2nd benefit

2nd benefit

กรรมการภาค ปชช. ยันให้ สปสช.จัดซื้อยาปี 61 ชี้กังวลผู้ป่วยขาดยา - ยาราคาแพง

 
กรรมการสปสช.เสียงข้างน้อยยืนยันให้ สปสช.จัดหายาปี 61 ต่อไป เพราะกังวลคนไข้ขาดยาและราคาที่จะไม่ถูกเช่นเดิม ชี้คำแนะนำ สตง.ให้ โอนเงินไปยังรพ.ราชวิถี เป็นเครือข่ายหน่วยบริการจัดซื้อไม่มีกฎหมาย
 
วันนี้ (18 สค. 60) ห้องประชุมห้องประชุมนายแพทย์สงวนฯ ชั้น 2 สปสช. คณะกรรมการควบคุมสำนักงานหลักประกันสุขภาพ ได้จัดประชุมวาระเร่งด่วน กรณีการจัดซื้อยาประจำปี 2561 ที่จะต้องมีการจัดซื้อก่อนหมดปีงบประมาณในเดือนกันยายน นี้ ทั้งนี้ กรรมการสปสช.เสียงข้างน้อยยืนยันให้ สปสช. เป็นผู้จัดหายาเช่นเดิม เนื่องจากมีความต่อเนื่องและได้ดำเนินการจัดทำมาก่อนหน้านี้แล้ว และกระทรวงสาธารณสุขได้มีการแจ้งให้สปสช.เป็นผู้จัดหายาก่อนเนื่องจากยังไม่พร้อมดำเนินการ
 
นางสาวสารี  อ๋องสมหวัง  ตัวแทนกรรมการควบคุมฯเสียงข้างน้อย กล่าวว่า เนื่องจากระยะเวลาในการจัดซื้อยาเหลืออีกไม่กี่เดือนควรจะให้สปสช.เป็นผู้ดำเนินการต่อในปี 61  ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวเป็นข้อเสนอที่สอดคล้องกับของ กระทรวงสาธารณสุขเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ที่ยังไม่มีความพร้อมในการจัดการซื้อในระยะเวลาที่กระชั้น และอาจจะยังไม่สามารถจัดหายาในราคาที่สปสช.ได้ดำเนินการมาก่อนหน้านี้ 
 
 “การตัดสินใจที่จะให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้จัดหาซื้อยาในครั้งนี้จะสร้างความเสี่ยงให้กับผู้ป่วย และจะทำให้เกิดปัญหาเรื่องการขาดแคลนยา และการสั่งการจากกระทรวงสาธารณสุขที่ให้รพ.ราชวิถีเป็นผู้จัดซื้อยา ทางรพ.มีความพร้อมหรือไม่ ถือเป็นเรื่องใหญ่มากที่ต้องพิจารณา และเห็นว่าควรใช้ระบบเดิมก่อน เพื่อประโยชน์ของคนไข้ ซึ่งขณะนี้กำลังแก้กฎหมายควรจะทำให้ถูกต้องอย่างที่ดำเนินการมา” นางสาวสารี กล่าว
 
ด้านตัวแทนผู้ติดเชื้อเอชไอวี เอดส์ กล่าวว่า อยากให้มีการจัดการที่ชัดเจน โดยให้สปสช.เป็นคนจัดหาซื้อยาก่อน เพราะหากผู้ติดเชื้อขาดยาคงแย่มากอาจมีภาวะดื้อยา เพราะที่ผ่านมาพวกตนได้รับยาต้านอย่างต่อเนื่อง 15 ปี จึงให้สุขภาพดีสามารถดำเนินชีวิตได้ปกติ 
 
