“ประชารัฐ” แทรกแซง ทำลายการคุ้มครองผู้บริโภค ?
องค์กรผู้บริโภค เผย โครงการสานพลังประชารัฐ อาจทำลายการคุ้มครองผู้บริโภค เหตุให้ยกเลิกการแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ อ้างเป็นอุปสรรคต่อการค้า ทั้งๆ ที่ประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้ผ่านมาเกือบ 2 ปี โดยผ่อนผันให้ใช้ฉลากเก่าได้ใน 2 ปี ซึ่งมีหลายบริษัทได้เปลี่ยนแปลงฉลากตามประกาศดังกล่าวแล้ว คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) หนุน อย. เดินหน้าใช้ประกาศฉลากรูปแบบใหม่ เพื่อส่งเสริมสิทธิผู้บริโภค
วันนี้ (15 ก.ค. 2559) ณ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กรุงเทพฯ คณะอนุกรรมการด้านอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) เสนอผลทดสอบการแสดงฉลากอาหารของอาหารในภาชนะบรรจุ
จากการที่ประชารัฐกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารขอให้ยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 367) พ.ศ.2557 เรื่อง การแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ ให้กลับมาใช้ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 194) พ.ศ.2543 เรื่องฉลาก โดยประชารัฐกลุ่มนี้อ้างในเอกสารว่า ไม่สามารถทำตามประกาศ สธ.ที่ 367 เพราะ มีข้อจำกัดมากมาย ไม่สามารถปฏิบัติได้จริงและสับสน และไม่สามารถทำฉลากใช้ร่วมกับประเทศอื่นได้ ต้องมีสต็อกฉลากเฉพาะขายในประเทศไทยทำให้ต้นทุนสูง
นายพชร แกล้วกล้า นักวิชาการ คอบช. กล่าวว่า จากการสำรวจการแสดงฉลากของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคระหว่างวันที่ 11 – 13 ก.ค. 59 โดยสุ่มสำรวจอาหารใน 5 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มเครื่องดื่ม จำนวน 39 ตัวอย่าง กลุ่มขนมขบเคี้ยว-เบเกอรี่ จำนวน 28 ตัวอย่าง กลุ่มอาหารพร้อมบริโภค (แช่เย็น-แช่แข็ง) จำนวน 13 ตัวอย่าง กลุ่มอาหารกึ่งสำเร็จรูป-อาหารกระป๋อง จำนวน 13 ตัวอย่าง และ กลุ่มเครื่องปรุงรส จำนวน 8 ตัวอย่าง รวมทั้งสิ้น 101 ตัวอย่าง พบว่า อาหารจำนวน 85 ตัวอย่าง (ร้อยละ 84) มีการปรับปรุงฉลากตามประกาศฯ ฉบับที่ 367 เรียบร้อยแล้ว ส่วนตัวอย่างอีกจำนวน 16 ตัวอย่างนั้นยังคงใช้ฉลากรูปแบบเดิมตามประกาศฯ ฉบับที่ 194 อยู่ โดยเมื่อแยกตามกลุ่มของอาหารที่สำรวจฉลากจะพบว่าอาหารกลุ่มที่ยังใช้ฉลากรูปแบบเดิมอยู่มากที่สุดจะเป็นกลุ่มขนมขบเคี้ยว ซึ่งมีการใช้ฉลากรูปแบบเดิมที่ร้อยละ 50 (จาก 16 ตัวอย่างที่ใช้ฉลากเดิม) ส่วนกลุ่มอาหารที่เปลี่ยนมาใช้ฉลากรูปแบบใหม่ทั้งหมด (100%) ได้แก่ กลุ่มอาหารพร้อมบริโภค แช่เย็น-แช่แข็ง สำหรับกลุ่มอาหารที่เหลืออีก 4 กลุ่มมีการใช้ฉลากรูปแบบใหม่ ดังนี้ กลุ่มอาหารกึ่งสำเร็จรูป-อาหารกระป๋อง ร้อยละ 92 กลุ่มเครื่องปรุงรส-วัตถุดิบ ร้อยละ 87.5 กลุ่มเครื่องดื่ม ร้อยละ 85 กลุ่มขนมขบเคี้ยว ร้อยละ 71 อย่างไรก็ตามมีข้อสังเกต โดยเฉพาะเครื่องดื่มในกลุ่มน้ำผลไม้ที่ไม่มีการใส่วัตถุกันเสียนั้น ไม่สามารถแยกแยะได้ว่าได้มีการปรับรูปแบบฉลากแล้วหรือไม่ เนื่องจากระบุบนฉลากว่าไม่ใช้วัตถุกันเสียและไม่มีส่วนประกอบใดที่เกี่ยวข้องกับการแพ้อาหาร
“ประกาศฯ ฉบับที่ 367 เกิดจากการประชุมคณะอนุกรรมการเรื่องฉลากของ อย. เมื่อประมาณ 3 – 4 ปีที่แล้ว องค์ประกอบของคณะอนุฯ ชุดนั้น มีผู้แทนจากกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร นักวิชาการ นักกฎหมาย เจ้าหน้าที่ อย. และ ภาคประชาสังคม ประชุมร่วมกันจนได้เป็นประกาศฉบับนี้ แต่กลับเป็นว่า “ประชารัฐ” ภายใต้ภาคธุรกิจกับรัฐ หารือกัน 2 ฝ่าย โดยไม่มีภาคประชาสังคม จะให้ยกเลิกประกาศ ฯ ฉบับนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้อย่างยิ่ง รัฐจำเป็นที่จะต้องเปิดให้ทุกภาคส่วนเข้าไปมีส่วนร่วมได้อย่างแท้จริง มิฉะนั้น อาจเป็นการทำลายการคุ้มครองผู้บริโภค อย่างที่ประชารัฐกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารกำลังจะทำ แบบนี้ไม่สามารถเรียกได้ว่า ‘ประชารัฐ’ แต่คือ ‘ธนรัฐ’ ทุนกับรัฐสมคบกัน” นายพชร กล่าว
รศ. ดร. จิราพร ลิ้มปานานนท์ คณะอนุกรรมการฯ คอบช. กล่าวว่า จากข้อมูลการสำรวจฉลากดังกล่าว แสดงชัดเจนว่า ข้ออ้างของประชารัฐที่ไม่สามารถทำตามประกาศ สธ.ที่ 367 นั้น ไม่จริง จึงขอเรียกร้องให้ อย. บังคับใช้ประกาศ 367ฯ และให้มีกระบวนการตรวจสอบทั้งก่อนการจำหน่าย (pre-marketing) และหลังการจำหน่าย (post-marketing) อย่างต่อเนื่อง อย่างเป็นระบบ และมีการรายงานผลการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดฐานแสดงฉลากไม่ถูกต้องต่อสาธารณะให้รับทราบด้วย เพื่อให้ผู้บริโภคได้มีข้อมูลประกอบการเลือกสินค้าของตน
ทั้งนี้ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) และเครือข่ายผู้บริโภคทั่วประเทศจะตรวจสอบเรื่องนี้อย่างเข้มข้น ไม่ปล่อยให้ ‘ประชารัฐ’ แต่ในนามนี้ทำลายการคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิผู้บริโภคอย่างเด็ดขาด
ข้อเท็จจริง
ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 367) พ.ศ.2557 เรื่อง การแสดงฉลากของอาหารในภาชนะบรรจุ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2557 บังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 180 วัน นับจากวันที่ประกาศในราช-กิจจานุเบกษา และให้ใช้ฉลากเดิมที่เหลืออยู่ต่อไป แต่ไม่เกิน 2 ปี ซึ่งวันสุดท้ายของการใช้ฉลากเดิมคือวันที่ 4 ธันวาคม 2559
ภาพถ่าย: เบญจมาศ ลาวงค์