2nd benefit

2nd benefit

นายกเทศมนตรีบ้านเพชรนัดหารือทางออกตั้งเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ในชุมชม หลังได้รับเรื่องร้องเรียน


2 มิ.ย. 62 ศูนย์ข่าวผู้บริโภคภาคอีสานรายงานว่า ทางนายกเทศมนตรีบ้านเพชร บ้านเพชรภูเขียว อ.ภูเขียว จ.ชัยภูมิ จัดประชุมรับฟังข้อมูลหลังมี กลุ่มชาวบ้านที่ร้องเรียนเรื่องเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ในชุมชนที่ตั้งมากว่า 13 ปี อาจจะส่งผลกระทบต่อการเป็นมะเร็งสมองซึ่งมีผู้ป่วยจำนวน 1 ราย ทำให้คนในชุมชนต้องการให้ย้ายเสาออกห่างจากชุมชน และมีชาวบ้านที่บ้านใกล้เสาเพียง 7 เมตรนอนไม่ได้ ต้องไปนอนที่ทุ่งนาเพราะปวดหัวที่ผ่านมาฟ้าผ่าจึงเกิดความกลัว

ศาลเลื่อนไต่สวนนัดแรก คดีเกษตรกรยื่นฟ้องบริษัทนำเข้าและจำหน่ายสารเคมี เหตุทนายบริษัทสารเคมีทำคำร้องคัดค้านไม่ทัน

ศูนย์ข่าวผู้บริโภคภาคอีสานรายงานว่า ที่ศาลจังหวัดหนองบัวลำภู มีการนัดพิจารณาคดี วันจันทร์ ที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 10.00 น. กรณีกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้สารเคมีทางการเกษตร จำนวน 16 ราย รวมกลุ่มฟ้องบริษัทนำเข้าและจำหน่ายสารเคมี เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2562 ซึ่งมีเครือข่ายทนายความเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายผู้บริโภคภาคอีสาน มาช่วยเหลือคดีนี้ให้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ

โรงเรียนใส่ใจ ผู้ปกครองอุ่นใจ ความปลอดภัยรถรับส่งนักเรียน


เครือข่ายผู้บริโภคภาคอีสาน ร่วมกับเครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดสุรินทร์ ลงพื้นที่โรงเรียนศรีขรภูมิพิสัย เช็คสภาพรถรับส่งนักเรียนกว่า 57 คัน พบคันที่ไม่ผ่านการตรวจสภาพทางขนส่งจังหวัดแนะให้กลับไปปรับปรุงก่อนนำมาวิ่งรับส่งนักเรียน

สภาผู้บริโภคภาคอีสาน เรียกร้องตั้งกองทุนชดเชยเยียวยาผู้ประสบเหตุจากรถโดยสารสาธารณะ


องค์กรผู้บริโภคภาคอีสานและผู้เสียหายจากรถโดยสารสาธารณะเรียกร้องให้มีกองทุนชดเชยเยียวยาผู้ประสบเหตุจากรถโดยสารสาธารณะ

ผู้บริโภคภาคอีสาน หารือขนส่งฯหาทางออกเหยื่ออุบัติเหตุรถทัวร์นำเที่ยวตกเขา

เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคอีสาน เข้าแจ้งสิทธิแก่ผู้ได้รับบาดเจ็บและญาติผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถทัวร์นำเที่ยว เสียหลักตกเขาบริเวณอ.วังน้ำเขียว พร้อมพูดคุยเรื่องความร่วมมือและการยกระดับมาตรฐานรถโดยสารสาธารณะ

เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคอีสาน สนับสนุนให้มีกฎหมายสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ

 
 
