คอบช.ทวงคืนสิทธิประชาชน สิทธิผู้บริโภค หากไม่คืนพร้อมรณรงค์ไม่รับรัฐธรรมนูญ
5 ก.พ. 2559 ตัวแทนคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) ร่วมกับเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทุกภูมิภาคทั่วประเทศยื่น ข้อเสนอในการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ (รธน.) โดยเรียกร้องให้คืนสิทธิประชาชน สิทธิชุมชน สิทธิผู้บริโภค ที่หายไป พร้อมร่วมกันรณรงค์ไม่รับร่าง รธน.ที่เน้นเพิ่มอำนาจรัฐ ลดอำนาจประชาชน ที่อาคารรัฐสภา ทั้งนี้มีนายสุพจน์ ไข่มุกด์ กรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เป็นตัวแทนรับหนังสือ
นางสาวบุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค แถลงว่า เครือข่ายประชาชนต้องการให้แก้ไขร่าง รธน.ดังนี้ คือ 1.ปรับโครงสร้างของร่าง รธน.ให้รับรองสิทธิประชาชน สิทธิชุมชน สิทธิสตรี สิทธิเด็ก สิทธิผู้บริโภคและสิทธิของพลเมืองในด้านต่างๆ ให้ได้รับสิทธิและคุ้มครองเทียบเท่าระดับสากล และ 2.ปรับเนื้อหาสาระที่ล้าหลังและขาดหายไปในการคุ้มครองสิทธิประชาชน สิทธิชุมชน สิทธิผู้บริโภค และการจัดทำความตกลงระหว่างประเทศ การกำหนดให้มีองค์การอิสระฯ โดยให้ถือเป็นพระราชบัญญัติที่มีความจำเป็นเพื่อให้บรรลุตามเจตนารมณ์ของ รธน.แห่งราชอาณาจักรไทยที่ต้องเกิดขึ้นภายในหนึ่งปี
3.ให้มีการคุ้มครองสิทธิประชาชนในด้านบริการสาธารณสุข โดยให้มีบริการสาธารณสุขอย่างทั่วถึง มีคุณภาพ ได้มาตรฐานและได้รับสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานอันจำเป็นอย่างเท่าเทียมกัน และพัฒนาเนื้อหาสาระที่ต้องทันสถานการณ์ เป็นปัจจุบัน แก้ไขปัญหาการมีส่วนร่วมให้มีกลไกการสนับสนุนที่ชัดเจน ทำได้จริง มีเนื้อหาสาระของการปฏิรูปประเทศที่มีความชัดเจน และมีกลไกที่ดีมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของรัฐและหน่วยงานต่างๆ
“รธน.นี้เขียนเพิ่มอำนาจรัฐ ลดอำนาจประชาชน และลิดรอนสิทธิของประชาชนให้ไปอยู่ในมือรัฐ ซึ่งการมายื่นหนังสือครั้งนี้ เรามีความหวังว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลง ให้คืนสิทธิของประชาชนไม่น้อยกว่าที่เคยกำหนดไว้ใน รธน.ปี 2550” นางสาวบุญยืนกล่าวและว่า “เราเชื่อว่าแก้ไขได้ กรธ.จะรับฟัง และเราจะได้รับการตอบสนอง”
ด้านนายสุพจน์ กล่าวว่า กรธ.จะรับไปทบทวนว่า รธน.ตรงตามความต้องการของประชาชนหรือไม่ และขอขอบคุณที่ตัวแทนประชาชนใช้เสียงเพื่อเรียกร้องสิทธิตามวิถีทาง ประชาธิปไตย
ข้อเสนอต่อการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ขอเสนอให้แก้ไขและเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิประชาชน สิทธิชุมชน สิทธิสตรี สิทธิเด็ก สิทธิผู้บริโภคและสิทธิของพลเมืองในด้านต่างๆ ให้ได้รับสิทธิและได้รับการคุ้มครองเทียบเท่าระดับสากล อันเป็นหลักประกันสิทธิพื้นฐานของมนุษย์ที่สำคัญที่ต้องบัญญัติไว้ในรัฐ ธรรมนูญ และการมีส่วนร่วมของประชาชน จึงมีข้อเสนอสำคัญต่อร่างรัฐธรรมนูญ ดังนี้
1. ปรับโครงสร้างของร่างรัฐธรรมนูญให้นำเนื้อหาสาระในหมวด 5 หน้าที่ของรัฐไว้ในหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยทั้งหมด พร้อมปรับปรุงแก้ไขรับรองสิทธิประชาชน สิทธิชุมชน สิทธิสตรี สิทธิเด็ก สิทธิผู้บริโภคและสิทธิของพลเมืองในด้านต่างๆ ให้ได้รับสิทธิและได้รับการคุ้มครองเทียบเท่าระดับสากล
2. ให้นำเนื้อหาการปฏิรูปประเทศของร่างกรรมาธิการชุดที่แล้ว มาเพิ่มเติมในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ พร้อมจัดให้มีกลไกที่ดีมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายในการปฏิรูปประเทศ
3. แก้ไขเนื้อหาสาระที่ขาดหายไปในการคุ้มครองสิทธิประชาชน สิทธิชุมชน สิทธิผู้บริโภค และการจัดทำความตกลงระหว่างประเทศ ดังนี้
1) มาตรา 41 บุคคลย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องราวร้องทุกข์ และมีส่วนร่วมในกระบวนการพิจารณาของเจ้าหน้าที่รัฐในการปฏิบัติราชการทาง ปกครองที่ส่งผลกระทบต่อเสรีภาพของตน และมีสิทธิฟ้องหน่วยงานของรัฐเพื่อคุ้มครองสิทธิอันพึงมีพึงได้ของตน
2) มาตรา 51 ประชาชนมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ได้รับสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียมกัน รวมถึงได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและทันสมัยจากรัฐ และส่งเสริมสนับสนุนให้มีการพัฒนาภูมิปัญญาด้านแพทย์แผนไทย
3) มาตรา 57 สิทธิของบุคคลซึ่งเป็นผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครอง
ให้ มีองค์กรเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระซึ่งมิใช่หน่วยงานของรัฐ ประกอบด้วยตัวแทนผู้บริโภค ทำหน้าที่ให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของหน่วยงานของรัฐในการตราและการ บังคับใช้กฎหมายและกฎ ให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือการละเลยไม่กระทำการอันเป็นการคุ้มครอง ผู้บริโภค และเสนอทางแก้ไขเยียวยาความเสียหายที่ผู้บริโภคได้รับ ตลอดจนสนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีความรู้และทักษะที่จำเป็นด้านการ คุ้มครองผู้บริโภค และฟ้องคดีเพื่อสาธารณะประโยชน์ โดยให้รัฐสนับสนุนงบประมาณที่ในการดำเนินการขององค์การอิสระดังกล่าวด้วย โดยให้ถือเป็นพระราชบัญญัติที่มีความจำเป็นเพื่อให้บรรลุตามเจตนารมณ์ของรัฐ ธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่ต้องเกิดขึ้นภายในหนึ่งปี
4) สิทธิชุมชนและดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม
มาตรา 53 สิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการอนุรักษ์ บำรุงรักษา และการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพ และในการคุ้มครอง ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้ อย่างปกติและต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ อนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตน ย่อมได้รับความคุ้มครองตามความเหมาะสม
มาตรา 54 การดำเนินโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ จะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้ศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของ ประชาชนในชุมชน และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน รวมทั้งได้ให้องค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากร ธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ ให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว
มาตรา 54/1 สิทธิของชุมชนที่จะฟ้องหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ ราชการส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอื่นของรัฐที่เป็นนิติบุคคลเพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัติ นี้ย่อมได้รับความคุ้มครอง
5) สิทธิในการเสนอกฎหมายของประชาชน
มาตรา 54/2 บุคคลผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคนย่อมมีสิทธิร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายตามรัฐธรรมนูญนี้ต่อรัฐสภา
รวม ทั้ง กฎหมายที่ประชาชนเข้าชื่อจะต้องได้รับการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎร ภายใน 90 วัน และมีขั้นตอนในการจัดทำกฎหมายที่ชัดเจน มีส่วนร่วมในทุกระดับ เช่น ถ้าสภาที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัติในครั้งหลังนี้ไม่ส่งร่าง พระราชบัญญัติคืนไปยังสภาที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัตินั้น เป็นสภาแรกภายในกำหนดเวลาตามมาตรา.... ให้ถือว่าสภาที่พิจารณาร่างพระราชบัญญัติในครั้งหลังนี้ได้ให้ความเห็นชอบ ด้วยร่างพระราชบัญญัตินั้น และให้ดำเนินการตามมาตรา .... ต่อไป
6) สิทธิในการตรวจสอบการใช้อำนาจของหน่วยงานรัฐ
มาตรา 59/1 บุคคลย่อมมีสิทธิเฝ้าระวัง ติดตาม และตรวจสอบ การใช้อำนาจรัฐ และมีสิทธิรวมตัวกันเพื่อดำเนินการดังกล่าวตามที่กฎหมายบัญญัติ
7) การทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ
มาตรา 173 พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญาสันติภาพ สัญญาสงบศึก และสัญญาอื่น กับนานาประเทศหรือกับองค์การระหว่างประเทศ
หนังสือ สัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตาม หนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ในการนี้ รัฐสภาจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องดัง กล่าว ก่อนการดำเนินการเพื่อทำหนังสือสัญญากับนานาประเทศหรือองค์การ ระหว่างประเทศตามวรรคสอง คณะรัฐมนตรีต้องให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และต้องชี้แจงต่อรัฐสภาเกี่ยวกับหนังสือสัญญานั้น ในการนี้ ให้คณะรัฐมนตรีเสนอกรอบการเจรจาต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบด้วย ในการนี้ รัฐสภาจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องดัง กล่าว
เมื่อลงนามในหนังสือสัญญาตามวรรคสองแล้ว ก่อนที่จะแสดงเจตนาให้มีผลผูกพัน คณะรัฐมนตรีต้องให้ประชาชนสามารถเข้าถึงรายละเอียดของหนังสือสัญญานั้น และในกรณีที่การปฏิบัติตามหนังสือสัญญาดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน หรือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม คณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการแก้ไขหรือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบนั้นอย่างรวดเร็ว เหมาะสม และเป็นธรรม
ให้มีกฎหมายว่าด้วยการกำหนดประเภท กรอบการเจรจา ขั้นตอนและวิธีการจัดทำหนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า หรือการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้งการแก้ไขหรือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติตามหนังสือสัญญา ดังกล่าวโดยคำนึงถึงความเป็นธรรมระหว่างผู้ที่ได้ประโยชน์กับผู้ที่ได้รับผล กระทบจากการปฏิบัติตามหนังสือสัญญานั้นและประชาชนทั่วไป
ในกรณีที่มี ปัญหาตามวรรคสอง ให้เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะวินิจฉัยชี้ขาด โดยให้นำบทบัญญัติตามมาตรา 154(1) มาใช้บังคับกับการเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยอนุโลม
4. ปรับปรุงมาตรา 253 เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้สามารถทำได้ง่ายกว่าที่บัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ รวมทั้งยากเกินไปในการแก้ไขโดยพรรคการเมือง
Tags: องค์การอิสระ,