อำนาจในมือ ‘สคบ.’ สางปมปัญหา ‘โฆษณาเกินจริง’
การตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าหรือบริการของผู้คนทั่วโลกนั้น คงหนีไม่พ้นการบริโภคข้อมูลผ่านสื่อมัลติมีเดียบนอินเทอร์เน็ตและตามถนนหนทาง ปัจจุบันสื่อโฆษณาปรากฏอยู่ในรูปลักษณ์ภาพและเสียงที่เย้ายวนชวนให้ผู้บริโภคหลงใหล สินค้าบางอย่างตามหลอกหลอนถึงห้องปลดทุกข์ก็ยังมี สินค้าประเภทผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพและความงามทั้งหลาย ล้วนนิยมทำการตลาดด้วยการว่าจ้างดารานักแสดงหน้าตาดีมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ (Presenter) หรือ แบรนด์ แอมบาสเดอร์ (Brand Ambassador) ให้กับผลิตภัณฑ์ ทำเอาผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยเปิดใช้ฟังก์ชั่นสัญชาตญาณความชอบ มากกว่าใช้เหตุผลดูข้อมูลก่อนซื้อสินค้ามาอุปโภคบริโภค ใช่ว่าสินค้าและบริการทุกชนิดจะเป็นตามคำโฆษณาสวยหรู แต่ความจริงอาจเต็มไปด้วยภัยอันตราย อันเป็นคุณสมบัติแฝงที่มิได้กล่าวถึงในคำโฆษณา ทำผู้บริโภคตกเป็นเหยื่อ เสียทรัพย์สินเงินทอง สุขภาพเสื่อมโทรม จนถึงขั้นเสียชีวิตก็มี จึงมีคำถามตัวใหญ่ๆ เขียนทิ้งไว้ว่า ทั้งชีวิต...ผู้บริโภค นั้น ใครดูแล...
ดั่งแสงสปอตไลท์ส่องขึ้นฟ้าในยามค่ำคืน นั่นเป็นสัญญาณร้องทุกข์จากผู้บริโภค เผยอักษรชื่อย่อ “สคบ.” ฮีโร่ที่ใครๆ ก็รู้จักมักคุ้น นั่นคือ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ผู้มีหน้าที่ดูแลผู้บริโภคตาใส ที่มักถูกผู้ประกอบการหลอกลวงเอารัดเอาเปรียบอยู่รายวัน ล่าสุดอย่างกรณีโฆษณาเกินจริงของคนขายกระทะดัง ที่กล่าวอ้างถึงสรรพคุณกระทะเทพ ทอดไข่แล้วไม่ติดกระทะ ลื่นไหลถึง 300% ทำเอาผู้บริโภคที่รักสุขภาพจำนวนไม่น้อย ควักกระเป๋าซื้อกระทะมาลองเป่าไข่ให้กระพือเหมือนกับดาราดังทำในหนังโฆษณา แต่ก็ต้องดับฝันเพราะเป่าเท่าไหร่ ไข่ก็ไม่ขยับ แม้กระทั่งหน่วยงานที่ สคบ. ส่งกระทะให้ไปทดสอบยังไม่มีเครื่องมือที่สามารถวัดความลื่นไหลถึง 300 เปอร์เซ็นต์ได้ รวมถึงคำกล่าวอ้างที่ว่าเคลือบหินอ่อน 8 ชั้น แม้ผลการตรวจจะพบว่าเคลือบหินอ่อนจริง แต่ก็ไม่สามารถนับจำนวนชั้นได้ ถือว่าเป็นการโฆษณาที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคเพราะไม่มีข้อพิสูจน์ว่าเป็นเช่นนั้นจริง ฝากคำถามคาใจผู้บริโภคว่า ‘สคบ.’ มีอำนาจหน้าที่ปกป้องพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคตามกฎหมายอย่างไร และมากน้อยแค่ไหนกัน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ ประธานคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) และอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้ให้ความเห็นถึงบทบาทหน้าที่และขอบเขตอำนาจของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ตามกรณีกระทะเทพไว้ถึง 3 ฉบับด้วยกัน
ดาบแรก.. 'อำนาจสั่งห้าม และพิสูจน์ความจริงตามคำโฆษณา'
ตามกฎหมาย พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 ได้กำหนดสิทธิของผู้บริโภคไว้ 5 ประการ ในมาตรา 4 เช่น สิทธิที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ และสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหาย โดยได้มอบอำนาจให้ สคบ.ตามมาตรา 14 ให้ตั้งคณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณา คอยกำกับดูแลการโฆษณา โดยหากพบว่าการโฆษณามีข้อความอันเป็นเท็จ เกินความจริง เข้าข่ายนิยายแฟนตาซี อาจก่อให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญของสินค้าหรือบริการ ก็สามารถสั่งห้ามเผยแพร่โฆษณา และสั่งให้ผู้โฆษณาพิสูจน์ความจริงว่าสินค้าของท่านเป็นไปตามที่กล่าวอ้างทุกประการได้
อย่างกรณีกระทะดัง สคบ.ก็ได้มีคำสั่งให้ผู้ประกอบการ หยุดเผยแพร่โฆษณา และส่งตัวอย่างกระทะให้หน่วยงานต่างๆ ทำการทดสอบ รวมถึงให้ผู้ประกอบการโฆษณาพิสูจน์ความจริง ซึ่งบริษัทก็ได้นำเอกสารที่เกี่ยวกับสินค้าจากบริษัทที่ประเทศเกาหลีส่งให้กับ สคบ.เพื่อประกอบการพิจารณา ซึ่งตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภคฯ หากพบว่า คุณสมบัติของสินค้าไม่ตรงกับคำกล่าวอ้างในโฆษณา ก็จะต้องดำเนินคดีทั้งฐานโทษทางปกครองและโทษทางอาญาฐานโฆษณาเกินจริง ตามมาตรา 47 มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งบริษัทมีสิทธิยื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 10 วัน นับจากวันที่ได้รับคำสั่งจาก สคบ.
