ภาคประชาชน ร้องนายกฯ ยกเลิก 'พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส'
เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง ร้องนายกฯ พิจารณายกเลิกพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์หาวิธีการทดแทน และเสนอให้กระทรวงการคลังศึกษาและจัดเก็บภาษีจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีอันตรายร้ายแรง หากพบว่ามีผลกระทบต่อต้นทุนของเกษตรกร ด้าน คอบช.สำรวจความเห็นประชาชนร้อยละ 91.5 หนุนเลิกใช้
เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 61 เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรงซึ่งประกอบด้วยองค์กรภาควิชาการและองค์กรภาคประชาสังคม 686 องค์กร โดยนางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้แทนเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารเคมีที่มีอันตรายร้ายแรงอ่านแถลงการณ์และยื่นจดหมายถึงนายกฯ ขอให้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ทบทวนมติและกระบวนการพิจารณาเพื่อยกเลิกการใช้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส โดยมี นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีมารับจดหมาย เสนอให้ ตั้งคณะทำงานร่วมโดยมีสัดส่วนของภาคีเครือข่ายภาคประชาชนร่วมด้วย เพื่อให้ศึกษา รวบรวมข้อมูลทางวิชาการ และทบทวนมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งทางกระทรวงเกษตรฯ รับเป็นเจ้าภาพในการนำเสนอข้อเท็จจริงใหม่ กับคณะกรรมการวัตถุอันตรายพิจารณาอีกครั้ง โดยจะใช้กรอบเวลาพิจารณาใหม่ 60 วัน หลังจากคณะทำงานร่วมยื่นข้อเท็จจริงใหม่แล้ว
จดหมายถึงนายกฯ ความว่า ตามที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายได้มีการประชุมครั้งที่ 30-1/2561 และมีการพิจารณาการควบคุมวัตถุอันตราย 3 ชนิด ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา และมีมติไม่ยกเลิกการใช้วัตถุอันตรายทั้ง 3 ชนิด โดยให้เหตุผลว่า ข้อมูลผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพยังไม่เพียงพอ ซึ่งขัดแย้งกับผลการพิจารณาของคณะกรรมการหลายชุดก่อนหน้านี้ รวมทั้งความเห็นของประชาคมวิชาการและมติของสภาเกษตรกรแห่งชาติ ในการนี้เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรงซึ่งเป็นเครือข่ายภาคประชาชน 686 องค์กร ที่ได้ติดตามสถานการณ์เรื่องนี้และสนับสนุนมติของกระทรวงสาธารณสุข มีข้อสังเกตต่อกระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการวัตถุอันตรายและการทำงานของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการควบคุมวัตถุอันตราย พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ดังนี้
1) ในขณะที่กรมวิชาการเกษตรขอปรึกษาคณะกรรมการวัตถุอันตรายในประเด็นผลกระทบต่อสุขภาพ เพื่อควบคุมสารทั้ง 3 ชนิด แต่การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการควบคุมวัตถุอันตรายฯ กลับเลือกตัวแทนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และอดีตข้าราชการกระทรวงเกษตรฯ ถึง 4 คน และอีก 4 คนเลือกจากผู้ที่แสดงจุดยืนสนับสนุนกระทรวงเกษตรฯ จากคณะกรรมการที่มีจำนวน 12 คน ซึ่งล้วนแต่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านผลกระทบต่อสุขภาพ
2) อนุกรรมการเฉพาะกิจฯดังกล่าวใช้ข้อมูลเก่าล้าสมัย เพื่อโน้มน้าวให้มีการใช้สารพิษร้ายแรงดังกล่าวต่อไป โดยเพิกเฉยต่อข้อมูลเชิงประจักษ์และรายงานใหม่ๆเป็นจำนวนมาก จนกระทั่งเครือข่ายนักวิชาการจากหลายสถาบัน เช่น สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยนเรศวร ต้องจัดเวทีให้ข้อเท็จจริงทางวิชาการ
3) กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการวัตถุอันตรายในวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 มีกรรมการอย่างน้อย 3 คนมีส่วนได้เสียกับสมาคมค้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืช แต่กลับไม่มีการแสดงการมีส่วนได้เสียและไม่มีการสละสิทธิ์ลงคะแนน ซึ่งอาจขัด พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 มาตรา 12 วรรค 2
เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง จึงขอกราบเรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีได้โปรดพิจารณาบัญชาให้มีการดำเนินการ ดังนี้
1) ให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายทบทวนมติ และพิจารณายกเลิกพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส ในเดือนธันวาคม 2562 ตามกรอบเวลาที่กระทรวงสาธารณสุขได้เสนอไว้ โดยกระบวนการพิจารณาข้อมูลและลงมติต้องไม่มีผู้มีส่วนได้เสียเข้าร่วม เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 มาตรา 12 วรรค 2 ใช้ข้อมูลที่ทันสมัย เป็นกลางทางวิชาการ และมาจากหน่วยงานที่มีความเชียวชาญโดยตรง ได้แก่ ผลการพิจารณาของกระทรวงสาธารณสุข (เอกสารแนบ 1 และ 3) คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (เอกสารแนบ 4) และข้อมูลจากเครือข่ายประชาคมวิชาการ (เอกสารแนบ 5) ซึ่งเพียงพอต่อการพิจารณายกเลิกการใช้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส เนื่องจากเป็นเหตุผลที่สอดคล้องกับ 53 ประเทศที่ยกเลิกการใช้พาราควอตไปก่อนหน้านี้ และเป็นไปตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (เอกสารแนบ 7) นำประเทศมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
2) ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการศึกษาหาวิธีการทดแทน ตามมติของสภาเกษตรกรแห่งชาติ (เอกสารแนบ 2) เพื่อปกป้องคุ้มครองสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค ทั้งนี้จากการสำรวจของเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช พบว่า เกษตรกรผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ ข้าว อ้อย ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน ยางพารา และมันสำปะหลัง ร้อยละ 63 ไม่ได้ใช้พาราควอตในการกำจัดวัชพืช นั่นหมายถึงมีสารกำจัดวัชพืชชนิดอื่นและวิธีการในการจัดการวัชพืชที่มีประสิทธิภาพมากกว่าพาราควอตอยู่แล้ว หากแต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่ได้รวบรวมองค์ความรู้เหล่านี้มาเผยแพร่ในวงกว้าง
3) ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน ก่อนจะยกเลิกการใช้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอสในปี 2562 หากพบว่ามีผลกระทบต่อต้นทุนของเกษตรกร เสนอให้กระทรวงการคลังศึกษาและจัดเก็บภาษีจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีอันตรายร้ายแรง มาใช้ในการเยียวยาผลกระทบและสนับสนุนให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนวิธีจัดการวัชพืชที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะลดผลกระทบจากการถูกกีดกันทางการค้าจากความไม่ปลอดภัยของสารพิษตกค้าง การละเมิดสิทธิเกษตรกรที่ใช้สารพิษที่อันตรายร้ายแรง ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรของไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกในระยะยาว
ในขณะเดียวกัน คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และองค์กรภาควิชาการกับองค์กรภาคประชาสังคม 686 องค์กร สอบถามความเห็นของประชาชนผ่านแบบสอบถามออนไลน์ วันที่ 1-5 มิถุนายน 2561 หัวข้อ "ต้องการให้หยุดใช้ ยาฆ่าหญ้า-พาราควอต กับ ยาฆ่าแมลง-คลอร์ไพริฟอส หรือไม่" พบว่าผู้ตอบแบบสอบถาม 50,417 ราย หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 91.5 ต้องการให้หยุดใช้สารเคมีดังกล่าว และ 4,683 ราย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 8.5 ไม่ต้องการให้หยุดใช้