   วันนี้ วันพุธที่ ๑ พฤศจิกายน  ๒๕๖๐ ตั้งแต่เวลา ๐๘.๓๐-๑๕.๐๐ น. ทีโรงแรมบ้านเชียง อ.เมือง จ.อุดรธานี สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายว่าด้วยหลักเกณฑ์  และวิธีการจัดตั้งองค์กรที่มีความเป็นอิสระตามมาตรา ๔๖  รัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๐   ที่ผ่านมาทางคณะยกร่างกฎหมายซึ่งมี สคบ.ทำหน้าที่เป็นเลขานุการได้ทำการยกร่างเสร็จแล้วและกำลังจัดรับฟังในภูมิภาคต่างๆ เพื่อให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ต่อไป  มีผู้เข้าร่วม ประมาณ 315 คน ในวันนี้มีผู้แทนเครือข่ายภาคประชาชนที่ดำเนินงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในภาคอีสาน  ๑๔  จังหวัด  จากจังหวัดขอนแก่น  กาฬสินธุ์  ร้อยเอ็ด  เลย  หนองบัวลำภู  หนองคาย  อุดรธานี  สกลนคร  นครพนม  บึงกาฬ  นครราชสีมา  อุบลราชธานี  มุกดาหาร  อำนาจเจริญ   
 
       ทางด้านนายปฏิวัติ  เฉลิมชาติ  ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคอีสานกล่าวว่า  กฎหมายว่าด้วยองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นกฎหมายที่ภาคประชาชนขับเคลื่อนมา ๒๐ ปี ตั้งแต่ปี ๒๕๔๐ ที่อยู่ในมาตรา ๕๗ จนมารัฐธรรมนูญปี ๒๕๕๐ ในมาตรา ๖๑ และรัฐธรรมนูญปี  ๒๕๖๐ ฉบับปัจจุบันในมาตรา ๔๖ ระบุว่า  สิทธิของผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครอง  และบุคคลย่อมมีสิทธิรวมตัวกันจัดตั้งองค์กรของผู้บริโภคเพื่อคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค  และองค์กรของผู้บริโภคมีสิทธิรวมตัวกันจัดตั้งเป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระเพื่อให้เกิดพลังในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค  โดยได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากรัฐให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ  ทางภาคประชาชนโดยคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค  ภาคประชาชน (คอบช.) ได้ยกร่างกฎหมายโดยใช้ชื่อพระราชบัญญัติสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติใช้ประกอบร่างกฎหมายที่ สคบ.ยกร่างและใช้เป็นฉบับรับฟังความคิดเห็น  ซึ่งมีประเด็นที่ต้องการให้เพิ่มเติมเนื้อหาในการรับฟัง  ดังนี้
๑. ชื่อกฎหมายควรใช้ชื่อ  สภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ จะสะท้อนถึงสถานะองค์กรที่เป็นตัวแทนผู้บริโภคในระดับประเทศได้มากกว่าและการสนับสนุนการรวมตัว  รวมพลังของผู้บริโภค
๒.ความเป็นอิสระของการสนับสนุนงบประมาณ   ควรเป็นเงินอุดหนุนทั่วไปที่รัฐบาลจัดสรรให้โดยตรงเป็นรายปีจากงบประมาณแผ่นดินประจำปีโดยรัฐบาลนำมาจัดสรรให้เป็นจำนวนที่เพียงพอสำหรับการบริหารงานโดยอิสระของคณะกรรมการและค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการดำเนินงานขององค์การแต่ต้องไม่น้อยกว่าห้าบาทต่อหัวประชากรเพราะการให้เงินอุดหนุนแบบรายหัวประชากร  จะเป็นหลักประกันด้านงบประมาณขั้นต่ำขององค์กรในการดำเนินงานที่เพียงพออย่างเป็นอิสระและยั่งยืนเพื่อการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค
๓. องค์ประกอบของคณะกรรมการจำนวนที่แน่นอนคือ ๑๙ คน และสัดส่วนของคณะกรรมการเขตพื้นที่ที่เป็นตัวแทนของผู้บริโภคมากกว่าสัดส่วนผู้เชี่ยวชาญ โดยมีผู้เชี่ยวชาญ ๙ คน, ผู้แทนเขต ๑๐ คน ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้บริโภคทั้งประเทศ 
๔. อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ  คือการสนับสนุนการรวมตัวกันของผู้บริโภคในระดับเขตพื้นที่และจังหวัดในรูปแบบต่างๆ  เช่นสภาผู้บริโภคจังหวัด  และอำนาจในการฟ้องคดีแบบกลุ่ม
๕. ควรแก้ไขจากการมีผู้อำนวยการ  เป็นตำแหน่งเลขาธิการ ซึ่งจะฐานะ  บทบาทเหมือนกับเลขาธิการสำนักงาน  สคบ.,เลขาธิการ อย. เป็นต้น
 
