2nd benefit

2nd benefit

  • หน้าแรก
  • ด้านอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ

FTA Watch ชี้อย่าไปสนใจไทยติดบัญชีดำละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เตือนสติกรมทรัพย์สินทางปัญญาเลิกทำงานสนองสหรัฐฯ ที่เอาแต่ได้

FTAWatch

(1 พ.ค. 58/กรุงเทพฯ) ตามที่ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ เผยแพร่รายงานตามาตรา 301 พิเศษจัดอันดับประเทศที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ประจำปี 2558 โดยประเทศไทยติดอยู่ในกลุ่มประเทศที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ (Priority Watch List - PWL) เป็นปีที่ 8 ติดต่อกัน

น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) มองว่า การออกรายงานตามมาตรการ 301 พิเศษของสหรัฐฯ ต่างกับราย านเรื่องการค้ามนุษย์หรือสิทธิมนุษยชน เพราะรายงานตามมาตรา 301 ไม่ควรค่าแก่การใส่ใจ เพราะสาระของรายงานเป็นการบอกว่า ทุนสหรัฐฯต้องการอะไรบ้าง และประเทศต่างๆยังทำอะไรไม่ถูกใจทุนอเมริกันบ้าง และขณะนี้ก็ไม่มีประเทศใดๆให้ความสนใจกับการติดบัญชีดำในรายงานนี้แล้ว

"ดังที่ปรากฏในรายงานปีนี้ สหรัฐฯพูดชัดว่า การแก้กฎหมายของไทยไม่ทำตามสิ่งที่อุตสาหกรรมของสหรัฐฯต้องการมากพอ อาทิ การไม่มีบทลงโทษกับเจ้าของที่ดินที่ขายสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งที่ในการแก้กฎหมาย ไทยต้องคำนึงถึงสภาพสังคมและได้แก้ในหลายประเด็นที่เห็นสมควรไปแล้ว แต่สนองตามไม่ได้ทุกเรื่องทุกเม็ด
เพราะเป็นคำขอที่เกินกว่าเหตุเอื้อธุรกิจสหรัฐทำร้ายประชาชนมากเกินไป ไม่มีทางที่สหรัฐฯจะปรับเราออกจากบัญชีดำนี้ได้

อีกทั้ง การติดในบัญชี 301 พิเศษนี้ มีงานวิจัยชั้ชัดว่า ไม่ได้มีผลกระทบต่อการส่งออกของไทย ขณะนี้ หลายประเทศเริ่มรู้ทางมากขึ้นจนแทบไม่มีประเทศใดสนใจการออกรายงานแต่ละปี

ดังนั้น กรมทรัพย์สินทางปัญญาควรตระหนักและเลิกเดินตามคำสั่งของสหรัฐฯอย่างสิ้นสติ เพราะ เท่าที่แก้กฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญากันมา ประเทศไทยมีโทษอาญาหนักที่สุดในโลกแล้ว ผิดกับประเทศพัฒนาแล้วที่เน้นโทษทางแพ่งเป็นหลัก" น.ส.กรรณิการ์ กล่าว

ทางด้าน ดร.อุษาวดี สุตะภักดิ์ อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ กล่าวว่า ข้อเรียกร้องของสหรัฐอเมริกาที่ต้องการให้ไทยผูกขาดข้อมูลยา โดยอ้างว่า เพื่อจัดการกับการใช้ข้อมูลที่ไม่เป็นธรรม เป็นข้อเรียกร้องที่เกินไปกว่าความตกลงขององค์การการค้าโลกที่ไทนผูกพันอยู่ ถ้าไทยยอมทำตามจะส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยาอย่างรุนแรง

"แม้สหรัฐฯจะใช้คำสวยหรูว่า กลไกที่ทรงประสิทธิภาพในการจัดการการใช้ข้อมูลที่ไม่เป็นธรรม แต่ที่จริงแล้ว สหรัฐฯต้องการให้ไทยผูกขาดข้อมูลทางยา (Data Exclusivity) ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการยาชื่อสามัญ บีบบังคับให้ผู้ป่วยไทยต้องใช้ยาต้นแบบเท่านั้น แม้ว่าจะไม่มีสิทธิบัตรผูกขาดแล้วก็ตาม ซึ่งจากงานวิจัยพบว่า จะทำให้ไทยต้องใช้งบประมาณด้านยาเพิ่มปีละไม่ต่ำกว่า 8 หมื่นล้านบาท และมีผลทำลายอุตสาหกรรมยาชื่อสามัญของไทยด้วย

ดังนั้น กรมทรัพย์สินทางปัญญาจึงต้องทำหน้าที่เพื่อสร้างสมดุลของระบบ ไม่ใช่คุ้มครองแต่เจ้าของสิทธิ์จนละเมิดสิทธิ์ของประชาชา และควรสร้างกลไกเพื่อส่งเสริมให้มีนวัตกรรมใหม่ด้านยา เช่น การใช้คู่มือในการตรวจสอบสิทธิบัตรยาอย่างเคร่งครัด เพื่อสกัดกั้นการขอสิทธิบัตรผูกขาดในยาเก่า เปิดทางให้ผู้ผลิตยาชื่อสามัญสามารถผลิตยาเข้าสู่ตลาดเพื่อให้เกิดการแข่งขัน" ดร.อุษาวดี กล่าว