เครือข่ายประชาชนภาคอีสาน เรียกร้องรัฐ จัด“สวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า ”
เมื่อวันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๖๑ ที่โรงแรมพิมานการ์เดน อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น จัดประชุมเครือข่ายระดับภูมิภาค เรื่อง การขับเคลื่อนสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้าภาคประชาชน (ภาคอีสาน) ซึ่งมีองค์กรร่วมจัดประกอบด้วย คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)ภาคอีสาน , สมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น, มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ, วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิตและเครือข่ายภาคประชาชน
มีผู้เข้าร่วมจำนวน ๔๕ คน จากผู้แทนเครือข่ายใน ๘ จังหวัด ภาคอีสานได้แก่ จังหวัดขอนแก่น กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม นครพนม อำนาจเจริญ นครราชสีมา สุรินทร์ โดยมีวัตถุประสงค์นำเสนอผลการศึกษาวิจัยการประเมินผลกระทบโครงการเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดและการประเมินการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย , แลกเปลี่ยนสถานการณ์ผลกระทบในระดับพื้นที่เกี่ยวกับนโยบายเงินอุดหนุนเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดจากนโยบายที่จำกัดเฉพาะคนยากจน , เพื่อรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะในการขับเคลื่อนนโยบายเงินอุดหนุนเด็กเล็กสู่ถ้วนหน้า และเชื่อมโยงเครือข่ายเชิงประเด็น / ชุมชน / ท้องถิ่น สวัสดิการสังคม ทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคม วิชาการ
จากการขับเคลื่อนรณรงค์เพื่อผลักดันให้รัฐบาลสนับสนุนเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า ๐-๖ ปีจากภาคประชาสังคมหลายเครือข่าย ทั้งสถาบันวิชาการ เครือข่ายด้านเด็ก คนพิการ แรงงาน ผู้หญิง ร่วมกับ ยูนิเซฟ จนกระทั้งรัฐบาลตัดสินใจจัดทำโครงการนำร่องทดลองจ่ายอุดหนุนเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดในกลุ่มเด็กยากจนอายุ ๐-๑ ปี คนละ ๔๐ บาท ในปี ๒๕๕๘ และเมื่อดำเนินการมาได้ระยะหนึ่งรัฐบาลก็ได้ประกาศขยายวงเงินอุดหนุนเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดจากเดิม ๔๐๐ บาทเป็น ๖๐ บาท และขยายระยะเวลาในการให้เงินอุดหนุนเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดจาก ๑ ปีมาเป็น ๓ ปี ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังคงกำหนดกลุ่มเป้าหมายไว้เฉพาะในกลุ่มเด็กยากจนเท่านั้น
ผลในเบื้องต้นจากการศึกษาวิจัยเรื่อง "การประเมินผลกระทบโครงการเงินอุดหนุนเด็กแรกและการประเมินการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย" ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (Thailand Development Research Institute) ซึ่งร่วมกับอีก ๕ หน่วยงานที่สำคัญได้แก่ Economic Policy Research Institute , องค์การ UNICEF ประเทศไทย, กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น พบว่า จากผลการดำเนินงานโครงการเงินอุดหนุนเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดเป็นโครงการที่ดี เพราะสามารถบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับเด็กเล็กของครอบครัวได้ อย่างไรก็ตาม จากประเมินการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย (Targeting Assessment) พบว่า ยังมีเด็กที่อยู่ในครอบครัวจนและกลุ่มที่มีภาวะเสี่ยงจนไม่ได้รับเงินอุดหนุน อันเนื่องมาจากปัญหาความซับซ้อนในการค้นหากลุ่มเป้าหมายตามโครงการของรัฐบาล
หากพิจารณาถึงคำแนะนำความคุ้มครองทางสังคมขั้นพื้นฐาน (ILO Recommendation ๒๐๒) ซึ่งเสนอไว้ว่า หากประเทศไทยให้ความคุ้มครองทางสังคมในด้านต่าง ๆ พัฒนาขึ้นไปเป็นลำดับ โดยมีแนวคิดและความมุ่งหวังของสังคมไทยร่วมกัน สวัสดิการสังคมทั้งระบบควรจะเริ่มตั้งแต่ครรภ์มารดาจนถึงเชิงตะกอน อย่างไรก็ตาม การเริ่มต้นดูแลสวัสดิการของกลุ่มเด็กเล็กวัย ๐-๖ ปีนั้น ประเทศไทยยังถือว่าเป็นช่องว่างของระบบความคุ้มครองทางสังคมในปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นฐานความเชื่อมโยงสวัสดิการทั้งระบบที่สำคัญของการพัฒนาสวัสดิการสังคมในสังคมไทย และหากยิ่งมีการจำกัดเฉพาะครอบครัวยากจน ในวัย ๐-๓ ปี จึงยิ่งทำให้สวัสดิการของเด็กเล็กไม่สมบูรณ์
ทางด้านนายปฏิวัติ เฉลิมชาติ ผู้จัดการสมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่นกล่าวว่า เห็นด้วยที่จะให้รัฐจัดสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กที่เป็นแบบถ้วนหน้าเพราะนี่คือการทำระบบสังคมถ้วนหน้า รัฐต้องให้ความสำคัญ ในส่วนภาคประชาชนไม่รอรัฐบาลซึ่งในขณะนี้เราได้ขับเคลื่อนบำนาญประชาชน ที่จะเปลี่ยนเบี้ยยังชีพให้เป็นบำนาญแห่งชาติ มีการให้ความรู้ความเข้าใจกับแกนนำเครือข่ายต่างๆ และช่วยกันสื่อสารเรื่องนี้ออกสู่สาธารณะให้มาก ถ้าหากนำสองเรื่องนี้มาขับเคลื่อนร่วมกันคือเรื่องสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กที่เป็นแบบถ้วนหน้าและบำนาญประชาชนสามารถที่จะทำได้เพราะเป็นเรื่องระบบสวัสดิการสังคมถ้วนหน้า ในส่วนจังหวะการขับเคลื่อนภาคประชาชนต้องจัดทัพให้ดีมีข้อเสนอดังนี้
งานทางวิชาการที่มีงานวิจัย มีนักวิชาการออกมาช่วยกันพูดเรื่องนี้สู่สาธารณะ
งานทางการเมือง เช่นการเสนอให้พรรคการเมืองนำไปเป็นนโยบาย
ภาคประชาชนทุกภาคีเครือข่ายนำเอาเรื่องการทำระบบสวัสดิการสังคมถ้วนหน้าเป็นประเด็นร่วมและนำไปสื่อสาร เตรียมคนพร้อมที่จะออกมาเคลื่อนทุกรูปแบบ ซึ่งมีแผนการทำงานในการสร้างการรับรู้ เช่น วันที่ ๒๑ กค. ๖๑ ภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ , ภาคอีสาน ๒๑ ตค.๖๑ เป็นต้น
งานทางด้านการสื่อสารสู่สาธารณะเพื่อให้การศึกษา ให้ข้อมูลกับคนสังคมผ่านทางโชเชี่ยลมีเดียต่างๆ สื่อกระแสหลัก ต่างๆ
จากนี้ไปทุกเครือข่ายจะร่วมกันขับเคลื่อนระบบสวัสดิการสังคมถ้วนหน้า ทั้งในเรื่องสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กที่เป็นแบบถ้วนหน้าและบำนาญแห่งชาติต่อไป
ศูนย์ข่าวผู้บริโภคภาคอีสาน : รายงาน