       ทางด้านนางสาวสายอรุณ  แก้วมุงคุณ  ผู้ประสานงานศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน จ.สกลนคร ให้ความเห็นต่อร่างกฎหมายฉบับนี้ว่า  ควรใช้ชื่อสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ  เป็นชื่อที่สะท้อนถึงตัวแทนองค์กรที่มีการรวมตัวกันให้เกิดพลังของผู้บริโภค , ส่วนประเด็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการที่ต้องการเพิ่มเติมคือการสนับสนุนการรวมตัวกันขององค์กรผู้บริโภคในระดับเขตพื้นที่  และจังหวัดในรูปแบบต่างๆ เช่นภาผู้บริโภคจังหวัดและอำนาจในการฟ้องคดีแบบกลุ่มได้ 
 
■ นายศตคณ  คนไว  : ศูนย์ข่าวผู้บริโภคภาคอีสาน  รายงาน  

เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคภาคอีสาน ร่วมกิจกรรมสนับสนุนการแบนสารพิษ

วันนี้ (19 ก.ย.60) หน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นฯ อ.นากลากลาง และเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดหนองบัวลำภู ร่วมกิจกรรมรวมพลังสนับสนุนการแบนสารพิษ ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ณ ศาลากลางจังหวัดหนองบัวลำภู

 

 จังหวัดขอนแก่น

 

จังหวัดยโสธร

 

จังหวัดมหาสารคาม

เครือข่าย ปชช.ชาวกาฬสินธุ์ ยื่นหนังสือถึงนายกฯตู่ วอนยุติกระบวนการแก้ไข ก.ม.บัตรทอง



วันนี้ (18 ก.ค.60) เวลา 11.10 น. ณ ห้องประชุมศูนย์ดำรงธรรม ศาลากลางจังหวัดกาฬสินธุ์ กลุ่มศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน (เครือข่ายผู้หญิง) จ.กาฬสินธุ์ ผู้แทนเครือข่ายเยาวชนและผู้แทนเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี จ.กาฬสินธุ์ นำโดย นายทรัพย์สุริยา อุทโท ได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เรื่องขอให้ยุติกระบวนการแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยมีนายมงคล อดทน รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์และหัวหน้าศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์ รับหนังสือพร้อมทั้งแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับเนื้อหาที่ประชาชนจะเสียประโยชน์จากการแก้ไข พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พศ.๒๔๕๔ หรือกฎหมายบัตรทอง


         นายทรัพย์สุริยา อุทโท ผู้แทนเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า วันนี้ตนเองได้รับมอบหมายจากเครือข่ายให้มายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี กรณีให้ยุติกระบวนการแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ติดตามกระบวนการแก้ไขกฎหมายเห็นว่ายังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน อีกทั้ง 15 ปีที่ผ่านมาของการใช้กฎหมายดังกล่าวประชาชนได้รับประโยชน์โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้ยาที่เคยมีปัญหาอุปสรรคการเข้าถึงยาเพราะราคาแพง เมื่อ สปสช.จัดซื้อยาทำให้กลุ่มตนเข้าถึงยา สามารถลดปัญหาโรคแทรกซ้อน การเสียชีวิต เมื่อเนื้อหาการแก้ไขโดยรวมแล้วทำลายเจตนารมณ์ระบบหลักประกันสุขภาพที่คุณหมอสงวน นิตยารัมย์พงศ์ เป็นผู้บุกเบิก เช่น สัดส่วนคณะกรรมการที่เพิ่มกลุ่มผู้แทนผู้ให้บริการมากกว่าผู้แทนภาคประชาชน จะกลายเป็นคณะกรรมการของหน่วยบริการโน้มเอียงที่จะปกป้องผลประโยชน์ของกลุ่มตนมากกว่าประโยชน์ของประชาชน