ดาบสอง.. 'อำนาจตามกฎหมายขายตรง'
สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. เองก็เป็นนายทะเบียนธุรกิจขายตรง ซึ่งถ้าพบว่าธุรกิจใดจำหน่ายสินค้าไม่ตรงตามที่ได้มีการสื่อสารข้อมูลเพื่อเสนอขาย ก็มีอำนาจเพิกถอนใบอนุญาตได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีผู้บริโภคมาร้องเรียน ตาม มาตรา 42 ของ พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 ซึ่งกรณีกระทะดังก็จัดเป็นธุรกิจประเภทขายตรง ซึ่งจำหน่ายสินค้าผ่านทีวีและช่องทางออนไลน์ ซึ่งหากกระทะเทพมีคุณสมบัติไม่ตรงตามที่ให้ข้อมูล สคบ.ก็มีอำนาจในการเพิกถอนใบอนุญาตได้ทันที โดยไม่ต้องมีผู้เสียหายมาร้องเรียน ซึ่งหากบริษัทต้องการยื่นอุทธรณ์ก็สามารถทำได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งเพิกถอนจาก สคบ. แต่อย่างไรก็ตาม คำวินิจฉัยของคณะกรรมการนั้นถือเป็นที่สุด
คำถามคาใจ.. 'สคบ.' ฟ้องคดีกระทะแทน 'ผู้บริโภค' ได้หรือไม่ ?
คำตอบคือ สคบ.สามารถใช้อำนาจตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ฟ้องและดำเนินคดีกับบริษัทผู้ขายกระทะแทนผู้บริโภคได้ แต่ต้องตั้งตารอดูกันต่อไปว่า หลังจากรู้ผลตรวจสอบกระทะแล้ว สคบ.จะดำเนินการเอาผิดหรือดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดีกับคนขายกระทะเทพหรือไม่ อันนี้ก็เป็นดาบเล่มที่สาม
ไม่ใช่แค่กระทะที่ไหลลื่น แต่จะทำอย่างไรกับผู้ขายรายอื่น ที่ก็ไหลลื่นเกินจริง
ปัจจุบันมีกฎหมายที่ให้อำนาจหน่วยงานของรัฐ เช่น สคบ.ในการจัดการปัญหาโฆษณาเกินจริงอยู่แล้ว ได้แก่ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522, พ.ร.บ.ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ที่ได้ให้อำนาจในการสั่งห้ามโฆษณา, อำนาจในการสั่งให้ผู้ขายพิสูจน์ความจริงของสินค้าว่าเป็นไปตามกล่าวอ้างในโฆษณา, อำนาจในการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจหากพบว่าผู้ขายโฆษณาเกินจริง รวมถึงโทษทางอาญาตามมาตรา 49 ของ พ.ร.บ.ขายตรงฯ ซึ่งได้กำหนดโทษจำคุกไว้ไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สุดท้ายก็อยู่ที่ว่านักเวทย์ผู้ถือไม้กายสิทธิ์จะร่ายคาถาเสกผู้ประกอบการจอมโกหก ให้กลายเป็นกบหรือไม่ก็เท่านั้นเอง
คราวนี้ ผู้บริโภคคงเห็นแล้วว่า หน่วยงานของรัฐ เช่น สคบ.นั้นมีดาบอยู่หลายเล่ม หากแต่ดาบจะมีโอกาสได้สัมผัสอากาศสักกี่ครั้ง ผู้บริโภคคงต้องนั่งเชียร์นั่งลุ้น อ้าปากค้างจนน้ำลายแห้งอยู่ริมขอบสนาม จะดีกว่าหรือไม่ ถ้ามีองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค (ตามมาตรา 46 ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560) ซึ่งจะเป็นองค์กรที่มาจากการรวมตัวกันของผู้บริโภค เป็นตัวแทนของผู้บริโภค ทำงานเพื่อผู้บริโภค ซึ่งหากเปรียบกับหนังแวมไพร์ ก็คงต้องบอกว่าเป็นแวมไพร์เลือดแท้ ไว้คอยกระตุ้นหน่วยงานของรัฐให้สดชื่นกระฉับกระเฉง เป็นมือดีช่วยรัฐทำงานเพื่อสร้างความเข้มแข็งและเป็นที่พึ่งให้กับผู้บริโภค สวมบทบาทดั่งเช่นแบทแมนกับโรบิ้น
* * * * * * * * *