test protect push open

fb icontw icong plus iconyt icon

test protect push open

fb icontw icong plus iconyt icon

know consumer

  • ภาคประชาชนทวงถาม กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค แจงไม่ซ้ำซ้อนกับ สคบ.

    เปิดสภาผู้บริโภคแห่งชาติ หนุนให้เกิด กม.ผู้บริโภคในรัฐธรรมนูญ


    "เครือข่ายผู้บริโภคและนักวิชาการ ชี้ไม่อาจรับร่างรัฐธรรมนูญได้ การคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในร่างรัฐธรรมนูญไทยเดินถอยหลัง จัดตั้งสภาผู้บริโภคแห่งชาติเพื่อเป็นกลไกคุ้มครองผู้บริโภคระดับประเทศ หนุนกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค กฎหมายแจ้งเตือนภัยและกฎหมายมะนาว"



    15 มี.ค.คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) ร่วมกับแผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) และ ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) จัดงาน สภาผู้บริโภคแห่งชาติ ครั้งที่ 1 ที่ ร.ร.อมารี แอร์พอร์ต ดอนเมือง



    รศ.ดร. จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธาน คอบช. ยืนยัน รัฐธรรมนูญต้องกำหนดให้มีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ คุณมีชัย ฤชุพันธ์ เป็นประธาน ถูกแก้ไขให้องค์กรผู้บริโภคไปรวมตัวกัน ทั้งๆ ที่เป็นสิทธิดั้งเดิมในการรวมตัวของภาคประชาชน แล้วให้องค์กรเหล่านั้นไปรวมตัวกันเพื่อเป็นตัวแทนของผู้บริโภค


    "การเขียนแบบนี้เท่ากับมองว่าปัจจุบันเราไม่มีองค์กรผู้บริโภคเลย ผู้บริโภคต้องไปรวมตัวกันก่อนจึงจะสามารถไปรวมตัวกันในการให้ความเห็นกับรัฐ โดยให้รัฐออกกฎหมายว่าจะให้เป็นตัวแทนอย่างไร ในเรื่องอะไรบ้าง สะท้อนให้เห็นความล้าหลังของร่างรัฐธรรมนูญ จึงขอเรียกร้องต่อคณะกรรมาธิการยกร่างฯ ขอให้ยึดหลักการการมีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคทำหน้าที่ตัวแทนผู้บริโภคระดับประเทศในการให้ความเห็นต่อหน่วยงานรัฐ สนับสนุนผู้บริโภคให้เท่าทันปัญหาและสามารถคุ้มครองตนเองได้ รวมทั้งสนับสนุนหน่วยงานรัฐในการกำกับดูแลการคุ้มครองผู้บริโภค" รศ.ดร.จิราพรกล่าว


    นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึงการจัดสภาผู้บริโภคแห่งชาติว่า องค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ ผู้เดือดร้อนจากปัญหาผู้บริโภค นักวิชาการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เห็นร่วมกันในการจัดตั้ง สภาผู้บริโภคแห่งชาติ โดยมีกรรมการของสภาผู้บริโภคแห่งชาติจำนวน 61 คน ประกอบด้วย ตัวแทนองค์กรผู้บริโภค เครือข่ายประชาชนด้านต่าง ๆ 9 ด้าน กลุ่มผู้บริโภคเชิงประเด็น ตัวแทนสภาผู้บริโภคจังหวัด นักวิชาการ หน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภค เป็นต้น


    "การประชุมสภาผู้บริโภคแห่งชาติครั้งแรกนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้องค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ กลุ่มประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกำหนดทิศทาง บทบาท และโครงสร้างของสภาผู้บริโภคแห่งชาติ โดยสภาผู้บริโภคแห่งชาติจะเป็นกลไกของผู้บริโภคที่สำคัญในการติดตามบังคับใช้กฎหมาย มติด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค และร่วมกันผลักดันให้เกิดกฎหมายพระราชบัญญัติองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. เพื่อให้มีตัวแทนผู้บริโภคในระดับประเทศ การร่วมกำหนดกติกา และมาตรการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคกับหน่วยงานรัฐ รวมทั้งให้ผู้บริโภคมีบทบาทและมีส่วนร่วมในการคุ้มครองผู้บริโภค