         ส่วนในเรื่องการให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้จัดซื้อยาแทน สปสช.ย่อมมองไม่เห็นหลักประกันว่ากลุ่มผู้ป่วยจะเข้าถึงยาและยาที่ใช้รักษาโรคที่พบไม่บ่อยที่เรียก กันว่ายากำพร้า ยิ่งเคยมีกรณีการทุจริตซื้อยาในกระทรวงสาธารณสุข 1,400 ล้านบาท ยิ่งหมดหวัง หากกระบวนการแก้ไขกฎหมายแย่ยิ่งกว่าเดิม ทางกลุ่มตนพร้อมที่จะเคลื่อนไหวอย่างถึงที่สุดเพราะเป็นเรื่องของชีวิต ย่อมเดิมพันกันด้วยชีวิต นายทรัพย์สุริยากล่าว


         ด้าน นางเยาวรัตน์ ไชยหอม ผู้ทำงานกับกลุ่มเยาวชนในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า การแก้ไขกฎหมายบัตร ซึ่งเป็นเรื่องที่กระทบกับคนชนบทเป็นอย่างมาก เพราะดูจากเนื้อหาหลักๆ แล้ว ไม่มีหลักประกันใดๆ ให้ประชาชน เช่น เรื่องของการจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่มีแนวโน้มว่าประชาชนจะต้องร่วมจ่ายมากขึ้น เป็นภาระของประชาชนที่อาจต้องขายทรัพย์สินที่มีอยู่เพื่อนำมาจ่ายค่ารักษาพยาบาล รวมถึงการขาดแคลนหมอที่จะส่งผลให้หมอย้ายไปอยู่ในโรงพยาบาลใหญ่ๆ หรือเมืองที่เจริญแล้ว

         ซึ่งหากแก้แล้วแย่จริงๆ ทางเครือข่ายของตนก็พร้อมที่จะเคลื่อนไหวให้ถึงที่สุด เพื่อปกป้องและสืบสานเจตนารมณ์ระบบหลักประกันสุขภาพที่คุณหมอสงวน นิตยารัมย์พงศ์ เป็นผู้ริเริ่มต่อไป นางเยาวรัตน์กล่าว

(นายศตคุณ คนไว : ศูนย์ข่าวผู้บริโภคภาคอีสาน)

หยุด! แก้ ก.ม.บัตรทอง รัฐต้องคุ้มครองสิทธิพื้นฐานการรักษาพยาบาลของ ปชช.

แถลงการณ์เครือข่ายซาวอีสานซอมเบิ่งบัตรทอง

หยุด ! แก้กฎหมายบัตรทอง รัฐต้องคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานการรักษาพยาบาลของประชาชน

          ตามที่มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 37/2559 ตามอำนาจมาตรา 44 ระบุให้มีการแก้ไขการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายของหน่วยบริการและเครือข่ายหน่วยบริการตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 และต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ลงนามคำสั่งกระทรวงสาธารณสุข ที่ 10/2560 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อเปิดทางให้มีการแก้ไข ปรับปรุง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545

          ต่อมาคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายฯ ได้จัดตั้งอนุกรรมการจัดประชาพิจารณ์ 4 ภูมิภาค ซึ่งกระบวนการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวได้ดำเนินการแล้วเสร็จไปทุกภูมิภาค ภายในระยะเวลาเพียง 21 วัน และกระบวนการจัดทำประชาพิจารณ์ดังกล่าวก็ถูกคัดค้านจากประชาชนทั้งประเทศ เพราะเห็นว่าการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติครั้งนี้ ไม่มีความชอบธรรมและละเมิดหลักการการมีส่วนร่วมของประชาชน จึงแสดงออกซึ่งการคัดค้านมีทั้งการวอล์คเอ้าท์ การจัดเวทีคู่ขนาน และการล้มเวทีประชาพิจารณ์ แต่คณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายฯ ยังเพิกเฉยความต้องการของประชาชน เดินหน้ากระบวนการรับฟังจนสิ้นสุด เพราะกลุ่มที่ผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ มีเจตนาเพื่อล้มหลักการของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประชาชน

          โดยในวันที่ 13 กรกฎาคม ที่ผ่านมา คณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายฯ ได้ประชุมพิจารณาร่างกฎหมาย โดยไม่ได้ฟังเสียงคัดค้านของประชาชนทั่วประเทศ ยิ่งเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่ากระบวนการรับฟังความคิดเห็นจอมปลอม ที่จัดขึ้นเป็นเพียงพิธีกรรมเพื่อแอบอ้างว่ามีการรับฟังเสียงของประชาชาชน ทั้งที่กระบวนการดังกล่าวนั้นไม่มีความยึดโยงกับประชาชน ประชาชนไม่มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