ด้านประธานเครือข่ายผู้ป่วยโรคไต กล่าวว่า ตอนนี้มีผู้ป่วยโรคไตที่ล้างไตทางช่องท้องที่รอดชีวิตกว่า 25,000 ราย แล้วถ้าระบบที่จะถูกเปลี่ยนในตอนนี้ไปให้อีกหน่วยงานหนึ่งจัดการแล้วทำให้พี่น้องผู้ป่วยโรคไตไม่ไดรับยาต่อเนื่อง ชีวิตจะทำอย่างไร ผู้ติดเชื้อมีโอกาสดื้อยา แต่ผู้ป่วยโรคไตไม่มีโอกาสรอด เสียชีวิตอย่างเดียว แล้วหากเกิดกรณีที่ยาไม่ต่อเนื่อง แล้วผู้ป่วยเสียชีวิต หน่วยงานเช่น สตง. สธ. สปสช. จะสามารถรับผิดชอบชีวิตผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้ไหม อย่างไรก็ยืนยันให้สปสช.เป็นผู้จัดหาซื้อยาในปี 61ก่อนเพื่อพี่น้องผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่จะได้รับยาได้อย่างต่อเนื่อง  
 
ทั้งนี้ ข้อสังเกตของกรรมการเสียงข้างน้อย 4 คน ประกอบด้วย นส.สารี อ๋องสมหวัง นางสุนทรี เซ่งกิ่ง ผศ.ดร.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข นส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ที่ค้านมติที่ให้ รพ.ราชวิถี เป็นเครือข่ายหน่วยบริการ จัดซื้อยาแทนสปสช.  ตามโครงการพิเศษ ปี 2561 นั้น มีข้อสังเกต ดังนี้
 
1. การดำเนินการที่เสนอนั้นไม่มีกฎหมายรองรับ
1.1) การกำหนดให้อยู่ในรูปเครือข่ายหน่วยบริการ เพื่อมารับเงินกองทุนนั้น ขัดกับหน้าที่ของหน่วยบริการ (และเครือข่ายหน่วยบริการตามมาตรา 44) ที่กำหนดในมาตรา 45 เพราะไม่มีการกำหนดหน้าที่ในการจัดหายา เวชภัณฑ์  อวัยวะเทียม และอุปกรณ์ทางการแพทย์
1.2) คณะกรรมการจะใช้ฐานอำนาจอะไรในการโอนให้เครือข่ายหน่วยบริการดังกล่าว เพราะ ยังไม่ได้เกิดการให้บริการสาธารณสุข ถ้าจ่ายไปจะเป็นการจ่ายล่วงหน้า (Prepaid) ที่สตง. เคยมีข้อทักท้วงและให้ สปสช. ยุติการจ่ายในลักษณะดังกล่าว
1.3) หากกรณีรพ.ราชวิถี สามารถซื้อยาได้ (ยาที่ซื้อถือเป็นสินทรัพย์ของราชวิถี) เรื่องการกระจายยา จะทำได้หรือไม่ โดยใช้ข้อกฎหมายใดในการรองรับ?
 
       เท่าที่ผ่านมา ในงานบริหารเวชภัณฑ์ระดับโรงพยาบาล การขอรับการสนับสนุนเวชภัณฑ์ ข้ามสังกัดฯ กองฯ ก็เป็นสิ่งที่ทำได้ยากอยู่แล้ว การสนับสนุนข้ามไปยัง กระทรวงอื่นฯ เช่น กระทรวงกลาโหมหรือกลุ่มโรงเรียนแพทย์ จะต้องมีกฎหมายใดมารองรับ
1.4) ภารกิจของโรงพยาบาลราชวิถี มีกฎหมายใดรองรับให้ทำหน้าที่จัดหายาให้กับโรงพยาบาลต่างๆทั่วประเทศทั้งรัฐและเอกชน
 
2. ความพร้อม และความมั่นใจในการบริหารจัดการของ รพ.ราชวิถี ในการทำหน้าที่เป็นเครือข่ายหน่วยบริการเพื่อจัดหายา เวชภัณฑ์  อวัยวะเทียม และอุปกรณ์ทางการแพทย์ แทน สปสช.มีมากน้อยเพียงใด เช่น อำนาจการสั่งซื้อ การจัดการในด้านการสั่งซื้อ  และการจัดการปัญหาหากมีปัญหายาขาดคราว ซึ่งที่ผ่านมา สปสช. เป็นผู้รับผิดชอบแก้ปัญหา ไม่ใช่องค์การเภสัชกรรม การโอนยาของตนเองไปให้หน่วยบริการอื่น