2nd benefit

2nd benefit

พะเยาจัดเวทีสภาผู้บริโภคจังหวัด สานพลังขับเคลื่อนงานด้านคุ้มครองผู้บริโภค

วันนี้ (28 มีนาคม 2560) ณ ห้องประชุมสหกรณ์การเกษตรเมืองพะเยา จำกัด อ.เมือง จ.พะเยา มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา ร่วมกับคณะกรรมการสภาผู้บริโภคฯและเครือข่ายสร้างบ้านแปงเมืองพะเยา ได้จัดเวทีสภาผู้บริโภคจังหวัดพะเยา โดยมี นายปานทอง สระคูพันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา ให้เกียรติเป็นประธานในการเปิดประชุมพร้อมให้ข้อคิดแก่ผู้เข้าร่วม และเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคและประชาชนจากเครือข่ายต่าง ๆ จำนวน 100 คน ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการติดตามสถานการณ์และการดำเนินงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค และให้ผู้บริโภคร่วมกันเสนอแนะแนวทางการออก เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคและมีข้อเสนอให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาร่วมกันต่อไป

การคุ้มครองประชาชนเป็นหน้าที่ของรัฐที่พึงดำเนินการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ อีกทั้งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองที่ต้องได้รับความคุ้มครองจากรัฐ ให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีคุณภาพ และเป็นหน้าที่ของรัฐบาลต้องดำเนินการโดยอาศัยกระบวนการทางกฎหมาย เพื่ออำนวยความยุติธรรมและสร้างความเสมอภาคอย่างเป็นรูปธรรมแก่ประชาชน ทุกคน แต่ในความเป็นจริงในปัจจุบันกลับพบว่าทุกข์ของผู้บริโภคที่มีอย่างต่อเนื่องในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งข้อมูลการร้องเรียนที่ศูนย์คุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดพะเยาได้ดำเนินการพบว่า 

ปัญหาด้านอาหาร ยา เครื่องสำอาง เป็นอันดับต้น ๆ ที่พบทั้งปัญหา อาหารหมดอายุแล้วยังนำมาจำหน่ายในห้างร้าน วันที่ผลิต วันหมดอายุ ไม่ชัดเจน ฉลากกำกับไม่เป็นภาษาไทย ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่โฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเสมือนยารักษาโรค โดยที่ไม่มีการควบคุม หรือกำกับดูแลอย่างทั่วถึง เช่น ผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนัก เร่งผิวขาว หน้าเด้ง หน้าใส หรือแม้กระทั่งผลิตภัณฑ์ที่เสริมสมรรถภาพทางเพศ ก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้บริโภค

ด้านสื่อและโทรคมนาคม พบว่า มีลักษณะของการได้รับซิมฟรีแล้วถูกเรียกเก็บเงินภายหลังทั้งที่ไม่ได้เปิดใช้บริการคือปัญหาสูงสุดในขณะนี้ รองลงมาคือปัญหาวันหมด แต่เงินไม่หมด แต่ไม่สามารถใช้งานโทรศัพท์ได้ ตลอดจนการตั้งเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ที่ใกล้กับชุมชนและเป็นอันตรายต่อประชาชน ซึ่งถือว่าเป็นความหละหลวมในการบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

บริการสาธารณะ มีเรื่องร้องเรียนมากที่สุดคือ การให้บริการของระบบขนส่งสาธารณะ รถโดยสารขนาดใหญ่จะพบปัญหาเรื่องอุบัติเหตุ การเก็บค่าโดยสารแพงเกินจริง ขับรถหวาดเสียวทำให้เกิดความไม่ปลอดภัย, พูดจาไม่สุภาพตวาดผู้โดยสาร, ทิ้งผู้โดยสารระหว่างทาง รถตู้โดยสาร มีปัญหาด้านการบรรทุกเกินจำนวน การรถรับส่งนักเรียนที่ผิดระเบียบที่ได้มีป้ายหรือไฟกระพริบ

ทุกข์ของผู้บริโภคที่มีอย่างต่อเนื่องสารพัดรูปแบบ หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องอาจไม่สามารถคุ้มครองผู้บริโภคได้ทั้งหมด ผู้บริโภคจึงควรลุกขึ้นมาจัดการปัญหาของตนเอง โดยเริ่มจาก
ประการแรกคือ ผู้บริโภคจะต้องมีข้อมูลให้เท่าทันสถานการณ์เพื่อใช้รับมือ รวมทั้งเป็นเกราะป้องกันตัวจากการถูกเอารัดเอาเปรียบ
ประการที่สอง การปรับปรุงพัฒนากฎหมายที่มีอยู่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัญหาผู้บริโภคในปัจจุบัน
ประการที่สาม ต้องบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่อย่างจริงจัง และให้เกิดประสิทธิภาพ 

กลุ่มองค์กรและเครือข่ายภาคประชาชนที่มีการทำงานในประเด็นการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคของ จ.พะเยาจึงได้รวมกลุ่มเพื่อจัดตั้ง “สภาผู้บริโภคจังหวัดพะเยา” ซึ่งมีบทบาทหน้าที่
1.เป็นตัวแทนของผู้บริโภคในการประสานนโยบาย และดำเนินงาน ร่วมกับท้องถิ่น หน่วยงานรัฐ และภาคเอกชน
2.สนับสนุนการมีส่วนร่วมและการรวมตัวกันของผู้บริโภคในการจัดตั้งองค์กรผู้บริโภค
3.ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ที่มีพลังในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค
4.ให้คำปรึกษา และให้ข้อเสนอแนะแก่ท้องถิ่น และหน่วยงานของรัฐเพื่อการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค
5.สนับสนุน เผยแพร่ความรู้และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค

เนื้อหาและภาพข่าวจาก facebook fanpage มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา