2nd benefit

2nd benefit

  • หน้าแรก
  • ด้านอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ

เครือข่ายเกษตร-องค์กรภาคประชาชน ค้านร่างกม.จีเอ็มโอ หวั่นกระทบเศรษฐกิจและความมั่นคงทางอาหาร

581113 GMOs

เครือข่ายเกษตร ปราชญ์ชาวบ้าน และองค์กรสาธารณประโยชน์ กว่า 150 คน ร่วมค้าน พ.ร.บ.จีเอ็มโอ วอนรัฐยุติเข้าร่วมความตกลง TPP หวั่นกระทบเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางอาหารและความหลากหลายทางชีวิต

วันนี้ (13 พ.ย. 58) เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก, เครือข่ายความมั่นคงทางอาหาร, กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, มูลนิธิเข้าถึงเอดส์, เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี เอดส์ประเทศไทย, เครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจแอลกอร์ฮอล์ และ เครือข่ายพลเมืองขับเคลื่อนสิทธิด้านสุขภาพ กว่า 150 คน ยื่นหนังสือต่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ชะลอการนำร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และไม่เข้าร่วมกับความตกลง TPP โดยมี นายสุขสวัสดิ์ สุวรรณวงศ์ หัวหน้าฝ่ายประสานมวลชน ศูนย์บริการประชาชน ทำเนียบรัฐบาล เป็นตัวแทนผู้รับมอบ

581113 GMOs1 581113 GMOs2

ก่อนการยื่นหนังสือ เครือข่ายองค์กรภาคประชาชนได้จัดแสดงกิจกรรมเพื่อแสดงออกเชิงสัญญลักษณ์ในการคัดค้าน โดยจัดให้มีชายแต่งตัวด้วยกางเกงทหารลายพรางใส่เสื้อสูทสีดำ สวมหมวกงอบชาวนาที่คาดด้วยสีธงชาติสหรัฐ แสดงท่าเหยียบย่ำพืชผลของเกษตรกร เพื่อสะท้อนถึงการเหยียบย่ำอธิปไตยและความมั่นคงทางอาหาร

NantawanHandee-001

นางสาวนันทวัน หาญดี เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า ตามที่มีการเสนอร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ พ.ศ. .... หรือ พ.ร.บ.จีเอ็มโอ เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ซึ่งหากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ ร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวจะเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. เพื่อตราเป็นกฎหมายต่อไปนั้น เครือข่ายเกษตร ปราชญ์ชาวบ้าน และองค์กรสาธารณประโยชน์ เห็นว่าร่างกฎหมายฉบับนี้มีบกพร่องอย่างร้ายแรงทั้งในเชิงกระบวนการพัฒนากฎหมายและเนื้อหา ได้แก่

1. ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้มีเนื้อหาที่เขียนเปิดช่องให้บริษัทเมล็ดพันธุ์ไม่ต้องรับผิดชอบผลกระทบในกรณีที่เกิดความเสียหายจากพืชจีเอ็มโอ และกระบวนการยกร่างกฎหมายนี้ขาดการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ที่จะได้รับผลกระทบจากพืชจีเอ็มโอ

2. ก่อให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหาร วิถีชีวิตเกษตรกร ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ และจะทำลายเศรษฐกิจการส่งออกผลผลิตการเกษตรและผลิตภัณฑ์อาหารอย่างมิอาจประเมินมูลค่าได้

“มีเจตนาเพื่อเปิดเสรีพืชจีเอ็มโอ โดยมิได้นำ ‘หลักการที่ว่าด้วยความปลอดภัยไว้ก่อน’ ในอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคีมาปรับใช้ในการปกป้องความเสี่ยงที่อาจเกิดจากการบริโภคพืชจีเอ็มโอ เช่น มะเร็ง ปกป้องทรัพยากรชีวภาพ รวมทั้งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงเปิดช่องให้บริษัทเมล็ดพันธุ์สามารถปลูกพืชจีเอ็มโอได้อย่างเสรี และไม่ต้องรับผิดชอบเมื่อเกิดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากพืชจีเอ็มโอ” นางสาวนันทวัน หาญดี กล่าว

