คูปอง 1,000 คนได้ มีแต่ เสีย

  ราคาคูปอง 1,000 บาท ใครได้ประโยชน์?  

 

ลำดับเหตุการณ์สำคัญของเรื่อง

        มติของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กำหนดแนวทางการแจก “คูปองส่วนลด” เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบทีวีดิจิตอล โดยกำหนดแจกคูปองมูลค่า 690 บาท ให้กับผู้บริโภคจำนวน 22 ล้านครัวเรือน รวมใช้งบประมาณ 15,190 ล้านบาท

         หลังจากนั้น คณะกรรมการบริหารกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) มีมติเห็นชอบอนุมัติมูลค่าคูปองขึ้นเป็น 1,000 บาท เพื่อแจกให้กับผู้บริโภคจำนวน 25 ล้านครัวเรือน รวมใช้งบประมาณทั้งสิ้น 25,000 ล้านบาท โดยไม่มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ไม่มีการเปิดเผยต้นทุนต่อสาธารณะและไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการตรวจสอบ

 

       คูปองส่วนลดที่ได้รับสามารถสำหรับแลกซื้อกล่องหรือใช้เป็นส่วนลด ดังนี้

       1. กล่องแปลงสัญญาณดิจิตอลภาคพื้นดิน (Set-Top-Box)พร้อมสายอากาศในอาคารแบบมีภาคขยาย (Active Antenna)
       2. เครื่องรับโทรทัศน์แบบมีอุปกรณ์รับสัญญาณดิจิตอลในตัว (TV-Digital)
       3. กล่องรับสัญญาณทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวี รองรับการดูรายการความละเอียดสูง (HD)

 

 

สาเหตุที่องค์กรผู้บริโภคคัดค้านราคาคูปอง 1,000 บาท

        1. การปรับราคาคูปองจาก 690 บาท เป็น 1,000 บาท ถือว่าผู้บริโภคได้เงินมากขึ้น แตในความเป็นจริงผู้บริโภคต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่มากขึ้น เพราะราคากล่องรับสัญญาณในตลาดปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย

 

       ยกตัวอย่างเช่น ถ้าแจกคูปองส่วนลดราคา 690 บาท ผู้บริโภคอาจจะไม่ต้องเสียเงินในการซื้อกล่อง HD Combo 3 in 1 แต่เมื่อขึ้นราคาคูปองเป็น 1,000 บาท ผู้บริโภคจะต้องเสียเงินเพิ่มขึ้นอีก 1,490 บาทสำหรับซื้อกล่องยี่ห้อเดียวกัน เป็นต้น

 

       2. ต้นทุนราคากล่องบวกกำไรแล้วมีราคาไม่เกิน 500 บาทเพราะ กสทช. ต้องสั่งซื้อในปริมาณที่มากถึง 25 ล้านกล่อง ทำให้ราคาต้นทุนถูกลง เท่ากับว่าใช้งบประมาณเพียง 12,500 ล้านบาท

 

       หากพิจารณาจากงบประมาณ 25,000 ล้านบาทอาจทำให้ประเทศชาติต้องสูญเสียงบประมาณโดยไม่จำเป็นสูงถึงประมาณ 12,500 ล้านบาท

 

512 บาทก็ที่มีกำไรแล้ว

        จากการศึกษาพบว่า กล่องแปลงสัญญาณทีวีระบบดิจิตอลรุ่น DVB T2 ตามมาตรฐานที่ กสทช. กำหนด ราคาจำหน่ายไม่เกิน 512 บาทก็เป็นราคาที่มีกำไรแล้ว โดยมีข้อมูลสนับสนุนดังนี้
       • ข้อมูลการจำหน่ายจากเว็บไซต์ www.alibaba.com ซึ่งมีการซื้อขายทั่วโลก พบว่า ราคากล่อง รุ่น DVB T2 มีราคาเพียง 403 บาท สำหรับการสั่งซื้อจำนวน 5,000 ชิ้น
       • กสทช. ต้องทราบดีถึงราคา “ต้นทุน” ของกล่องเพราะมีอำนาจขอตรวจสอบโครงสร้างราคาต้นทุนที่แท้จริงได้ จากข้อมูลล่าสุดกล่องรับสัญญาณดาวเทียมของบริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) มีราคาต้นทุน เพียง 475 บาทเท่านั้น

 

กล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอลยิ่งแพงยิ่งดี หรือยิ่งถูกยิ่งแย่

        ตามประกาศของกสทช. กล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอลต้องผลิตขึ้นในประเทศไทยเท่านั้น แต่ในความเป็นจริง บริษัทผู้ผลิตเหล่านี้เพียงแต่นำชิ้นส่วนจากต่างประเทศมาประกอบภายในประเทศ ซึ่งโดยส่วนใหญ่มาจากโรงงานเดียวกัน และนำมาจัดจำหน่ายด้วยราคาที่สูงกว่าต้นทุนมาก ดังนั้น ราคากล่องที่องค์กรผู้บริโภคเสนอแม้จะมีราคาถูกกว่า แต่ก็เป็นกล่องที่มีมาตรฐานเดียวกับคุณภาพและมาตรฐานที่ กสทช.กำหนดทุกประการ

 

ผู้ได้ประโยชน์ตัวจริงจากคูปอง 1,000 บาท

        แน่นอนผู้บริโภคไม่ใช่ผู้ที่ได้ประโยชน์จากการขึ้นราคาคูปอง ในทางตรงกันข้ามกลับเป็นผู้ที่เสียประโยชน์โดยตรง ส่วนผู้ที่ได้ประโยชน์ตัวจริง คือ
       • กลุ่มที่หนึ่ง ผู้ค้าขายกล่องทีวีดิจิตอลได้ในราคาที่แพงขึ้นจาก 690 บาท เป็น 1,290 - 1,490 บาท

       • กลุ่มที่สอง บริษัทจำหน่ายทีวีดิจิตอลมียอดขายเพิ่มขึ้น เพราะลดราคาได้อย่างน้อย 1,000 บาท โดย กสทช.เป็นผู้ออกเงินชดเชยให้

       • กลุ่มที่สาม ผู้ประกอบการทีวีดาวเทียมหรือเคเบิ้ลทีวีเพราะผู้บริโภคสามารถนำคูปองเป็นส่วนลดในการซื้อกล่องรับสัญญาณทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวี

 

กสทช. ใช้งบประมาณเกินวงเงินจาก 15,190 ล้านบาท เป็น 25,000 ล้านบาท

        จำนวนเงินที่ กสทช. ใช้ได้ตามที่ประกาศ คือ 15,190 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินค่าธรรมเนียมที่สนับสนุนประชาชนด้านทีวีดิจิตอลแต่กลับมีมติของกรรมการกองทุนฯ เห็นชอบให้ใช้งบประมาณ 25,000 ล้านบาทตาม กสท. เสนอ แม้ว่าจะเกินจากกรอบงบประมาณที่ประกาศ

 

12,500 ล้านบาททำอะไรได้บ้าง

        หลังจาก กทปส. มีมติเพิ่มราคาคูปองส่วนลดเป็น 1,000 บาท ทำให้ประเทศต้องสูญเงินประมาณ 12,500 ล้านบาท ซึ่งเงินจำนวนนี้สามารถนำมาสร้างประโยชน์ให้ประเทศได้ เช่น
       • ใช้สนับสนุนผู้ผลิตรายการขนาดเล็กเพื่อผลิตรายการที่มีคุณภาพเป็นการช่วยผลักดันให้ตลาดผลิตรายการโทรทัศน์เติบโตขึ้นกว่าร้อยละ 35 หรือมีมูลค่าสูงถึง 38,780 ล้านบาท จากปี 2556 ที่มีมูลค่า 28,780 ล้านบาท
       • ใช้สำหรับกู้ยืมเพื่อเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย จำนวนประมาณ 800,000 คนต่อปี เนื่องจากปีที่ผ่านมากองทุน กยศ. ได้รับงบประมาณประมาณเพียง 6,700 ล้านบาท ทำให้ปล่อยกู้ได้เพียง 492,529 คน จากที่มีความต้องการมากถึง 865,200 คน
       • ใช้ทำโครงการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงด้วยเทคโนโลยี Wi-Fi แบบไม่คิดค่าใช้จ่ายเพื่อประโยชน์สาธารณะได้มากกว่า 13 ปี โดยมีจำนวน Access Point ที่ให้บริการทั้งหมด 150,000 จุด ทั่วประเทศ ซึ่งใช้งบประมาณ 950 ล้านบาทต่อปี

 

มูลค่าคูปองต้องไม่เกิน 690 บาท ถ้าประมูลแจกเองได้ต่ำกว่า 500 บาท แน่นอน

        • แจกคูปองมูลค่า 690 บาทใน 4 จังหวัดได้แก่ กรุงเทพฯ สงขลา เชียงใหม่ และนครราชสีมา ที่เริ่มดำเนินการจำนวน 10 ล้านใบ ตามแผนปีพ.ศ. 2557 เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถนำคูปองไปแลกซื้อกล่องแปลงสัญญาณทีวีดิจิตอล
       • ส่วนระยะเวลาเปลี่ยนผ่านในปี พ.ศ. 2558 - 2560 ให้กสทช. มีบทบาทในการกำหนดมาตรฐานสินค้า การรับประกันการดูแลลูกค้า และคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมการประมูล เพื่อป้องกันปัญหาการผูกขาด รวมทั้งสามารถกำหนดเงื่อนไขราคาที่ตำลงในการประมูลครั้งต่อไป ซึ่งจะได้ราคาตำกว่า 500 บาท

 

 

 

 


 

เลขที่ 4/2 ซอยวัฒนโยธิน แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400  
โทรศัพท์ 0-2248-3734-7 โทรสาร 0-2248-3733 | e-mail: indyconsumers@gmail.com  

  ::  อนุญาตให้นำข้อมูลและเนื้อหาบนเว็บไซต์ไปเผยแพร่ต่อเพื่อความรู้ของประชาชน ไม่อนุญาตให้นำไปใช้เพื่อผลประโยชน์ทางการค้าทุกกรณี ::