2nd benefit

2nd benefit

"ฉลาดซื้อ" เผยผลทดสอบ กระจกกันรอยจอมือถือ

 smartphone film testing web3

นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยผลทดสอบ "กระจกนิรภัยกันรอยหน้าจอสมาร์ทโฟน" แนะให้เปรียบเทียบราคาเป็นอันดับแรก

         นิตยสารฉลาดซื้อ ฉบับที่ 183 ประจำเดือน พฤษภาคม 2559 เผยผลทดสอบ กระจกนิรภัยกันรอยหน้าจอสมาร์ทโฟน โดยเครือข่ายนักวิชาการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ดำเนินการทดสอบภายใต้โครงการสร้างความเข้มแข็งกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน โดยสุ่มสำรวจฟิมพ์กระจกกันรอย สำหรับติดหน้าจอ iPhone 6 ที่มีราคาต่อชิ้นตั้งแต่ 165 - 990 บาท จำนวน 8 ตัวอย่าง ดังนี้

1. Remax E-Paste Tempeded Glass
2. IMAKER Tempered Glass
3. Focus BC Premium Tempered Glass 9H Hardness
4. IBIT Tempered Glass
5. Gorilla9H+ Tempered Glass
6. Hishield Blue Light Cut Tempered Glass
7. CESSORY Glass Protector 9H
8. Dr. eyes Film by VOX.Tempered Glass

โดยมีการทดสอบใน 3 ประเด็น ได้แก่ (1) ความสามารถการต้านทานรอยขีดข่วน โดยประยุกต์วิธีการทดสอบตามมาตรฐาน ASTM D 3359 (cross cut guide test), (2) ความสามารถการต้านทานการขัดด้วยความเร็วรอบสูง, (3) การวัดความแข็ง ซึ่งเแต่ละประเด็นการทดสอบ เป็นการทดสอบคุณสมบัติวัสดุที่นำมาผลิตเป็นแผ่นกระจกป้องกันรอยขีดข่วนบนหน้าจอสมาร์ทโฟน โดยผลการทดสอบพบว่า

1. ผลการทดสอบความสามารถการต้านทานรอยขีดข่วน โดยประยุกต์วิธีการทดสอบตามมาตรฐาน ASTM D 3359 (cross cut guide test) " ไม่พบรอยขีดข่วนทุกตัวอย่างที่ทดสอบ "

2. ผลการทดสอบความสามารถการต้านทานการขัดด้วยความเร็วรอบสูง " พบรอยแตกทุกตัวอย่างที่ทดสอบ "

3. ผลทดสอบความแข็ง

โดยจัดอันดับยี่ห้อตัวอย่างที่มีความแข็งสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่

อันดับที่ 1 Remax มีความแข็งสูงสุด คือ 968.57 วิกเกอร์
อันดับที่ 2 Hishield มีความแข็ง 931.93 วิกเกอร์
อันดับที่ 3 Gorilla มีความแข็ง 848.70 วิกเกอร์

(ความแข็งของกระจกนิรภัยสามารถเชื่อมโยงไปถึงค่าความสามารถต้านทานการสึกหรอ คือ ค่าความแข็งสูง ก็จะส่งให้ผลค่าความต้านทานการสึกหรอสูงตามไปด้วย) 

         จากผลการทดสอบจะเห็นว่าทุกยี่ห้อมีผลการทดสอบทั้ง 3 หัวข้อที่ค่อนข้างใกล้เคียงกันมาก คือ ไม่พบรอยขีดข่วนทุกยี่ห้อตัวอย่าง แต่ในการทดสอบการต้านทานการขัดด้วยความเร็วรอบสูงพบรอยแตกทุกตัวอย่าง ส่วนการทดสอบความแข็ง ผลที่ออกมาก็อยู่ในเกณฑ์ที่ใกล้เคียงกัน เพราะฉะนั้นคำแนะนำในการเลือกซื้อกระจกนิรภัยกันรอยสำหรับโทรศัพท์สมาร์ทโฟน ก็ควรเปรียบเทียบที่ราคาเป็นอันดับแรก พร้อมดูคุณสมบัติอื่นๆ ประกอบไปพร้อมกัน เช่น ความหนาของกระจก ความคมชัด การลดการสะท้อนของรังสียูวี การป้องกันแสงสีฟ้า (แสงที่เป็นอันตรายต่อจอประสาทตา) จากจอมือถือ การลดหรือป้องกันการเกิดรอยนิ้วมือจากการใช้งาน ฯลฯ

 

