2nd benefit

2nd benefit

ศาลปกครองสั่ง กทม. รื้อตึกสูงในซ.ร่วมฤดีตามคำบังคับคดี หลังปล่อยยืดเยื้อนานกว่า 2 ปี

press 30sep2016 web01 

ศาลปกครองกลางนัดฟังคำสั่งไต่สวนคำร้องของผู้ฟ้องคดีทั้ง 24 ราย เพื่อขอให้ศาลไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีผู้อำนวยการเขตปทุมวันและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ปฏิบัติหน้าที่ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดล่าช้านานเกินกว่า 2 ปี

วันนี้ 30 กันยายน 2559 เวลา 10.30 น. ห้องพิจารณาคดีที่ 9 ศาลปกครองกลางนัดฟังคำสั่งไต่สวนคำร้องของผู้ฟ้องคดีทั้ง 24 ราย  ในคดีหมายเลขดำที่ 1475 / 2551  คดีระหว่าง นายแพทย์สงคราม ทรัพย์เจริญ กับพวก 24 ราย กับ ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ในคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร  กรณีผู้อำนวยการเขตปทุมวัน  และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามคำบังคับคดีของศาลปกครองสูงสุด 

โดย ศาลปกครองมีคำวินิจฉัยว่า เมื่อศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ อ.588/2557 ลงวันที่ 30 ตุลาคม 2557  ตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น แม้ต่อมาจะปรากฏข้อเท็จจริงในชั้นบังคับคดีว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้มีคำสั่งตามมาตรา 40 (1) และ (2) และ มาตรา 41 แห่ง พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 โดยให้ระงับการก่อสร้างอาคาร ห้ามใช้อาคารและให้แก้ไขอาคารและยื่นคำขอใบอนุญาตแล้วก็ตาม แต่เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าเจ้าของอาคาร ในฐานะผู้ร้องสอดทั้งสองมิได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองก็ยังมิได้มีคำสั่งให้ผู้ร้องสอดทั้งสองดำเนินการรื้อถอนอาคารหรือดำเนินการรื้อถอนเองตามมาตรา 42 และมาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวแต่อย่างใด 

ดังนั้น ศาลปกครองกลางจึงมีคำสั่งให้ผู้อำนวยการเขตปทุมวัน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ปฏิบัติตามคำบังคับของศาลปกครองให้ครบถ้วน โดยให้ใช้อำนาจตามมาตรา 42 และ 43 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ดำเนินการกับอาคารของผู้ร้องสอดทั้งสองโดยเร็ว และรายงานผลให้ศาลทราบทุกระยะจนกว่าจะได้มีการปฏิบัติให้เป็นไปตามคำบังคับของศาลปกครองถูกต้อง

นายเฉลิมพงษ์ กลับดี ทนายความมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเจ้าของคดีกล่าวว่า “คดีนี้ใกล้ถึงที่สุดแล้ว ที่ผ่านมา เขตปทุมวันและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เลือกใช้คำสั่งเพียง 2 มาตรา คือ มาตรา 40 และ 41 เพียงเท่านั้น โดยไม่ทำอะไรต่อ ปล่อยให้เวลาเนิ่นนานจนทำให้เกิดความเสียหาย  แต่วันนี้ศาลปกครองมีคำสั่งให้ใช้มาตรา 42  รื้อสิ่งที่ผิดกฎหมายออก แต่หากไม่ปฏิบัติให้ใช้มาตรา 43 โดยให้เจ้าพนักงานควบคุมอาคารเข้ารื้อถอนโดยให้เจ้าของอาคารเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ซึ่งต่อจากนี้ เขตปทุมวันและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครก็จะต้องรีบดำเนินการให้เร็วที่สุด เนื่องจากศาลได้แจ้งแล้วว่าจะต้องมีการรายงานต่อศาลเป็นระยะเพื่อป้องกันการยืดเยื้อ”