จากกระบวนการแก้ไขกฎหมายที่ไม่ชอบธรรมดังกล่าว ทางเครือข่ายซาวอีสานซอมเบิ่งบัตรทอง จึงมีข้อเรียกร้องและขอประกาศจุดยืน ต่อการ แก้ไข พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ดังนี้

1. ให้รัฐบาลยกเลิกการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 และยุติกระบวนการใดๆ ที่จะนำไปสู่การแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ภายใต้บรรยากาศที่ไม่เป็นประชาธิปไตย

2. กฎหมายหลักประกันสุขภาพถ้านหน้าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในการรักษาพยาบาลของประชาชน การแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ต้องดำเนินการภายใต้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

3. ทางเครือข่ายฯ พร้อมที่จะเคลื่อนไหวทุกที่ ทุกเวลา และทุกรูปแบบ จนกว่ากระบวนการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ไม่ชอบธรรมและละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนจะยุติลง

          เครือข่ายฯ ยืนยันในหลักการว่า “ประชาชนต้องมีสิทธิรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย สิทธิในการรักษาพยาบาลเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน ที่ต้องถือปฏิบัติและรัฐต้องจัดให้มีสวัสดิการในการรักษาพยาบาลให้กับประชาชน อย่างเท่าเทียม เป็นธรรม โดยไม่ต้องร้องขอ” และทางเครือข่ายจะเคลื่อนไหวต่อไปจนกว่าคนจะมีสิทธิความเป็นคน

ด้วยจิตคารวะ
14 กรกฎาคม 2560

เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคอีสาน จัดเวทีสังเคราะห์เรื่องร้องเรียน

news khonkaen 161259-01

สองวันกับการสรุปบทเรียน พัฒนาเทคนิคงานรับเรื่องร้องเรียนของภาคอีสานใน 9 จังหวัดมีเรื่องร้องเรียนทั้งหมด จนถึงเดือนพฤศจิกายน นี้ จำนวน 211 เรื่อง เป็นปัญหาเรื่องบริการบริการสุขภาพมากสุดถึง 55เรื่อง รองลงมาเป็นเรื่องสื่อและโทรคมนาคม 27 เรื่อง อาหารยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ 24 เรื่อง โดยมากกว่า 50% เป็นเรื่องร้องเรียนของจังหวัดขอนแก่น นอกจากนี้ยังวางแผนในการพัฒนาองค์กรผู้บริโภคคุณภาพในภาคอีสาน

news khonkaen 161259-02

 

ร้องผู้ตรวจฯ สอบ 'กสทช.' ตั้งเสาโทรศัพท์ไม่รับฟังประชาชน

 

telecom post news 

สมาคมผู้บริโภคร้องผู้ตรวจฯ สอบ "กสทช." เหตุตั้งเสาโทรศัพท์ไม่รับฟังความเห็นปชช. ชี้องค์การอนามัยโลกเคยเตือนคลื่นวิทยุเสี่ยงมะเร็ง

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 23 พ.ย. ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน สมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น พร้อมด้วยประชาชนใน จ.ขอนแก่น ศรีสะเกษ และจ.นครราชสีมา เข้ายื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อคัดค้านการตั้งเสาส่งสัญญาณโทรคมนาคมในเขตชุมชน โดยไม่มีการจัดรับฟังความเห็นของคนในชุมชนตามประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เพราะเกรงผลกระทบจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ยังล่าช้าต่อการแก้ไขเรื่องร้องเรียน ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย โดยมีนายธาวิน อินทร์จำนง รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นผู้รับเรื่อง 

นายปฏิวัติ เฉลิมชาตินายปฏิวัติ เฉลิมชาติ ผู้จัดการสมาคมฯ ระบุว่า สมาคมฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคกรณีการตั้งเสาส่งสัญญาณโทรคมนาคมในชุมชน ซึ่งยังไม่สามารถยุติปัญหาได้ และร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่มีความคืบหน้าในการจัดการปัญหา 