อธิบายขั้นตอนการทดสอบ

1. ทดสอบความสามารถการต้านทานรอยขีดข่วน โดยประยุกต์วิธีการทดสอบตามมาตรฐาน ASTM D 3359 (cross cut guide test) (มาตรฐาน ASTM หรือย่อมาจาก American Society for Testing and Materials ซึ่งเป็นชื่อของสมาคมวิชาชีพ ทางด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ที่ก่อตั้งในอเมริกา ทำหน้าที่พัฒนาระบบมาตรฐานต่างๆ ทั้งด้านการผลิต การใช้งาน เพื่อส่งเสริมด้านวิชาการสำหรับภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นมาตรฐานที่นำมาใช้ได้โดยสมัครใจ)

1.1  ติดกระจกนิรภัยแต่ละยี่ห้อ ลงบนหน้าจอสมาร์ทโฟน หลังจากนั้นนำ cross cut guide หลังจากนั้นเปลี่ยนทิศทางของ cross cut guide ให้ตั้งฉากกับรอยตัดเดิม แล้วทำการกรีดตามร่องให้ครบทั้ง 10 ร่อง
1.2  นำเทปกาวมาตรฐาน ที่มาพร้อมกับเครื่องมือทดสอบปิดลงบนรอยกรีดรีดให้ครอบคลุมรอยกรีดทุกร่องรีดเทปกาวให้สนิทบนผิวกระจกนิรภัย
1.3  ดึงเทปกาวออกจากผิวกระจกนิรภัย ด้วยความเร็วสม่ำเสมอ
1.4  สังเกตรอยกรีดว่ามีหรือไม่

2. ทดสอบความสามารถการต้านทานการขัดด้วยความเร็วรอบสูง

2.1  ติดกระจกนิรภัยแต่ละยี่ห้อลงบนหน้าจอสมาร์ทโฟนให้สนิทแน่น โดยใช้ฟิล์มพลาสติกใสที่แต่ละยี่ห้อให้มาทำหน้าที่เป็นแผ่นติดประสานระหว่างแผ่นกระจกกันรอยและหน้าจอสมาร์ทโฟน หลังจากนั้นนำเครื่องขัดกระดาษทรายความเร็วสูง (ความเร็วรอบของการขัด 2500 รอบต่อนาที) ขัดลงบนแผ่นกระจกกันรอยนาน 1 นาที
2.2  สังเกตรอยแตกที่เกิดขึ้น พร้อมทำการถ่ายรูป เพื่อบันทึกข้อมูล

3. ทดสอบความแข็ง

วัดความแข็งโดยใช้เครื่อง micro hardness tester, model HV-1000B หัวกดที่ใช้ คือ เพชร ซึ่งมีรูปร่างเป็นปิระมิดฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส และมีมุมระหว่างผิวหน้าด้านตรงข้ามกันเท่ากับ 136 องศา และใช้แรงกด 1000 กิโลกรัมฟอร์ซ (kilogram-force:kgf) ระยะเวลากด 20 วินาที รอยที่เกิดขึ้นมีขนาดเล็กในระดับไมครอน ต้องใช้กล้องจุลทรรศน์ในการช่วยคำนวณความแข็งสำหรับทดสอบฟิล์มกระจก

 

ชนิดของฟิล์มกันรอย

smartphone film testing web2

ฟิล์มใส เป็นฟิล์มกันรอยที่ไม่ลดประสิทธิภาพของหน้าจอ เพราะค่อนข้างใส แต่เมื่อใช้แล้วมักจะมีเกิดรอยนิ้วมือ มีคราบมัน คราบเหงื่อ ต้องคอยเช็ดทำความสะอาด เวลาใช้มักมีแสงสะท้อน

ฟิล์มขุ่น หรือ ฟิล์มด้าน : ลดแสงจากหน้าจอได้ดี เวลาใช้งานมักจะไม่ค่อยเกิดรอยนิ้วมือ ทำความสะอาดง่าย แต่อาจจะไม่ถูกใจสำหรับคนที่อยากได้หน้าจอใสๆ

ฟิล์มแบบพิเศษ (เช่น กระจกกันรอย กระจกนิรภัย) : เป็นฟิล์มที่มีความหนาและแข็งแรงซึ่งจะช่วยให้ป้องกันไม่ให้เกิดรอยขีดข่วนกับหน้าจอโทรศัพท์มือถือได้ดี แต่มีข้อเสียคือราคาสูง เวลาใช้งานเมื่ออยู่ในที่แจ้งหน้าจออาจมองลำบากเพราะจะมีการสะท้อนเหมือนกระจกเงา 

ภาพประกอบ: pexels.com
แนะนำอ่านต่อ : ฉลาดซื้อ ฉบับที่ 183 ผลทดสอบการป้องกัน “แสงยูวี” แผ่นกันรอยติดหน้าจอโทรศัพท์มือถือ