon Law) และความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนในการควบคุมการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย จึงเสนอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการจัดตั้งองค์กรผู้บริโภคที่เป็นอิสระเพื่อให้เกิดพลังในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค รวมทั้งเป็นตัวแทนของผู้บริโภคในการประสานนโยบายและดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานรัฐและภาคเอกชน


นอกจากนี้คาดหวังว่า ในปี 2560 กระทรวงสาธารณสุขโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) จะเดินหน้ายกระดับการคุ้มครองผู้บริโภค ให้มีฉลากจีเอ็มโอครอบคลุมอาหารที่มีจีเอ็มโอทุกชนิด รวมถึง กสทช.จะสามารถบังคับให้ค่ายมือถือ คิดอัตราค่าบริการตามการใช้งานจริงเป็นวินาทีทุกรายการส่งเสริมการขาย ตามที่ได้มีมติ กทค. เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2559 เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อผู้บริโภคมากกว่า 8,032 ล้านบาท ใน 7 เดือน

600111 news sareeนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ในปี 2559 ที่ผ่านมา มีเรื่องร้องเรียนรวมทั้งสิ้น 3,622 เรื่อง เป็นปัญหาด้านบริการสุขภาพและสาธารณสุขจำนวน 680 เรื่อง ปัญหาด้านการเงินการธนาคาร 626 เรื่อง ปัญหาด้านบริการสาธารณะ 553 เรื่อง ปัญหาด้านสื่อและโทรคมนาคม 54 เรื่อง ปัญหาด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ 450 เรื่อง สินค้าและบริการทั่วไป 372 เรื่อง และปัญหาที่อยู่ที่อาศัยจำนวน 38 เรื่องตามลำดับ

นอกจากนี้องค์กรผู้บริโภคยังได้มีบทบาทในการเผยแพร่ข้อมูลเพื่อการเลือกซื้อสินค้า เช่น สำรวจการทำบัตรเดบิตแบบมีประกันชีวิตเพื่อดูว่าได้รับกรมธรรม์หรือไม่ หรือผู้บริโภคสามารถเปิดใช้บริการเอทีเอ็มแบบธรรมดาได้หรือไม่ ตรวจสารกันบูดในขนมจีน การทดสอบปริมาณสารไนเตรทและไนไตรท์ในไส้กรอก หรือการมียาปฏิชีวนะตกค้างในอาหารฟ้าสต์ฟู้ด เป็นต้น ผลสำรวจและเผยแพร่ข้อมูลหลายเรื่อง ได้รับความร่วมมือจากอย. ในการตรวจสถานประกอบการเมื่อสินค้าตกมาตรฐาน ได้สร้างความตื่นตัวให้กับผู้บริโภคจำนวนมาก และความร่วมมือจากผู้ประกอบอย่างชัดเจนในการพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพมากขึ้น

600111 news supapornนางสุภาพร ถิ่นวัฒนากูล กรรมการ/ผู้แทนเขต 5 ภาคเหนือ กล่าวว่า การมีองค์กรผู้บริโภคในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มีความสำคัญเพราะจะช่วยสนับสนุนให้เกิดองค์กรผู้บริโภคในระดับจังหวัดที่เข้มแข็งมากขึ้น ปัจจุบันมีถึง 44 จังหวัด และรวมทั้งมีกลุ่มผู้เดือดร้อนในด้านต่าง ๆ ที่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมกับรัฐในการคุ้มครองผู้บริโภคได้เพิ่มขึ้น ในรอบปีที่ผ่านมา คอบช.ได้สนับสนุนการพัฒนากลไกคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ใน 44จังหวัด ทำให้เกิดความร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่ในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคในรูปแบบสภาผู้บริโภคจังหวัด

“ยกตัวอย่างสภาผู้บริโภคจังหวัด เช่น จังหวัดพะเยา จัดตั้งสภาผู้บริโภคมีรูปแบบคณะทำงานที่เป็นทางการ เพื่อขับเคลื่อนงานผู้บริโภคในจังหวัดพะเยา จังหวัดเพชรบุรี ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด จัดสภาผู้บริโภคจังหวัด ประเด็นการรู้เท่าทันการโฆษณาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพเกินจริง เพื่อแลกเปลี่ยนสถานการณ์ด้านการโฆษณาเกินจริงในจังหวัด และเกิดคณะทำงานจัดทำข้อเสนอเพื่อสร้างมาตรการในการจัดการโฆษณาเกินจริงในระดับจังหวัด จังหวัดสมุทรสงคราม ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด จัดสภาผู้บริโภคจังหวัด ประเด็นอาหารปลอดภัย เพื่อผลักดันการใช้ฉลากโภชนาการอาหารสัญญาณไฟจราจรเป็นสื่อในการรณรงค์ให้เด็กและเยาวชนตระหนักในการบริโภคอาหารที่เหมาะสม ซึ่งถือว่าสำคัญอย่างมากที่ภาครัฐควรสนับสนุนให้เกิดสภาผู้บริโภค” นางสุภาพรกล่าว

600111 news pativatนายปฏิวัติ เฉลิมชาติ กรรมการ คอบช. เขตภาคอีสาน กล่าวว่า จากข้อมูลการเฝ้าระวังอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ ปี 2559 ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมกับเครือข่ายผู้บริโภคทั่วประเทศ พบว่า อุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะทุกประเภทมีเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะรถตู้โดยสารสาธารณะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด โดยเกิดอุบัติเหตุมากถึง 215 ครั้ง หรือ 19.5 ครั้ง/เดือน บาดเจ็บ 1,102 คน หรือ 100 คน/เดือน มีผู้เสียชีวิต 103 คน หรือ 9.4 คน/เดือน

“การแก้ปัญหานั้นขอเสนอให้รัฐบาลมีการควบคุมความเร็วในการขับขี่รถโดยสารสาธารณะ มีสัญญาณเตือนเมื่อความเร็วสูงกว่ากฎหมายกำหนด เพื่อให้ผู้ขับขี่และผู้บริโภคระมัดระวังร่วมกัน และเข้มงวดกับการตรวจสภาพรถโดยสารมากยิ่งขึ้น หากมีกรณีอุบัติเหตุซ้ำซากควรมีมาตรการพักใบอนุญาตการเดินรถของผู้ประกอบการเพื่อให้เกิดความรับผิดชอบร่วมกัน เพื่อความปลอดภัยทางถนนและการลดอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ” นายปฏิวัติกล่าว

600111 news pongsapatนายพงษภัทร หงส์สุขสวัสดิ์ ผู้ประสานงานภาคตะวันตก กล่าวว่า ปีนี้เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคจะเน้นการเฝ้าระวังโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายในสื่อออนไลน์ ที่ยังไม่มีหน่วยงานใดออกมาเป็นเจ้าภาพกำกับดูแล

“ขอเรียกร้องให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีฐานข้อมูลกลางที่ทุกส่วนสามารถเข้าถึง และตรวจสอบได้ แสดงข้อมูลโฆษณาที่อนุญาต และให้ อย. ใช้แนวทางกระจายอำนาจให้หน่วยงานกำกับดูแลอื่น แก้ไขปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ รวมถึงให้ อย.ปรับปรุงแนวปฏิบัติในการลงโทษ โดยพิจารณาความผิดฐานโฆษณาเกินจริง แทนที่จะลงโทษเพียงไม่ขออนุญาตโฆษณา รวมถึงการกระทำผิดซ้ำซาก” นายพงษภัทรกล่าว

600111 news1