ขึ้นราคา...ถามคนจ่ายยัง? 17 ปีที่รอคอย 'องค์การอิสระคุ้มครองผู้บริโภค'
หลังกลุ่มธุรกิจแท็กซี่เรียกร้องให้ปรับขึ้นราคาค่าบริการ ขณะที่ลูกค้ามองว่าเป็นการเอาเปรียบในสถานการณ์ที่ราคาน้ำมันทั่วโลกลดลง ขณะที่การให้บริการและความปลอดภัยแท็กซี่ไม่ได้พัฒนาขึ้น ความขัดแย้งเหล่านี้ยังคงเป็นที่ถกเถียงกัน โดยไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาเป็นกรรมการตัดสิน...
6 ปีที่ผ่านมา แท็กซี่พยายามเรียกร้องให้ปรับราคาระยะทาง 1 กม.แรก 35 บาท เป็น 50 บาท แต่มีเสียงคัดค้านจากหลายฝ่าย ข้อเสนอจึงตกไป จนในที่สุด รัฐบาลประยุทธ์ มีมติขึ้นค่าแท็กซี่กับผู้ใช้บริการรถจำนวน 5,000 คันแรกที่ผ่านมาการตรวจสภาพและเปลี่ยนมิเตอร์ โดยเริ่มมีผลเก็บค่าโดยสารราคาใหม่วันที่ 22 ธันวาคม 2557 ขณะที่แท็กซี่อีกเกือบ 1 แสนคันยังไม่พร้อมเปลี่ยนมิเตอร์เพราะติดปัญหาค่าใช้จ่าย บางรายยังไม่รู้ข้อมูลขั้นตอนที่ชัดเจน
สำหรับรายละเอียดค่าบริการใหม่ที่เพิ่มนั้นยังคงให้ 1 กม.แรก 35 บาทเท่าเดิม แต่ช่วง 1-10 กิโลเมตรคิดราคา กม.ละ 5.50 บาท ระหว่าง กม.ที่ 10-20 คิด กม.ละ 6.50 บาท ระยะทาง 20-40 กม. คิด กม.ละ 7.50 บาท ระยะ 40-60 กม. คิด กม.ละ 8 บาท ระยะทางระหว่าง 60-80 กม. คิด กม.ละ 9 บาท มากกว่า 80 กม.ขึ้นไปคิด กม.ละ 10.50 บาท ส่วนกรณีรถติดไม่สามารถเคลื่อนที่ได้คิดนาทีละ 2 บาท
การขึ้นราคาแท็กซี่กว่า 10 เปอร์เซ็นต์เป็นการผลักภาระให้ชาวบ้านผู้ใช้บริการไม่มีทางเลือกต้องก้มหน้าแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นทั้งที่ราคาน้ำมันทั่วโลกปรับลดลงแล้ว แม้กระทั่งค่าเรือโดยสารยังลดราคาลง...
จากการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลหลังจากขึ้นราคาแท็กซี่พบว่า ผู้ขับขี่แท็กซี่ที่ปรับมิเตอร์แล้วพอใจกับราคาใหม่ โดยให้เหตุผลว่าทุกวันนี้ข้าวของมีราคาแพงขึ้น แท็กซี่ก็เหมือนคนทั่วไปต้องกินต้องใช้จ่ายเช่นกัน ขณะที่ผู้โดยสารที่ใช้บริการแท็กซี่ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับมติการปรับขึ้นราคาค่าบริการครั้งนี้และเห็นว่าราคาเดิมที่ใช้อยู่เหมาะสมแล้ว เพราะราคาแก๊สและน้ำมันก็ถูก ยังไม่มีความจำเป็นต้องปรับขึ้น และหากราคาสูงเกินกว่าที่เคยนั่งเป็นประจำก็อาจเปลี่ยนทางเลือกมาใช้บริการรถไฟฟ้าหรือรถเมล์ฟรีภาษีประชาชนแทน
มนตรี (ขอสงวนนามสกุล) อายุ 47 ปี อาชีพพนักงานบริษัท ซึ่งใช้บริการแท็กซี่บ่อยครั้ง บอกว่า ตอนนี้ยังไม่ควรปล่อยให้แท็กซี่ขึ้นราคาเพราะราคาน้ำมันลดลง แก๊สก็ถูก ยังไม่เห็นถึงความจำเป็นต้องขึ้นราคาเลย และเห็นว่าราคาเดิมนั้นดีอยู่แล้ว ควรคงราคาเดิมไว้ก่อนไม่ควรเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชน ทุกวันนี้ข้าวแกงก็แพงอะไรก็แพงหมด ยังจะมาขึ้นราคาแท็กซี่อีก ถือว่าไม่เป็นธรรมต่อประชาชน และเห็นด้วยหากมีหน่วยงานหรือองค์กรที่เป็นตัวแทนเป็นปากเสียงประชาชนช่วยดูแลไม่ให้เราถูกเอารัดเอาเปรียบคงดีกว่านี้แน่นอน
ไม่ต่างอะไรกับ "อรสุดา" พนักงานขายของในห้างสรรพสินค้าวัย 35 ปี ที่ใช้บริการแท็กซี่เป็นประจำ ได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับการขึ้นราคาแท็กซี่ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น แม้จะเป็นเงินที่เพิ่มจากเดิม 15-20 บาทก็ไม่ควรจะเสีย ปกติขึ้นแท็กซี่เป็นประจำเพราะทำงานเลิกดึกทางเข้าบ้านเปลี่ยวและมืดพอลงรถเมย์ ปอ.ฝั่งถนนเพชรเกษมก็เรียกแท็กซี่เลย นอกจากบางวันที่คนทางบ้านมารับ หากไม่ว่างก็จะเข้าไปเอง ส่วนรถสองแถวที่เคยวิ่งจะไม่มีในช่วงกลางคืนอยู่แล้ว ปกติจ่ายค่าแท็กซี่เข้าบ้านประมาณ 40 ไม่เกิน 50 บาทแต่พอประกาศขึ้นราคาต้องจ่ายมากกว่าเดิม