โดยมีข้อร้องเรียนได้แก่ ความกังวลเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพ การไม่จัดรับฟังความเห็นของคนในชุมชน การตั้งเสามีกระบวนการทำงานระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสำนักงาน กสทช. ไม่สอดคล้องกัน ความล่าช้าของสำนักงาน กสทช.ในการแก้ไขเรื่องร้องเรียนของประชาชน ไม่สามารถยุติปัญหาได้ เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 มาตรา 46 ที่บัญญัติให้คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับเรื่องร้องเรียน 

และสำนักงาน กสทช.มีการโฆษณาว่า คลื่นวิทยุจากเสาส่งสัญญาณมือถือไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ แต่เมื่อกลางปี ค.ศ.2011 องค์การอนามัยโลกได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 208 ประกาศให้คลื่นวิทยุเป็นสารเสี่ยงมะเร็งในกลุ่ม 2B ดังนั้นจึงถือว่าเป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนและเป็นเท็จต่อประชาชน

 

โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
วันที่ 23 พฤศจิกายน 2559, 19:48
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/728807

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

“บัตรทองต้องเดินหน้า หลังประชามติต้องไม่แย่กว่าเดิม”

khonkaen news 250759 for web

วันนี้ 25 กรกฎาคม 2559 เวลา 13.00 น. ที่โรงแรมอวานี อ.เมือง จ.ขอนแก่น กระทรวงสาธารณสุขจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อกลไกอภิบาลระบบสุขภาพและแผนด้านสุขภาพระดับชาติ ในส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อกลุ่มคนอีสานรักหลักประกันสุขภาพ นำโดยคุณเทพรักษ์ คุณม้วน ถิ่นวิลัย ทราบข่าวจึงร่วมกันไปยื่นหนังสือในประเด็นข้อเสนอต่อการปฏิรูประบบสุขภาพ ต่อ นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมาเปิดงานและเดินทางกลับในช่วงเช้า จึงได้ยื่นข้อเสนอต่อ นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ รอง ผอ.สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ ประเด็นในการยื่นมีหลายประเด็น เช่น รมต.สาธารณสุขหยุดคุกคามบัตรทอง หยุดแทรกแซง สปสช. , การไม่บังคับการร่วมจ่าย ณ จุดบริการ, แยกระบบผู้ซื้อบริการ-ผู้ใช้บริการ, กระจายบุคลากรทางการแพทย์ไปชนบท, ประชาชนต้องมีส่วนร่วมต่อการแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพ


แถลงการณ์ ประกาศเจตนารมณ์ระบบหลักประกันสุขภาพ
“บัตรทองต้องเดินหน้า หลังประชามติต้องไม่แย่กว่าเดิม”
*********************************

     จากการที่เครือข่ายประชาชนที่ขับเคลื่อน ผลักดันจนเกิดระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีกฎหมายออกมาคือ พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ถือว่าเป็นกฎหมายฉบับแรกที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่าง ออกแบบให้ประชาชนคนไทยไม่ล้มละลายจากการรักษาพยาบาล มีกลไกการคุ้มครองสิทธิ ประชาชนมีส่วนร่วมทั้งระดับประเทศ ภาค จังหวัดและท้องถิ่น นับเป็นเวลา 14 ปีแล้วที่คนไทยทุกคนเข้าถึงระบบหลักประกันสุขภาพไม่มีภาระด้านค่าใช้จ่าย ถือเป็นการจัดสวัสดิการให้กับประชาชนและทั่วโลกยอมรับ

     หากนับย้อนเวลากลับไป ต้นปี 2555 เป็นต้นมา มีคนกลุ่มหนึ่งที่พยายามสร้างกระแส ทำให้ระบบบริการมีปัญหาเพื่อนำไปสู่การยุบ เลิก หรือแก้ไขสาระสำคัญของ พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติและเหตุการณ์อื่นๆที่ส่งผลภาวะภัยคุกคามต่อระบบหลักประกันสุขภาพ เช่น การที่ สตง., คตร. เข้ามาตรวจสอบการใช้เงินของ สปสช. ถือว่าเป็นเรื่องดีหรือมีนัยยะอื่นๆ การย้ายนายแพทย์วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช., การแก้ พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 โดยขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนและล่าสุดการคัดเลือกเลขา สปสช. ที่พยายามมิให้คนที่เหมาะสม มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาระบบให้ดีต่อไปเข้ามาบริหาร พยายามเอาพรรคพวกของตนเข้ามาบริหาร ยึดกุมทิศทาง

