2nd benefit

2nd benefit

หลักเกณฑ์การคัดเลือกกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ชุดที่ 2

iccp2 banner01 extend time

หลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนองค์กรผู้บริโภค
เพื่อเสนอชื่อผู้เชี่ยวชาญ และผู้แทนองค์กรผู้บริโภคระดับเขต
คัดเลือกกันเองเป็นคณะกรรมการเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค
..................................................................................................................

     ด้วยคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน  มีบทบาทสำคัญในการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งการให้ความเห็น ข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐ เช่น ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อ พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ จนมีคณะกรรมการทวงถามหนี้ในระดับจังหวัดและระดับประเทศซึ่งกำหนดให้มีผู้แทนองค์กรพัฒนาเอกชนในด้านการคุ้มครองผู้บริโภค การทำความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการแก้ไขปัญหาการส่งต่อผู้ป่วยในระบบการแพทย์ฉุกเฉินเพื่อให้การบริการมีคุณภาพผู้ป่วยไม่ถูกเรียกเก็บเงินเพิ่ม การตรวจสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน  รถยนต์ เชฟโรเลต  ครูซ และแคปติวา การเสนอให้ กสทช. ออกคูปองกล่องทีวีดิจิตอลในราคา  ๖๙๐ บาท  ซึ่งจะทำให้รัฐสามารถประหยัดงบประมาณไปได้เกือบ  ๗๐๐ ล้านบาท  งานศึกษาวิจัยสถานการณ์ความปลอดภัยของการบริโภคน้ำดื่มที่ผลิตจากเครื่องผลิตน้ำดื่มหยอดเหรียญ ยกระดับไปสู่นโยบายสาธารณะ ในเรื่องน้ำดื่มปลอดภัยของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ปี ๒๕๕๙ ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้ดำเนินงานมาครบตามวาระ ๔ ปี จึงจัดให้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการฯ ชุดใหม่ขึ้น

     ด้วยเหตุนี้ คอบช. จึงขอเชิญชวนองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศเพื่อเสนอชื่อบุคคลเป็นกรรมการ และร่วมคัดเลือกในวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๖๐ โดยมีกรรมการจำนวน ๑๕ คน ดังนี้

ก.  ผู้แทนจากผู้เชี่ยวชาญด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ๗ คน ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ จำนวน ๗ ด้าน ดังนี้
     (๑) ด้านการเงินและการธนาคาร
     (๒) ด้านการบริการสาธารณะ
     (๓) ด้านที่อยู่อาศัย
     (๔) ด้านบริการสุขภาพ
     (๕) ด้านสินค้าและบริการทั่วไป
     (๖) ด้านการสื่อสารและโทรคมนาคม
     (๗) ด้านอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ

ข. ผู้แทนจากองค์กรผู้บริโภคระดับเขต ๘ คน โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น ๘ เขต ดังนี้
     เขต ๑  ภาคกลาง
     ประกอบด้วย จังหวัดสิงห์บุรี อ่างทอง ลพบุรี นครนายก พระนครศรีอยุธยา นนทบุรี ปทุมธานี และสระบุรี

     เขต ๒  ภาคตะวันออก
     ประกอบด้วย จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ปราจีนบุรี สระแก้ว และสมุทรปราการ

     เขต ๓  ภาคอีสานตอนบน
     ประกอบด้วย จังหวัดอุดรธานี หนองบัวลำภู หนองคาย เลย  สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม ชัยภูมิและบึงกาฬ

     เขต ๔  ภาคอีสานตอนล่าง
     ประกอบด้วย จังหวัดมุกดาหาร ร้อยเอ็ด นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี และยโสธร

     เขต ๕  ภาคเหนือ
     ประกอบด้วย จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน พิษณุโลก ตาก เพชรบูรณ์ สุโขทัย
     อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ อุทัยธานี กำแพงเพชร ชัยนาทและพิจิตร

     เขต ๖  ภาคตะวันตก
     ประกอบด้วย จังหวัดนครปฐม สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์

     เขต ๗  ภาคใต้
     ประกอบด้วย จังหวัดชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง พัทลุง ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา และสตูล

     เขต ๘  กรุงเทพมหานคร

..................................................................................................................

๑. คุณสมบัติองค์กรผู้บริโภค


    องค์กรผู้บริโภคที่ประสงค์จะขอขึ้นทะเบียนเสนอชื่อบุคคลเพื่อคัดเลือกเป็นกรรมการเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค
    ๑.๑) เป็นองค์กรนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ เป็นคณะบุคคลตั้งแต่สิบคนขึ้นไป
    ๑.๒) มีวัตถุประสงค์และมีการดำเนินงานเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคโดยไม่แสวงหากำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกัน
    ๑.๓) องค์กรต้องเป็นอิสระ ไม่ถูกจัดตั้งหรือหรือตกอยู่ภายใต้อาณัติไม่ว่าทางตรงหรือโดยอ้อมของผู้ประกอบการ
    ๑.๔) มีผลการดำเนินงานเป็นที่ประจักษ์ต่อเนื่องมาแล้วไม่น้อยกว่า ๒ ปี นับถึงวันขึ้นทะเบียน

(แบบ ก.๑ แบบคำขอขึ้นทะเบียนองค์กรผู้บริโภคฯ >> doc | pdf)
(แบบ ก.๒ ประวัติและรายงานผลการดำเนินงานขององค์กรผู้บริโภคที่ใช้สิทธิเสนอชื่อกรรมการเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค >> doc | pdf)
(แบบ ข.๑ หนังสือรับรององค์กรผู้บริโภค >> doc | pdf)

..................................................................................................................