"เราไม่รู้เลยว่าคันไหนไปปรับมิเตอร์มาแล้ว คันไหนยังไม่ปรับ มันขึ้นเท่าไหร่ก็จ่ายเท่านั้น จริงแล้วไม่เห็นด้วยกับการขึ้นราคาอย่างมาก แต่จะทำอย่างไรได้ มันขึ้นไปแล้วไม่มีทางเลือก เราคนเดียวจะไปเรียกร้องอะไรกับใครได้ คงต้องปล่อยเลยตามเลย" อรสุดา กล่าว
ปัญหาข้างต้นไม่ใช่กรณีแรกที่ผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบ ในแต่ละวันคนไทยจำนวนมากถูกหลอกให้ซื้อสินค้าและใช้บริการที่ไม่เป็นธรรม เช่น ค่าใช้โทรศัพท์มือถือที่ยอดเรียกเก็บสูงเกินจริง สัญญาณโทรศัพท์ที่ไม่ได้คุณภาพ เสียงขาดๆ หายๆ หรือแม้กระทั่งอาหาร ยา และเครื่องสำอางที่โฆษณาสรรพคุณเกินจริง
ถึงเวลาหรือยังที่ผู้บริโภคไทย ควรได้รับการปกป้องจากการเอาเปรียบเหล่านี้ รวมถึงการชดใช้และชดเชยค่าเสียหายต่างๆ
ปัจจุบันมีหน่วยงานรัฐหลายแห่ง ทำหน้าที่ดูแลคุ้มครองผู้บริโภค เช่น สคบ. อย. กสทช.กรมการค้าภายใน กรมการขนส่งทางบก ฯลฯ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ หน่วยงานเหล่านี้ถือกฎหมายคนละฉบับ ปฏิบัติหน้าที่คนละด้านและอยู่คนละสังกัด ทำให้ทิศทางการทำงานเพื่อผู้บริโภคไม่ชัดเจนล่าช้า และที่สำคัญหน่วยงานดังกล่าวขึ้นตรงกับรัฐบาล ทำให้เกิดข้อกำหนดในการตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานรัฐด้วยกันเอง ส่งผลให้กลุ่มตัวแทนประชาชนผู้บริโภคใช้ความพยายามในการผลักดันร่างกฎหมาย "องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค"
โดยพยายามต่อสู้มายาวนานถึง 17 ปี ตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540 ผ่านไปแล้ว 3 รัฐบาลเริ่มต้นจากรัฐบาลอภิสิทธิ์รับหลักการในปี 2553 ผ่าน การพิจารณาของ ส.ส.และ ส.ว. แล้วเกิด "ยุบสภา" ในเดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน ปี 2554 รัฐบาล "ยิ่งลักษณ์" ผ่านการพิจารณาของวุฒิสภาอยู่ระหว่างแก้ไขเนื้อหา 4-5 ประเด็น จนล่วงเลยถึงปี 2555 ตั้งคณะกรรมการร่วม 2 สภา พิจารณาร่างกฎหมายปี 2556 กระทั่งกลางปี 2557 คสช.ปฏิวัติ มีการตั้งคณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภคของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) พยายามนำร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระคุ้มครองผู้บริโภค ขึ้นมาพิจารณาใหม่ แต่ยังมีเสียงคัดค้านจากบางฝ่าย
สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวในฐานะผู้ได้รับการคัดเลือกให้เป็นประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภคของสภาปฏิรูปแห่งชาติ ว่า ที่ผ่านมามีหน่วยงานรัฐบางสำนัก พยายามคัดค้านการก่อตั้งองค์การอิสระคุ้มครองผู้บริโภค เพราะเห็นว่าทำงานซ้ำซ้อนกัน
