2nd benefit

2nd benefit

  • หน้าแรก
  • ด้านอาหาร ยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ

สาวเชียงใหม่พบแมลงสาบในขวดน้ำจิ้มบ๊วยยี่ห้อดัง เป็นความโชคร้ายของผู้บริโภคจริงหรือ?

food complaint2.3

               จากข่าวกระแสออนไลน์รายงานว่า เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 64 ผู้บริโภครายหนึ่งอ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ร้องเรียนกับนายบุญญฤทธิ์ นิปวณีย์ ปลัดอำเภอแม่ริม จ.เชียงใหม่ พร้อมเจ้าหน้าที่อำเภอขณะลงพื้นที่ตรวจสอบกรณีประชาชนร้องเรียนพบแมลงสาบตัวใหญ่ในขวดน้ำจิ้มบ๊วยยี่ห้อหนึ่ง ที่ซื้อมาจากร้านสะดวกซื้อใน ต.แม่ริมเหนือ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ โดยผู้บริโภครายดังกล่าว ได้นำขวดน้ำจิ้มยี่ห้อดัง ซึ่งมีโรงงานผลิตอยู่ที่จ.เชียงราย และส่งขายไปทั่วประเทศราคาขวดละ 43 บาท และจากการตรวจสอบพบว่าฝาขวดยังปิดสนิท แผ่นพลาสติกหุ้มฝายังไม่ถูกฉีกออก ภายในขวดพบแมลงสาบตัวโตเต็มวัยลอยอยู่ จึงเก็บไว้เป็นหลักฐาน 

               ผู้ร้องเปิดเผยว่า ซื้อมาจากร้านสะดวกซื้อแถวลตลาดค้าส่งแห่งใหญ่กลางเมืองเชียงใหม่ โดยซื้อทีละหลายๆ ขวดเพื่อนำไปส่งให้ตามร้านอาหารต่างๆ ในหมู่บ้าน เพื่อนำไปใช้ประกอบอาหารให้กับลูกค้า แต่ระหว่างส่งสินค้า สังเกตเห็นวัตถุดำๆ ลอยอยู่บริเวณขวดน้ำจิ้มบ๊วย เมื่อนำมาดูใกล้ ๆ ก็รู้สึกตกใจ เห็นเป็นแมลงสาบตัวใหญ่ลอยตายอยู่ในขวด จึงโทรศัพท์ติดต่อไปยังบริษัทที่ผลิตที่ติดอยู่ข้างขวด แต่ทางบริษัทกลับพูดทำนองว่าเป็นความโชคร้ายของผู้ซื้อเอง ซึ่งแสดงถึงความไม่รับผิดชอบ เงิน 43 บาท ตนไม่เสียดาย แต่เสียความรู้สึกที่ได้รับคำตอบแบบนั้น

               ด้านนางสาวมลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า มันไม่ใช่ความโชคร้ายของผู้บริโภค ถ้าผู้บริโภคเจอแบบนี้ต้องรักษาสิทธิของตนเอง คือสิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ การพบเจอสิ่งแปลกปลอมในอาหารผู้บริโภคสามารถร้องเรียนได้ โดยมีขั้นตอนดังนี้

            1. ถ่ายรูป (ฉลากโดยเฉพาะวันผลิต – วันหมดอายุและตัวสินค้า) พร้อมเก็บบรรจุภัณฑ์ของสินค้าและใบเสร็จจากร้านที่ซื้อไว้เป็นหลักฐาน (ให้ถ่ายสำเนาใบเสร็จเก็บไว้ด้วย)
            2. นำหลักฐานทั้งหมดแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษที่สถานีตำรวจท้องที่ เพื่อเป็นหลักฐาน
            3. ให้ติดต่อแหล่งจำหน่ายอาหารที่ซื้อมา ซึ่งต้องคิดให้ดี ว่า เราต้องการให้เขาดำเนินการอย่างไร เพื่อแก้ไขปัญหา พร้อมชดเชย เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น
                - ขอเปลี่ยนสินค้า
                - ขอเงินคืน
                - จ่ายค่าเสียเวลา ค่าขาดประโยชน์ และค่าใช้จ่ายในการติดต่อกับผู้ประกอบการ
                - ให้ทำหนังสือชี้แจงเหตุของสิ่งผิดปกติและขอโทษต่อผู้เสียหายและสาธารณะ เป็นต้น
            4. หากไม่สามารถตกลงกันได้ ให้ทำหนังสือยื่นกับผู้ประกอบการ บรรยายสรุปปัญหาที่พบ พร้อมข้อเรียกร้อง โดยส่งถึงประธานกรรมการบริหารหรือตำแหน่งอื่นที่เทียบเท่า
            5. หากติดใจดำเนินคดีเรียกร้องค่าเสียหายสามารถฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคได้ โดยนำหลักฐานไปติดต่อเจ้าพนักงานแผนกคดีผู้บริโภคที่ศาลในพื้นที่ที่เกิดเหตุ เพื่อจัดทำคำฟ้องให้แก่ผู้บริโภค โดยการฟ้องคดีผู้บริโภคผู้ฟ้องจะได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล

            นางสาวมลฤดีกล่าวว่า “การเจอสิ่งแปลกปลอมในอาหารถือว่าเป็นอาหารไม่บริสุทธ์ ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต นำเข้าเพื่อจำหน่ายซึ่งอาหารดังต่อไปนี้ มาตรา 25 (1) อาหารไม่บริสุทธ์ คืออาหารที่มีสิ่งที่น่าจะเป็นอันตรายแก่สุขภาพเจือปนอยู่ด้วย มีความผิดตามมาตรา 58 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 25 (1) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ “


“ถ้าผู้บริโภคพบเจอแบบนี้ให้ใช้สิทธิของตัวเองในการร้องเรียน และให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการตรวจสอบสถานที่ผลิตอย่างโดยเร็ว ว่าโรงงานนั้นมีใบอนุญาตและผ่านมาตรฐาน GMP ย่อมาจาก Good Manufacturing Practice หมายถึง มาตรฐานในการผลิตอาหาร หรือไม่ ถ้าไม่มีก็ต้องดำเนินตามกฎหมายอย่างจริงจัง และบริษัทต้องรับผิดชอบในการผลิตอาหารที่ไม่สะอาดมาจำหน่ายให้กับผู้บริโภค” นางสาวมลฤดีกล่าวเพิ่มเติม

ขอบคุณข้อมูลจาก เดลินิวส์ออนไลน์

Tags: อาหาร , อนุกรรมการด้านอาหารยาผลิตภัณฑ์สุขภาพ, อาหารไม่บริสุทธิ์, ร้องทุกข์หนึ่งครั้งดีกว่าบ่นพันครั้ง, คดีผู้บริโภค, พรบ.อาหาร 2522