มพบ. แนะ อย. ยกเลิก จดแจ้งเครื่องสำอางออนไลน์ หวังลดปัญหาเครื่องสำอางผิดกฏหมาย
เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนะ อย. ควรยกเลิกการจดแจ้งเครื่องสำอางออนไลน์ เพื่อลดปัญหาเครื่องสำอางผิดกฎหมาย และดาราที่รับรีวิวต้องมีส่วนรับผิดชอบ
เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 61 นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) กล่าวว่า วิธีการหนึ่งที่สามารถลดปัญหาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางผิดกฎหมาย คือ การยกเลิกจดแจ้งขออนุญาตผลิตเครื่องสำอางออนไลน์ (e-Submission) และอย่างน้อยควรไปจดแจ้งโดยตรงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นหลักฐานในการยืนยันว่าใครเป็นผู้ผลิตและสถานที่ผลิตเป็นไปตามที่ระบุหรือไม่
ส่วนการรีวิวผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้อง นางสาวสารี กล่าวว่า ดาราที่รับรีวิวต้องมีส่วนในการรับผิดชอบ เพราะการรีวิวและเขียนสรรพคุณบอกผู้บริโภคถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการโฆษณาตามมาตรา 41 พระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 ระบุว่า ข้อความที่โฆษณาต้องไม่ใช่ข้อความที่ไม่เป็นธรรมและเกิดผลเสียต่อสังคมส่วนรวม ได้แก่ ข้อความดังต่อไปนี้ (1) ข้อความที่เป็นเท็จหรือเกินความจริง (2) ข้อความที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสําคัญเกี่ยวกับเครื่องสําอาง ไม่ว่าจะกระทําโดยใช้หรืออ้างอิงรายงานทางวิชาการ สถิติ หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอันไม่เป็นความจริงหรือเกินความจริงหรือไม่ก็ตาม (3) ข้อความที่แสดงสรรพคุณที่เป็นการรักษาโรคหรือที่มิใช่จุดมุ่งหมายเป็นเครื่องสําอาง (4) ข้อความที่ทําให้เข้าใจว่ามีสรรพคุณบํารุงกาม
สำหรับกรณีของเมจิกสกิน ดาราที่รับรีวิวทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดในตัวสินค้า จึงเป็นการโฆษณาที่ผิดกฎหมายและมีการระวังโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
"ดาราควรตรวจสอบผลิตภัณฑ์ก่อนจะนำไปรีวิว ว่าผลิตภัณฑ์นั้นๆ ได้ขออนุญาตจาก อย. (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา) อย่างถูกต้องหรือไม่ รวมทั้งอยากให้ดาราเห็นความสำคัญกับผู้บริโภค และมีหัวใจคุ้มครองผู้บริโภค ไม่รีวิวผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้ใช้ ดังเช่น ในต่างประเทศ ดาราที่จะรับรีวิวต้องใช้ผลิตภัณฑ์นั้นอย่างน้อย 6 เดือนจึงจะนำมารีวิวได้" นางสาวสารีกล่าว
นางสาวสารีกล่าวต่อว่า ในปัจจุบัน การมีเครื่องหมาย อย. แสดงอยู่บนบรรจุภัณฑ์ไม่ได้เป็นสิ่งยืนยันว่าผลิตภัณฑ์เหล่านั้นปลอดภัย เนื่องจากมีผู้ประกอบการบางรายนำเครื่องหมาย อย. ของสินค้าอื่นไปแอบอ้าง ดังนั้น ผู้บริโภคควรป้องกันปัญหาด้วยการนำเลขใบสำคัญของผลิตภัณฑ์นั้นๆ ไปตรวจสอบในเว็บไซต์ของ อย.
นอกจากนี้ นางสาวสารียังเสนอให้ อย. เปิดฐานข้อมูลอนุญาตโฆษณา ยา อาหาร และเครื่องมือแพทย์ เพื่อให้ผู้บริโภค ผู้โฆษณา รวมถึงเจ้าของสื่อโฆษณา สามารถตรวจสอบได้ว่า ผลิตภัณฑ์นั้นๆ ขออนุญาตโฆษณา และคำที่ใช้โฆษณาตรงตามที่แจ้งไว้หรือไม่ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการโฆษณาที่ไม่ได้รับอนุญาต และโฆษณาเกินจริงได้ด้วย