“ต้องอธิบายว่า องค์การที่เกิดใหม่ไม่ได้ซ้ำซ้อนเลย ไม่ได้มีการใช้อำนาจรัฐไปชี้ว่าบริษัทนี้ผิดบริษัทนั้นถูก แต่ทำหน้าที่คอยตรวจสอบให้ข้อมูลข่าวสารไม่ให้ผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบ เช่น การขึ้นราคาแท็กซี่ที่ผ่านมาไม่มีการสอบถามหรือฟังเสียงประชาชนเลย ต้องถามองค์กรนี้ก่อนว่า ขึ้นได้ไหมมีเงื่อนไขที่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภคอย่างไรบ้าง เช่น แท็กซี่จะต้องสะอาดขึ้น แท็กซี่ไม่ปฏิเสธผู้โดยสาร ถ้าปฏิเสธผู้โดยสารจะถูกลงโทษค่าปรับสูงขึ้นได้ไหม หรือถ้าคุณทิ้งผู้โดยสารกลางทางจะเป็นอย่างไร คุณต้องเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภค หากมีองค์กรนี้เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์มาก เพราะเสียงประชาชนผู้บริโภคจะถูกได้ยิน"
สารี อธิบายเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาเมืองไทยยังไม่กล้ารับรองสิทธิของผู้บริโภคในเรื่องนี้ ทั้งที่ความจริงมีการระบุใน พันธสัญญาระหว่างประเทศของสหประชาชาติอย่างชัดเจนว่า ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นในการกำหนดกติกาของรัฐ หากรัฐไม่ฟังความคิดเห็นจะเกิดการฟ้องร้องเป็นคดีเสียงบประมาณ เสียเวลา เหมือนการฟ้องคดีโทลล์เวย์ยังไม่จบไม่สิ้น ยกตัวอย่างปัจจุบันการปรับขึ้นราคาทางด่วน ไม่ถามความเห็นประชาชน แล้วไปแก้สัญญาจาก 55 บาท เป็น 85 บาท แค่มีป้ายบอกจะขึ้นราคาภายใน 10 วันก็ขึ้นราคาได้ สิ่งเหล่านี้ไม่ควรเกิดขึ้นไม่ควรให้ประชาชนมารับกรรม แบกรับภาระ
“อยากเรียกร้องให้ประชาชนออกมาผลักดันให้เกิดกฎหมายองค์การอิสระฯ ตามสิทธิในรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 61 สิทธิของบุคคลย่อมได้รับการคุ้มครอง การที่ผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบมาจนทุกวันนี้ เพราะหน่วยงานรัฐไม่อยากทำงาน แต่ไม่อยากให้อำนาจกับใคร พวกเราทำงานเรื่องนี้มา 17 ปี มีรายชื่อประชาชนเป็นหมื่นรายเข้าร่วมเสนอกฎหมายในรัฐสภา รณรงค์ผลักดันต่างๆ นานา สุดท้ายยังไม่มีองค์การอิสระเกิดขึ้น”
สารีเล่าถึงการต่อสู้ที่ผ่านมาว่า องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคไม่ได้รอกฎหมายอย่างเดียว ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาได้จัดตั้งคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ทำข้อมูล 7 ด้านคือ 1.ที่อยู่อาศัยไม่ให้ถูกโกงค่าส่วนกลาง 2.ด้านบริการสาธารณะ ต้องทำอย่างไรให้การเยียวยาสามารถไปปรับปรุงคุณภาพได้ เช่น การสร้างรถไฟฟ้ามากมาย สุดท้ายแล้วคน กทม.จะได้ใช้รถไฟฟ้ากันไหม ถ้าราคาแพงจนจ่ายไม่ไหว 3.เรื่องบริการสุขภาพให้มีมาตรฐานเดียวกันกับสิทธิประโยชน์อื่นๆ 4.เรื่องอาหารและยา ไม่ควรให้มีการโฆษณาเกินจริง และใช้ผู้หญิงเป็นเครื่องมือในการหลอกลวงภาพโฆษณาต่างๆ
5.เรื่องการเงินการธนาคาร เป็นผลงานที่ทำสำเร็จในรอบปี ธนาคารแห่งประเทศไทยรับหลักการไปแล้วเรื่องค่าบริการถอนเงินทางอินเทอร์เน็ต หรือเอทีเอ็ม 6.ด้านสื่อและโทรคมนาคม อยากเห็นการกำหนดกติกาที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค เช่น แพ็กเกจ 500 นาที จ่าย 400 บาท แต่จริงแล้วปัดเศษสตางค์ทั้งหมดให้ผู้บริโภครับภาระ และ 7.เรื่องสินค้าและบริการทั่วไป มีตั้งแต่เรื่องเล็กๆ จนถึงเรื่องใหญ่ เช่น ล่าสุดรถใหม่ยี่ห้อหนึ่งเสียมากถึง 70 กว่าคัน หรือกรณีคุณซื้อขนมปังมีสารปนเปื้อนผสมอยู่โดยไม่สามารถรู้ได้ เราจึงอยากเห็นองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคเกิดขึ้น เพื่อสนับสนุนคนที่มีความทุกข์จากการถูกเอารัดเอาเปรียบ
ที่มา : คมชัดลึก : เศรษฐกิจ : ข่าวทั่วไป วันเสาร์ที่ 3 มกราคม 2558
บทความเนื้อหาใกล้เคียงกัน :
{loadmudule related_items,Articles Related Itemes}|