     อีกทั้งที่ผ่านมามีประเด็นที่พยายามทำผิดเจตนารมณ์ของระบบหลักประกันสุขภาพ เช่น การให้ประชาชนทุกคนร่วมจ่ายที่จุดบริการ, การแยกเงินเดือนออกจากค่าหัวบัตรทองซึ่งไม่ควรแยก คนอยู่ไหนเงินอยู่ที่นั่นและเรื่องค่าใช้จ่ายของผู้มาใช้บริการ(สิทธิบัตรทอง) เป็นภาระของประเทศ ซึ่งบัตรทองคือการลงทุนเพื่อสุขภาพไม่ใช่ภาระ รวมถึงสถานการณ์หลังออกเสียงประชามติรัฐธรรมนูญ บัตรทองต้องไม่ล้มและไม่แย่กว่าเดิม

     พวกเราในนามคนอีสานรักหลักประกันสุขภาพ ขอประกาศเจตนารมณ์ของระบบหลักประกันสุขภาพ ดังนี้ ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าคือสิทธิของประชาชนไทย ที่จะได้รับบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพ มาตรฐาน อย่างเสมอหน้า ด้วยเกียรติและศักดิ์ศรีที่เท่าเทียมกัน ไม่ใช่การสงเคราะห์หรือร้องขอ โดยมีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นหน่วยบริหารจัดการ เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงสิทธิอย่างมีคุณภาพ

     ระบบหลักประกันสุขภาพมีเป้าหมายเพื่อ เป็นหลักประกันสุขภาพให้คนไทยว่าเมื่อเจ็บป่วยจะได้รับการรักษา โดยรัฐจัดหาบริการด้านการดูแลรักษาที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพ

     สิทธิที่ประชาชนได้รับจากระบบหลักประกันสุขภาพ จะได้รับบริการในด้านการรักษา ส่งเสริม ป้องกันและฟื้นฟู จากการมีส่วนร่วมในระบบหลักประกันสุขภาพที่มากไปกว่าการเป็นผู้รับบริการ ได้แก่ การมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย การบริหาร การพัฒนาระบบ รวมทั้งการคุ้มครองสิทธิทั้งในระดับชาติ ระดับพื้นที่

     เราขอเรียกร้องให้เครือข่ายแพทย์พาณิชย์ ธุรกิจยา หยุดพฤติกรรมล้มบัตรทอง หยุดหาประโยชน์ส่วนตัวบนความทุกข์ของประชาชน ผู้ใดทำลายระบบหลักประกันสุขภาพ เท่ากับทำสงครามกับประชาชน ระบบหลักประกันสุขภาพเดินหน้าได้ต้องมาจากการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย

“ร่วมปกป้องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้เป็นรัฐสวัสดิการเพื่อคนไทย”

ด้วยความคารวะ 25 กรกฎาคม 2559
เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคอีสาน, เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีจังหวัดขอนแก่น,
ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบจังหวัดขอนแก่น, เครือข่าย 9 ด้าน 4 จังหวัด (ขอนแก่น,ร้อยเอ็ด,มหาสารคาม,กาฬสินธุ์),
ศูนย์ประสานงานสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทยสาขาจังหวัดขอนแก่น,
ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน 4 จังหวัด (ขอนแก่น,ร้อยเอ็ด,มหาสารคาม,กาฬสินธุ์)

khonkaen news 250759 for web 02

ผู้ประสบอุบัติเหตุร้อง “อุบัติเหตุไม่ใช่เวรกรรม นั่งรถโดยสารต้องปลอดภัย”