    รศ.ดร.ภก.วิทยา กุลสมบูรณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและผู้จัดการแผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) กล่าวว่า ช่วงปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเข้าสู่ยุคแห่งการปฏิรูปในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค มีการขับเคลื่อนให้เกิดองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ให้มีกฎหมายเพื่อผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองสิทธิที่ชัดเจน การบูรณาการการปฏิรูประบบคุ้มครองผู้บริโภคโดยให้มีกฎหมายและกลไกเตือนภัยสินค้าอันตราย ตามหลักการป้องกันล่วงหน้า หรือลดผลกระทบจากกรณีที่คาดหมายได้ล่วงหน้า และจัดให้มีกฎหมายมะนาว เพื่อชดเชยหรือเยียวยาความเสียหายกรณีสินค้าใหม่ที่ชำรุดบกพร่องในสังคมไทย


    "การที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด เขียนเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคกำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐ ถือเป็นการลดทอนสิทธิเสรีภาพประชาชน โดยมีเพียงการรับรองเรื่องส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้บริโภครวมกลุ่มกันเพื่อปกป้องสิทธิของตน ไม่มีการตั้งองค์การของผู้บริโภคที่เป็นอิสระเพื่อเป็นตัวแทนของผู้บริโภค ซึ่งแตกต่างกับรัฐธรรมนูญหลายฉบับที่ผ่านมา สะท้อนถึงการสร้างความเหลื่อมล้ำในการใช้อำนาจของรัฐ และสวนทางกับหลักการร่างรัฐธรรมนูญที่บอกว่าต้องการจะปราบการทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งผู้ประกอบการหรือนายทุนมักผูกขาดใช้อำนาจเงินมหาศาลเข้าหาอำนาจรัฐให้เอื้อประโยชน์ให้ นำไปสู่แนวทางการปฏิรูปประเทศภายใต้รัฐธรรมนูญที่ประชาชนหรือผู้บริโภคไม่มีส่วนร่วม


    ดังนั้นจึงขอให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กำหนดเรื่องการปฏิรูประบบการคุ้มครองผู้บริโภคที่ชัดเจนไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ และให้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศดำเนินการจัดทำข้อเสนอแนะหรือร่างกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาโดยเร็ว" รศ.ดร.ภก.วิทยากล่าว


    ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้อำนวยการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) กล่าวถึงว่าปัญหาเชื้อดื้อยาและการรณรงค์ "เอายาปฏิชีวนะ ออกจากอาหารของเรา" (Antibiotics Off the Menu) ใช้เป็นกรณีศึกษาในการผลักดันกฎหมายองค์การอิสระฯ ได้ เพราะหากเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคเข้าไปตรวจสอบ และเปิดเผย ความปลอดภัยย่อมเกิดกับผู้บริโภค จากปัญหานี้ชี้ให้เห็นว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องเกิดองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค


    "ขอเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชน ร่วมกันขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 8 มติที่ 5 เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2558 รวมทั้งขอให้ผู้ประกอบการที่นำยาปฏิชีวนะไปใช้ในทางการเกษตรต้องมีนโยบายในการลด และยุติการใช้ยาปฏิชีวนะ และต้องเปิดเผยข้อมูล หรือมีมาตรการฉลากให้ผู้บริโภคได้ใช้ในการตัดสินใจบริโภคอย่างปลอดภัย" ผู้อำนวยการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) กล่าว


    อนึ่งทุกวันที่ 15 มีนาคมของทุกปี ถือเป็น "วันสิทธิผู้บริโภคสากล" World Consumer Rights Day ซึ่งปีนี้สหพันธ์ผู้บริโภคสากล (Consumers International หรือ CI) ได้ให้ความสำคัญเรื่อง อาหารปลอดภัยและร่วมกันรณรงค์ทั่วโลกในประเด็น "เอายาปฏิชีวนะ ออกจากอาหารของเรา" (Antibiotics Off the Menu) เพื่อลดและยุติการใช้ยาปฏิชีวนะในการกระบวนการเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นอาหาร


    คอบช. ได้ร่วมกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ทำหนังสือถึงบริษัทฟาสต์ฟู้ด 5 แห่งในประเทศไทย ได้แก่ แมคโดนัลด์, ซับเวย์, เคเอฟซี, เชสเตอร์ กริลล์ และซิสเลอร์ โดยมีข้อเรียกร้องสำคัญ 3 ประการ คือ 1.ขอให้ตรวจสอบแหล่งที่มาของเนื้อสัตว์ที่นำมาประกอบอาหารเพื่อจำหน่ายแก่ผู้บริโภค 2.เรียกร้องให้บริษัทมีแผนปฏิบัติการลดและยุติการใช้เนื้อสัตว์ที่ถูกเลี้ยงด้วยยาปฏิชีวนะ เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคในการเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ และ 3.ขอให้มีตัวแทนจากนักวิชาการภายนอกตรวจสอบแผนปฏิบัติการลดและยุติการใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงสัตว์และรายงานต่อสาธารณะทุก 3 เดือน

     

     พิมพ์  อีเมล