๒. การเสนอชื่อบุคคล


    องค์กรผู้บริโภคที่ประสงค์จะขอขึ้นทะเบียนเพื่อเสนอชื่อบุคคล สามารถเสนอชื่อบุคคลได้ ดังนี้
    ๒.๑) ผู้เชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่ง จำนวน ๑ คน (แบบ ก.๓๑ >> doc | pdf)
    ๒.๒) ผู้แทนระดับเขต จำนวน ๑ คน (แบบ ก.๓๒ >> doc | pdf)

..................................................................................................................

๓. วิธีการขึ้นทะเบียน


    ๓.๑) องค์กรผู้บริโภคที่ประสงค์จะขอขึ้นทะเบียนเพื่อเสนอชื่อบุคคล ให้ส่งแบบคำขอขึ้นทะเบียนองค์กร
    ๓.๒) แบบแสดงความสมัครใจของผู้ได้รับการเสนอชื่อ พร้อมเอกสารหลักฐานที่กำหนด
    ๓.๓) ช่องทางการส่งเอกสาร
            ๓.๓.๑) ส่งเอกสารด้วยตนเอง
            ๓.๓.๒) ทางอีเมล์ This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
            ๓.๓.๓) ส่งทางไปรษณีย์มาที่
                      สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.)
                      ๔/๒ ซ.วัฒนโยธิน แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร ๑๐๔๐๐

..................................................................................................................

๔. วิธีการคัดเลือก


    ๔.๑) สำนักงานเลขานุการ ตรวจสอบคุณสมบัติองค์กรผู้บริโภค จัดทำบัญชีรายชื่อผู้แทนองค์กรผู้บริโภคเขต และบัญชีรายชื่อผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ
    ๔.๒) ประกาศบัญชีรายชื่อองค์กรผู้บริโภคที่มีสิทธิคัดเลือกกรรมการ และรายชื่อกรรมการที่มีสิทธิเลือกตั้งต่อสาธารณะ
    ๔.๓) จัดประชุมผู้แทนองค์กรผู้บริโภคที่ได้รับการขึ้นทะเบียน เพื่อคัดเลือกกันเองให้ได้คณะกรรมการ เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ๑๕ คน โดยคำนึงถึงสัดส่วนหญิงชายที่ใกล้เคียงกัน

(๑) ผู้แทนจากผู้เชี่ยวชาญ
    ก. ให้ผู้แทนองค์กรผู้บริโภคที่มาประชุม ลงคะแนนคัดเลือกจากบัญชีรายชื่อผู้เชี่ยวชาญทั้ง ๗ ด้านโดยองค์กรผู้บริโภค มีสิทธิลงคะแนนเลือกผู้เชี่ยวชาญด้านละ ๑ คนเท่านั้น
    ข. นับคะแนน และจัดทำบัญชีรายชื่อผู้เชี่ยวชาญที่คะแนนสูงสุดพร้อมบัญชีสำรองด้านละ ๕ คน
    ค. ผู้ได้รับคะแนนสูงสุด เป็นผู้ได้รับการคัดเลือกเป็นกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านนั้นๆ

(๒) ผู้แทนจากองค์กรผู้บริโภคระดับเขต
    ก. แบ่งกลุ่มผู้แทนองค์กรผู้บริโภคที่มาประชุม ๘ กลุ่ม ตามเขตพื้นที่
    ข. ให้ที่ประชุมแต่ละกลุ่มคัดเลือกกันเองให้ได้ผู้แทนองค์กรผู้บริโภคในเขตนั้นๆ จำนวน ๑ คน และขึ้นบัญชีสำรองไว้ ๕ คน
    ค. วิธีการคัดเลือก ให้เป็นไปตามที่ประชุมในแต่ละเขตพื้นที่กำหนด

..................................................................................................................

๕. กำหนดการขึ้นทะเบียนและคัดเลือกกันเอง

ระยะเวลา

การดำเนินการ

  • 5 ก.พ. – 2 มี.ค. 60
    (ขยายเวลาถึง 7 มี.ค.60)
  • ประกาศและรับขึ้นทะเบียนองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ และให้เสนอชื่อกรรมการผู้เชี่ยวชาญและกรรมการเขต
  • 2 – 7 มี.ค. 60
  • ตรวจสอบเอกสารและคุณสมบัติองค์กรผู้บริโภคและผู้แทนองค์กรผู้บริโภค
  • 8 – 12 มี.ค. 60
  • ประกาศบัญชีรายชื่อองค์กรผู้บริโภคที่มีสิทธิคัดเลือกกรรมการ และรายชื่อผู้มีสิทธิที่ได้รับการคัดเลือกเป็นกรรมการต่อสาธารณะ
  • 14 - 15 มี.ค. 60
  • ร่วมงานรณรงค์วันสิทธิผู้บริโภคสากล
  • 15 มี.ค. 60 (ตั้งแต่ 13.00 น.)

 

  • จัดประชุมผู้แทนองค์กรผู้บริโภคเพื่อคัดเลือกคณะกรรมการเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค

การดำเนินงานในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการทำหน้าที่คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.)  กรณีมีเหตุอื่นใดนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในประกาศฉบับนี้ หรือมีข้อโต้แย้งอันเนื่องมาจากการตีความและวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามประกาศนี้ ให้จัดประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการเพื่อวินิจฉัย และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการบริหารโครงการถือเป็นที่สุด

ประกาศ ณ วันที่ ๕ กุมภาพันธ์  ๒๕๖๐

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณแววดาว, คุณมลฤดี หรือคุณโสภณ
หมายเลขโทรศัพท์ 02-248-3737 ต่อ 121-123
หรือ 089-764-9153, 086-890-2400
(จันทร์ - ศุกร์ เวลา 09.00 - 17.00 น.)
--------------------------------------------------