UbolUwa-001

ด้าน นายอุบล อยู่หว้า เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก กล่าวเสริมว่า เกษตรกรที่ไม่ประสงค์จะปลูกพืชจีเอ็มโอ แต่ว่ามีการปนเปื้อนจีเอ็มโอจากแหล่งอื่นส่งผลกระทบทำให้ไม่สามารถค้าขายได้ โดยเฉพาะตลาดยุโรปอาจจะถูกปฏิเสธได้ ซึ่งในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้บริษัทไม่ต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ในประเทศที่ปลูกพืชจีเอ็มโอ เช่น สหรัฐอเมริกาบริษัทมอนซานโต้จะมีเจ้าหน้าที่ตรวจตัวอย่างพืชในแปลงของเกษตรกรหายีนของบริษัท แล้วหากพบจะยื่นฟ้องเกษตรกรข้อหาขโมยพืชเขามาปลูก ซึ่งเกษตรกรในอเมริกาและแคนนาดาได้แพ้คดีแล้วจ่ายค่าเสียหายมหาศาล

“ผมไม่ปรารถนาที่จะเห็นกฎหมายแบบนี้เข้ามาในประเทศไทยครับ พืชจีเอ็มโอมันไม่ได้มีความแม่นยำ เอายีนของแบคทีเรียใส่เข้าไปในเซลล์ของข้าวโพดให้ข้าวโพดสามารถฆ่าหนอนได้ด้วยตัวเอง มันไม่สามารถบอกได้เลยว่าฆ่าเฉพาะหนอน มันไม่สามารถควบคุมได้ นี่คือความเสี่ยงของการใช้พืชจีเอ็มโอ ถ้าเราจะแสดงตัวว่าเราจะเป็นประเทศที่ปลูกจีเอ็มโอ เราจะถูกยุโรปตั้งเงื่อนไขว่าสินค้าที่จะส่งไปยุโรปต้องตรวจจีเอ็มโอทุกล็อต แค่นี้ก็เพิ่มต้นทุนให้ผู้ส่งออกมหาศาล ด้านนี้ไม่มีใครพูดถึง” นายอุบล อยู่หว้า กล่าว

52259

จากผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับ พ.ร.บ.จีเอ็มโอ เครือข่ายเกษรและประชาชนจึงเสนอให้ 

1. หยุดการนำร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพนี้เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี 

2. ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำร่างพ.ร.บ.นี้ไปจัดรับฟังความคิดเห็นของเกษตรกรรายย่อย ภาคประชาสังคม นักวิชาการอิสระ และภาคธุรกิจที่อาจได้รับผลกระทบ เพื่อปรับปรุงร่างกฎหมายฉบับนี้ให้ดีขึ้น โดยนำหลักการป้องกันไว้ก่อน (Precaution Principle) การป้องกันผลกระทบทางเศรษฐกิจสังคม การชดเชย และเยียวยาความเสียหายตามหลักผู้ก่อมลภาวะเป็นผู้จ่าย (Polluter Pay Principle) การป้องกันปัญหาการปนเปื้อนซึ่งจะกระทบต่อการทำเกษตรกรรมอินทรีย์ และทรัพยากรชีวภาพของชาติโดยภาพรวม ตลอดจนการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย มาบรรจุในร่างกฎหมายฉบับนี้

3. ในระหว่างที่ยังไม่มีกฎหมายความปลอดภัยทางชีวภาพ ขอให้ ฯพณฯ มีบัญชาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำมติคณะรัฐมนตรีลงวันที่ 25 ธ.ค. 2550 มาเป็นแนวทางในการอนุญาตให้มีการทดลองพืชดัดแปลงพันธุกรรม ตามข้อเสนอของ "คณะทำงานศึกษาแนวทางการนำสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมและผลิตภัณฑ์มาใช้ในประเทศไทย" ได้มีมติอย่างเป็นเอกฉันท์ เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2557

ทั้งนี้ การอนุญาตให้มีการทดลองพืชจีเอ็มโอในพื้นที่เปิดและการปลูกจีเอ็มโอในเชิงพาณิชย์ มีโอกาสจะสร้างผลกระทบต่อเกษตรกรรายย่อย เกษตรอินทรีย์ ส่งผลกระทบต่อการส่งออก และผลต่อความมั่นคงและอธิปไตยทางอาหารของประเทศดังที่ประเทศในสหภาพยุโรปมากกว่า 16 ประเทศประกาศแบน และผู้บริโภคส่วนใหญ่ทั้งในยุโรป (และมากกว่าครึ่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา) ปฏิเสธอาหารที่มาจากการดัดแปลงพันธุกรรม เป็นต้น

4. ขอให้รัฐบาลยุติการพิจารณาเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) จนกว่าประเทศไทยจะมีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์และมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

 

ข่าวบทความเนื้อหาใกล้เคียงกัน:

|

Tags: TPP, ทีพีพี, จีเอ็มโอ, GMOs, พ.ร.บ.ความปลอดภัยทางชีวภาพ, อุบล อยู่หว้า, นันทวัน หาญดี, สุขสวัสดิ์ สุวรรณวงศ์