22807-01

วันนี้ (24 ก.พ.59) เวลา 9.30 น. ที่ศาลจังหวัดสุรินทร์และศาลแขวงสุรินทร์  เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคอีสานพร้อมด้วยทนายความและผู้ประสบภัยจำนวน 3 ราย ที่ประสบอุบัติเหตุจากกรณีรถยนต์โดยสารนำคณะ อบต.ตากูก อ.เขวาสิรินทร์ จ.สุรินทร์ เดินทางไปศึกษาดูงานที่จังหวัดตาก เกิดอุบัติเหตุเสียหลักพลิกคว่ำบนถนนสายวังทอง-สากเหล็ก ต.ดินทอง อ.วังทอง จ.พิษณุโลก (เมื่อ 3 มี.ค.58) เป็นเหตุให้ผู้โดยสาร 52 คน ได้รับบาดเจ็บ มีผู้เสียชีวิตทันทีในที่เกิดเหตุ 6 ราย ซึ่งได้รับการชดเชยเยียวยาจากบริษัทประกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  ส่วนอีก 3 ราย ยังไม่ได้รับการชดเชยเยียวยาจากบริษัทประกันภัย จึงเป็นเหตุให้ผู้ประสบภัยจำนวน 3 รายดังกล่าว เดินทางมายื่นฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายในครั้งนี้

นางสาวจุรีรัตน์ เสนาะเสียง หนึ่งในผู้ประสบภัยกล่าวว่า ตนเป็นผู้หนึ่งที่เดินทางไปกับคณะและได้รับบาดเจ็บสาหัส ต้องถูกตัดขาด้านขวาทำให้ไม่สามารถทำงาน ยืน หรือยกสิ่งของ แม้กระทั่งเดินโดยลำพังได้อย่างคนปกติ  ต้องกลายเป็นบุคคลทุพพลาภาพไม่สามารถรักษาให้หายเป็นปกติเหมือนเดิมได้ ซึ่งต้องเสียบุคลิกภาพไปตลอดชีวิต  ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างรุนแรง  เรียกค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน  1,959,165 บาท

นายนิยม บันลือทรัพย์  ได้รับบาดเจ็บสาหัส ต้นขาด้านซ้ายหัก ร่างกายซีกซ้ายได้รับการกระทบกระเทือนอย่างหนัก แขนซ้ายไม่สามารถยกของได้ และไม่สามารถทำงานได้อย่างคนปกติ จากเดิมตนเป็นหัวหน้าครอบครัว ต้องดูแลบุพการี 2 คน และบุตรอีก 2 คน ซึ่งกำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ทั้งนี้ในระหว่างการรักษาตัว ตนนั้นไม่สามารถทำงานหาเงินมาเลี้ยงครอบครัวได้ อีกทั้งภรรยาก็ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ เพราะต้องคอยมาดูแลตนซึ่งไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ เรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 1,464,767 บาท

นายอัมรินทร์ ดำเนินงาม  ได้รับบาดเจ็บจากแรงเหวี่ยงกระเด็นไปกระแทกกับเก้าอี้นั่งโดยสาร และถูกกดทับในตัวรถ ทำให้ร่างกายบาดเจ็บและบอบซ้ำอย่างหนัก จากอุบัติเหตุในครั้งนั้นที่ส่งผลกระทบกระเทือนต่อร่างกายและจิตใจตลอดเวลา รู้สึกฝังใจไม่กล้าเดินทางไปไหนมาไหนโดยรถยนต์โดยสารอีก ทำให้ได้รับความทุกขเวทนาด้วยความเจ็บปวด  ไม่มีความสุข  และขาดความมั่นใจในการทำงาน  เรียกค่าเสียหาย 105,951 บาท

ทางด้านนายปฏิวัติ เฉลิมชาติ ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคอีสานกล่าวว่า ที่ผ่านมาทางเครือข่ายได้ประสานงานกับ อบต.ตากูก เพื่อแจ้งสิทธิและมอบชุดเอกสารความรู้เกี่ยวกับการเช่ารถรับจ้างไม่ประจำทางอย่างไรให้ปลอดภัย และที่ผ่านมาได้มีการจัดเวทีนโยบายสาธารณะเพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยรถเช่าทัศนาจร  ร่วมกับศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน จ.สุรินทร์  ซึ่งมีตัวแทนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและสถาบันการศึกษาเข้าร่วม โดยมีวัตถุประสงค์ให้องค์กรนำไปปฏิบัติและร่วมกันพัฒนาคุณภาพมาตรฐานรถโดยสารในประเทศไทยต่อไป

ที่มา: นายปฏิวัติ เฉลิมชาติ  (ศูนย์เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคอีสาน)