ปตท.เมินมติ ครม. ‘รสนา’ ยื่นสตง.ระงับเชื่อมต่อระบบส่งก๊าซ
สปช.ด้านพลังงาน สปช.ด้านคุ้มครองผู้บริโภค และสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค ร้อง สตง.ตรวจสอบและระงับ ปตท.ให้บุคคลที่สามเชื่อมต่อระบบส่งก๊าซ ชี้ทำรัฐเสียรายได้-เสียประโยชน์ พิศิษฐ์เผยปตท.เมินมติครม.
วันนี้ (8 พ.ค.) นางสาวรสนา โตสิตระกูล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านพลังงาน นางสาวสารี อ๋องสมหวัง ประธานกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค สภาปฏิรูปแห่งชาติ รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ นางสาวบุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค และอดีสมาชิกวุฒิสภา เข้าพบ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพื่อยื่นคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ ผผ 20/289 ลงวันที่ 23 เมษายน 2558 พร้อมให้ สตง.สั่งระงับและตรวจสอบกรณี บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดให้ใช้หรือเชื่อมต่อระบบส่งก๊าซธรรมชาติบนบกแก่บุคคลที่สามของบริษัท ปทต. จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นการนำท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่อยู่ในคำร้องไปทำสัญญากับบุคคลภายนอก อาจก่อให้เกิดภาระผูกพันแก่ท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่เป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน อาจทำให้รัฐสูญเสียรายได้ หรือเสียประโยชน์ที่มีอยู่ในปัจจุบันและอาจเสียเปรียบในทางธุรกิจในอนาคตอีกหลายประการ
นางสาวรสนา กล่าวว่า ท่อส่งก๊าซธรรมชาติทั้งระบบต้องเป็นของรัฐ รายได้จากการให้ผู้อื่นใช้จะต้องตกเป็นรายได้ของแผ่นดิน แต่ถ้าเปิดให้มีการใช้ในขณะนี้รายได้จะตกอยู่กับ ปตท. และอาจจะทำให้ผู้บริโภคต้องรับภาระในการแบกรับค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาก๊าซมีเนื้อก๊าซบวกค่าผ่านท่อ หากปทต.ให้บุคคลอื่นเช่าใช้อาจมีการเรียกเก็บเงินที่ซ้ำซ้อน เรียกร้องตรวจสอบท่อส่งก๊าซเส้นที่สามซึ่งใช้อำนาจรัฐ ทั้งที่เป็น บมจ.ปตท.แล้ว
นางสาวรสนา กล่าวต่อไปว่า สตง.ได้คิดมูลค่าตามบัญชี ณ วันที่ 30 กันยายน 2554 จำนวน 68,569 ล้านบาท แต่ในปี 2551 ปตท.ได้จ้างบริษัทเอกชน 2 รายมาประเมินราคาใหม่ พบว่ามีมูลค่าสูงขึ้นอยู่ที่ 150,000 ล้านบาท และอีกบริษัทมีมูลค่าคือ 120,000 ล้านบาท ขณะที่ปตท.นำมูลค่าท่อก๊าซที่ถูกตีมูลค่าเพิ่มขึ้นไปคิดค่าผ่านท่อเพิ่มนั้นทำให้ผู้บริโภคต้องรับภาระเพิ่มค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งทาง สตง.ต้องวินิจฉัยว่าจะคิดมูลค่าที่ประเมินใหม่ หรือคิดมูลค่าที่เป็นไปตามมูลค่าบัญชีปี 2544
“กรณีร่วมทุนไทย-มาเลเซีย ซึ่งเป็นพรบ.ที่แบ่งผลประโยชน์จากปิโตรเลียมในแหล่ง JDA ไทย-มาเลเซีย ซึ่งรัฐจะต้องได้รับส่วนแบ่ง 50% กับประเทศมาเลเซีย ปรากฏว่าหลังจากการแปรรูป ปตท.แล้วไม่ได้มีการจัดการในเรื่องของพรบ.ร่วมทุน กลายเป็นรายได้แบ่งกับประเทศมาเลเซียเข้าไปที่ ปตท. ตรงจุดนี้ก็อยากให้ สตง.ได้ตรวจสอบเรื่องนี้ให้ครบถ้วนด้วย” สปช.ด้านพลังงาน กล่าว
ด้าน นางสาวสารี กล่าวเสริมว่า ต้องการเรียกร้องให้ ปตท. ทบทวนและยุติการกระทำที่สร้างความสับสนและทำให้เกิดความซับซ้อนด้วยการให้บุคคลที่สามใช้หรือเช่าช่วงระบบท่อส่งก๊าซ ฉะนั้นปตท.ควรคืนทรัพย์สินให้ครบถ้วนซะก่อน
ทางด้าน นายพิศิษฐ์ เผยว่า สตง.ได้มีการตรวจสอบพบว่า ปตท. ไม่ได้ดำเนินตามมติ ครม. วันที่ 18 ธันวาคม 2550 ในการแบ่งแยกทรัพย์สินใและโอนท่อก๊าซคืน ซึ่งทาง สตง.จะเร่งดำเนินการสรุปสำนวนเสนอให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินพิจารณาให้เกิดความถูกต้องและเป็นธรรมกับทางราชการและประชาชน หากวินิจฉัยแล้วพบว่าเป็นความผิดทางอาญาก็จะส่งสำนักงาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ดำเนินการต่อไป
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 21 พฤษภาคม 2558 เวลา 10.30 น. ทางกลุ่มจะไปร้องต่อศาลปกครองสูงสุดเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด ณ วันที่ 26 ธันวาคม 2551 ที่ระบุว่ามีการแบ่งแยกทรัพย์สินให้รัฐครบถ้วนแล้ว
บทความเนื้อหาใกล้เคียงกัน:
|