2nd benefit

2nd benefit

องค์กรผู้บริโภคภาคอีสาน จัดเวทีความร่วมมือ 'ความปลอดภัยรถรับส่งนักเรียน จ.ขอนแก่น'

วานนี้ (11 ก.ค.60) ณ ห้องอัพทาวน์ โรงแรมขอนแก่นโฮเต็ล อ.เมือง จ.ขอนแก่น

สมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่นและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคอีสาน จัดเวทีความร่วมมือในการจัดการ “ รถรับส่งนักเรียนปลอดภัย  ” ระดับจังหวัด โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จากสถานการณ์กรณีรถรับส่งนักเรียนที่เกิดอุบัติเหตุในพื้นที่อำเภอน้ำพอง จ.ขอนแก่น เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2560 นำมาซึ่งความสูญเสียทั้งนักเรียน ผู้ปกครอง คนขับรถรับส่งนักเรียนและสถานศึกษา เป็นที่มาของการสำรวจคุณภาพและความปลอดภัยรถรับส่งนักเรียนในจังหวัดขอนแก่นและการดำเนินการนำร่องเพื่อสร้างพื้นที่การจัดการรถรับส่งนักเรียนปลอดภัยขึ้น

         นายปฏิวัติ เฉลิมชาติ  ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคอีสาน กล่าวว่า การประชุมในวันนี้เป็นการแลกเปลี่ยนสถานการณ์ปัญหารถรับส่งนักเรียนในจังหวัดขอนแก่นและการสร้างความร่วมมือในการในการดำเนินงานให้รถรับส่งนักเรียนมีความปลอดภัย  ซึ่งมีผู้เข้าร่วมจำนวน 30 คน จากโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 25 ,โรงเรียนในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น และเครือข่ายผู้บริโภคในพื้นที่จังหวัดอุดรธานีและจังหวัดยโสธร

         โดยบรรยากาศในเวทีมีการร่วมแลกเปลี่ยนในประเด็น “บทบาทหน่วยงาน และแนวทางความร่วมมือเพื่อรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย ” โดยมีวิทยากรจากหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ ดร.สายัณห์ ผาน้อย (ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 25), นายกฤษฎา  มะลิซ้อน  (หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการ สำนักงานขนส่งจังหวัดขอนแก่น) และ นายสุวิไชย ศรีเสม (รองผู้อำนวยการสำนักการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม องค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น)

         นายศตคุณ คนไว  เจ้าหน้าที่สมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น ได้นำเสนอผลการสำรวจข้อมูลคุณภาพและความปลอดภัยของรถรับส่งนักเรียนในจังหวัดขอนแก่น โดยการสอบถามจากผู้ปกครองและนักเรียน เมื่อช่วงเดือน กุมภาพันธ์-มีนาคม 2560 ในพื้นที่สุ่มสำรวจ 3 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนน้ำพองศึกษา, โรงเรียนน้ำพอง และโรงเรียนหนองเรือวิทยา 

         จากผลการสำรวจ พบว่า นักเรียนเดินทางไปกลับโรงเรียนโดยรถกระบะดัดแปลงแบบมีหลังคา  รถบัส  รถสองแถว  รถตู้ และรถสี่ล้อใหญ่ ตามลำดับ นักเรียนส่วนใหญ่ไม่ทราบว่ารถที่ตนโดยสารมีการทำประกันภัยหรือไม่ และพบว่ามีการบรรทุกผู้โดยสารตั้งแต่ 17 - 40 คน โดยนักเรียนส่วนใหญ่ไม่ได้คาดเข็มขัดนิรภัย และยืนโดยสารบนรถเนื่องจากจำนวนที่นั่งไม่เพียงพอ อีกทั้งไม่พบอุปกรณ์จำเป็นกรณีฉุกเฉิน เช่น ถังดับเพลิง ซึ่งรถที่นำมาให้บริการมีอายุการใช้งานตั้งแต่ 8 - 10 ปี ส่วนใหญ่มีการทำประกันภัยภาคบังคับ และผู้ปกครองส่วนใหญ่จ่ายค่าโดยสารตั้งแต่ 300 - 1,000 บาทต่อเดือน

         ทั้งนี้ ผู้ตอบแบบสำรวจได้ฝากข้อเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดอบรมให้กับคนขับรถรับส่งนักเรียน  การคิดค่าโดยสารให้เหมาะสมกับระยะทาง  ควรมีการตรวจเช็คสภาพรถก่อนนำมาให้บริการ ควรมีผู้ดูแลควบคุมบนรถรับส่งนักเรียน การบรรทุกผู้โดยสารเกินจำนวนที่กำหนด ไม่มีที่นั่งหรือจำนวนรถที่ให้บริการไม่เพียงพอต่อปริมาณของนักเรียน ประเด็นเหล่านี้ จึงนำมาสู่การหารูปแบบการจัดการรถรับส่งนักเรียนปลอดภัยร่วมกัน        

         ด้าน นายวินัย รุมฉิมพลี ผู้อำนวยการโรงเรียนซำสูงพิทยาคม อ.ซำสูง จ.ขอนแก่น กล่าวว่า โรงเรียนของตนอยู่ในสังกัดขององค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น เมื่อได้มีโอกาสมาร่วมเวทีในวันนี้นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อนรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย และตนมีความสนใจจะนำไปดำเนินการในสถานศึกษาที่ดูแลอยู่ และขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยในการดำเนินการ โดยมีเป้าหมายให้นักเรียน ผู้ปกครอง และสถานศึกษาได้รับประโยชน์ร่วมกันต่อไป

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
นายปฏิวัติ เฉลิมชาติ  
โทร.085-100-2777

พิมพ์ อีเมล