องค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ ได้ร่วมมือกันในการเสนอกฎหมาย ด้วยการเข้าชื่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 10,000 คน เสนอกฎหมายฉบับนี้ โดยได้ยื่นรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 12,208 รายชื่อ ต่อประธานรัฐสภา เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2552 ผ่านการรับหลักการกฎหมายในวันที่ 5 ตุลาคม 2553 ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2554 และเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของวุฒิสภา แต่วันที่ 10 พฤษภาคม 2554 รัฐบาลประกาศยุบสภา ทำให้การพิจารณากฎหมายต้องยุติลง
วันที่ 28 กันยายน 2554 รัฐบาลปัจจุบัน ได้เสนอให้รัฐสภามีมติเห็นชอบให้วุฒิสภาพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ต่อได้ และวุฒิสภาได้เห็นชอบ (ร่าง) พ.ร.บ. องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. .... โดยมีการแก้ไข เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2555 ที่ผ่านมา
วันที่ 5 กันยายน 2555 สภาผู้แทนราษฎรได้มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. .... กรณีการแก้ไขเพิ่มเติมของวุฒิสภา โดยสภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่เห็นชอบด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติมของวุฒิสภาและตั้งกรรมาธิการร่วมในการพิจารณากฎหมายฉบับนี้ จำนวน 22 คน จนถึงปัจจุบันโดยไม่มีหลักประกันใดๆ ว่าจะมีกฎหมายฉบับนี้ออกมาบังคับใช้หรือไม่ เมื่อใด หรือมีแล้วจะไม่ถูกตัดตอนไม่สามารถทำหน้าที่อย่างที่ผู้บริโภคคาดหวัง ไม่ว่าจะเป็น การตรวจสอบธุรกิจเอกชนในการละเมิดสิทธิผู้บริโภค (Enforcement),การเปิดเผยชื่อสินค้าหรือบริการที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภค (Information) , สามารถส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดพิจารณาแต่งตั้งพนักงานอัยการดำเนินคดี ตามที่อัยการสูงสุดเห็นสมควร (Redress) หรือการสนับสนุนให้ผู้ใช้สิทธิของตนเองเพิ่มขึ้น รวมทั้ง การสร้างเครือข่ายกับองค์กรผู้บริโภค (Empowerment)
เลขที่ 4/2 ซอยวัฒนโยธิน แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
โทรศัพท์ 0-2248-3734-7 โทรสาร 0-2248-3733 | e-mail: indyconsumers@gmail.com
:: อนุญาตให้นำข้อมูลและเนื้อหาบนเว็บไซต์ไปเผยแพร่ต่อเพื่อความรู้ของประชาชน ไม่อนุญาตให้นำไปใช้เพื่อผลประโยชน์ทางการค้าทุกกรณี ::