2nd benefit

2nd benefit

  • หน้าแรก
  • ด้านอาหาร ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ

3องค์กร หนุนต้านการผูกขาดของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านการเกษตรและอาหาร

Biothai FFC FTA-Watch

วันนี้ (6 พ.ค. 58) ตามที่เกิดกระแสความเคลื่อนไหวในสื่อสังคมออนไลน์รณรงค์ร่วมกันงดซื้อสินค้าจากร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น ในระหว่างวันที่ 7-11 พฤษภาคม 2558 เพื่อต่อต้านการผูกขาดของบริษัทยักษ์ ใหญ่ด้านการเกษตรและอาหาร ซึ่งขณะนี้ได้ขยายกิจการ มีอำนาจเหนือตลาด ตั้งแต่ต้นน้ำ เช่น พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ การผลิตในระบบเกษตรพันธสัญญา ไปจนถึงปลายน้ำในกิจการด้านค้าปลีกและค้าส่ง จนส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาต่อเกษตรกรรายย่อย ผู้ประกอบการรายย่อย และผู้บริโภคโดยรวมนั้น

มูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI), มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และ กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) ซึ่งได้ติดตามปัญหาเกี่ยวกับประเด็นความมั่นคงทางอาหาร การคุ้มครองผู้บริโภค และอิทธิพลของบรรษัทในการกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่อง เห็นร่วมกันว่าขณะนี้ปัญหาการมีอิทธิพลเหนือตลาด และการมีอำนาจในการกำหนดนโยบายของรัฐโดยบริษัทเอกชนขนาดใหญ่บางรายนั้นเกิดขึ้นจริงจนเกิดผลกระทบต่อประชาชน เช่น เมล็ดพันธุ์มีราคาแพง วิสาหกิจชุมชนที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ถูกกลั่นแกล้งจากอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ การไม่ได้รับความเป็นธรรมและต้องรับภาระความเสี่ยงในการเลี้ยงสัตว์ภายใต้ระบบเกษตรพันธสัญญาที่บริษัทเป็นผู้ผูกขาดปัจจัยการผลิต กลุ่มธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางถูกกีดกันและเอาเปรียบจากการวางจำหน่ายสินค้าในร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหารและร้านค้าบางส่วนต้องเลิกกิจการเพราะไม่สามารถแข่งขันได้ ผู้บริโภคถูกจำกัดในการเลือกซื้อสินค้าและส่งผลต่อการผลิตสินค้าที่หลากหลายและมีราคาที่ยุติธรรมสำหรับผู้บริโภค ไปจนถึงการทำความตกลงการค้าที่เอื้ออำนวยต่อการส่งออกของบริษัทเอกชนรายใหญ่แต่กลับทำให้เกษตรกรรายย่อยต้องล่มสลาย เป็นต้น

มูลนิธิชีววิถี(BIOTHAI), มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน(FTA Watch) ขอสนับสนุนการเคลื่อนไหวของประชาชน และเห็นว่านี่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานทั้งในฐานะผู้บริโภคที่จะตัดสินใจไม่อุดหนุนสินค้า และในฐานะพลเมืองที่ต้องการสื่อสารเพื่อสะท้อนความอ่อนแอของกฎหมายและนโยบายที่อำนวยผลประโยชน์ของบริษัทเอกชนรายใหญ่มากกว่าจะคุ้มครองประโยชน์ของเกษตรกรรายย่อยและผู้บริโภค

เราขอเรียกร้องให้ประชาชนทุกกลุ่มร่วมกันสนับสนุนและเคลื่อนไหวเพื่อให้การรณรงค์นี้นำไปสู่การแก้ไข พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 ซึ่งตลอดระยะเวลา 16 ปีที่ผ่านมาแทบไม่ได้ดำเนินการใดๆเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนเลย ทั้งนี้โดยต้องลดสัดส่วนและอิทธิพลของกลุ่มธุรกิจในคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าไม่ให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน กำหนดขอบเขตความหมายของบริษัทที่มีอำนาจเหนือตลาด ร่วมกันออกแบบให้กฎหมายนี้สามารถดำเนินการและบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งผลักดันกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อให้สามารถคุ้มครองผลประโยชน์ของประชาชนได้ในที่สุด

 

บทความเนื้อหาใกล้เคียมกัน :

|

 พิมพ์  อีเมล