2nd benefit

2nd benefit

เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคอีสาน สนับสนุนให้มีกฎหมายสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ

 
 
   วันนี้ วันพุธที่ ๑ พฤศจิกายน  ๒๕๖๐ ตั้งแต่เวลา ๐๘.๓๐-๑๕.๐๐ น. ทีโรงแรมบ้านเชียง อ.เมือง จ.อุดรธานี สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายว่าด้วยหลักเกณฑ์  และวิธีการจัดตั้งองค์กรที่มีความเป็นอิสระตามมาตรา ๔๖  รัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๖๐   ที่ผ่านมาทางคณะยกร่างกฎหมายซึ่งมี สคบ.ทำหน้าที่เป็นเลขานุการได้ทำการยกร่างเสร็จแล้วและกำลังจัดรับฟังในภูมิภาคต่างๆ เพื่อให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ต่อไป  มีผู้เข้าร่วม ประมาณ 315 คน ในวันนี้มีผู้แทนเครือข่ายภาคประชาชนที่ดำเนินงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในภาคอีสาน  ๑๔  จังหวัด  จากจังหวัดขอนแก่น  กาฬสินธุ์  ร้อยเอ็ด  เลย  หนองบัวลำภู  หนองคาย  อุดรธานี  สกลนคร  นครพนม  บึงกาฬ  นครราชสีมา  อุบลราชธานี  มุกดาหาร  อำนาจเจริญ   
 
       ทางด้านนายปฏิวัติ  เฉลิมชาติ  ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคอีสานกล่าวว่า  กฎหมายว่าด้วยองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นกฎหมายที่ภาคประชาชนขับเคลื่อนมา ๒๐ ปี ตั้งแต่ปี ๒๕๔๐ ที่อยู่ในมาตรา ๕๗ จนมารัฐธรรมนูญปี ๒๕๕๐ ในมาตรา ๖๑ และรัฐธรรมนูญปี  ๒๕๖๐ ฉบับปัจจุบันในมาตรา ๔๖ ระบุว่า  สิทธิของผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครอง  และบุคคลย่อมมีสิทธิรวมตัวกันจัดตั้งองค์กรของผู้บริโภคเพื่อคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค  และองค์กรของผู้บริโภคมีสิทธิรวมตัวกันจัดตั้งเป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระเพื่อให้เกิดพลังในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค  โดยได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากรัฐให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ  ทางภาคประชาชนโดยคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค  ภาคประชาชน (คอบช.) ได้ยกร่างกฎหมายโดยใช้ชื่อพระราชบัญญัติสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติใช้ประกอบร่างกฎหมายที่ สคบ.ยกร่างและใช้เป็นฉบับรับฟังความคิดเห็น  ซึ่งมีประเด็นที่ต้องการให้เพิ่มเติมเนื้อหาในการรับฟัง  ดังนี้
๑. ชื่อกฎหมายควรใช้ชื่อ  สภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ จะสะท้อนถึงสถานะองค์กรที่เป็นตัวแทนผู้บริโภคในระดับประเทศได้มากกว่าและการสนับสนุนการรวมตัว  รวมพลังของผู้บริโภค
๒.ความเป็นอิสระของการสนับสนุนงบประมาณ   ควรเป็นเงินอุดหนุนทั่วไปที่รัฐบาลจัดสรรให้โดยตรงเป็นรายปีจากงบประมาณแผ่นดินประจำปีโดยรัฐบาลนำมาจัดสรรให้เป็นจำนวนที่เพียงพอสำหรับการบริหารงานโดยอิสระของคณะกรรมการและค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการดำเนินงานขององค์การแต่ต้องไม่น้อยกว่าห้าบาทต่อหัวประชากรเพราะการให้เงินอุดหนุนแบบรายหัวประชากร  จะเป็นหลักประกันด้านงบประมาณขั้นต่ำขององค์กรในการดำเนินงานที่เพียงพออย่างเป็นอิสระและยั่งยืนเพื่อการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค
๓. องค์ประกอบของคณะกรรมการจำนวนที่แน่นอนคือ ๑๙ คน และสัดส่วนของคณะกรรมการเขตพื้นที่ที่เป็นตัวแทนของผู้บริโภคมากกว่าสัดส่วนผู้เชี่ยวชาญ โดยมีผู้เชี่ยวชาญ ๙ คน, ผู้แทนเขต ๑๐ คน ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้บริโภคทั้งประเทศ 
๔. อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ  คือการสนับสนุนการรวมตัวกันของผู้บริโภคในระดับเขตพื้นที่และจังหวัดในรูปแบบต่างๆ  เช่นสภาผู้บริโภคจังหวัด  และอำนาจในการฟ้องคดีแบบกลุ่ม
๕. ควรแก้ไขจากการมีผู้อำนวยการ  เป็นตำแหน่งเลขาธิการ ซึ่งจะฐานะ  บทบาทเหมือนกับเลขาธิการสำนักงาน  สคบ.,เลขาธิการ อย. เป็นต้น
 
       ทางด้านนางสาวสายอรุณ  แก้วมุงคุณ  ผู้ประสานงานศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน จ.สกลนคร ให้ความเห็นต่อร่างกฎหมายฉบับนี้ว่า  ควรใช้ชื่อสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ  เป็นชื่อที่สะท้อนถึงตัวแทนองค์กรที่มีการรวมตัวกันให้เกิดพลังของผู้บริโภค , ส่วนประเด็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการที่ต้องการเพิ่มเติมคือการสนับสนุนการรวมตัวกันขององค์กรผู้บริโภคในระดับเขตพื้นที่  และจังหวัดในรูปแบบต่างๆ เช่นภาผู้บริโภคจังหวัดและอำนาจในการฟ้องคดีแบบกลุ่มได้ 
 
■ นายศตคณ  คนไว  : ศูนย์ข่าวผู้บริโภคภาคอีสาน  รายงาน