สัญญาไม่เป็นสัญญา : เรื่องที่ผู้ซื้อต้องรู้ก่อนเสียเงินจองทำสัญญา

Written on . Posted in คู่มือด้านที่อยู่อาศัย ฮิต: 8564

home-istock2

หลายคนคงมีความฝันที่อยากจะมีบ้านสักหลังหรืออาคารชุดสักห้องเป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะเพราะความจำเป็นของครอบครัว หรือการอยากมีบ้านหลังแรกในชีวิตแต่การลงทุนเรื่องที่อยู่อาศัยทุกวันนี้ มีปัจจัยความเสี่ยงหลายอย่าง ทั้งจากตัวผู้ซื้อที่ไม่มีความพร้อมจากสภาพเศรษฐกิจ และความไม่สนใจในสิทธิผู้บริโภคของผู้ประกอบการ ขั้นตอนหนึ่งที่ผู้ซื้อสามารถทำได้ด้วยตัวเอง เพื่อจะได้ที่อยู่อาศัยดีๆ คือ การใส่ใจในรายละเอียดต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในภายหลัง วันนี้เราลองมาดูกันครับว่า ก่อนที่จะเสียเงินไปกับการจองบ้านหรืออาคารชุด ผู้ซื้อควรสนใจข้อมูลอะไรกันบ้าง


1. รู้จักตัวเองให้ดีก่อน ต้องประมาณกำลังซื้อและความพร้อมของตนเองก่อน ว่ามีเพียงพอหรือไม่ เพราะท่านอาจเจอปัญหาผิดนัดชำระ กลายเป็นซื้อบ้านไม่ได้บ้าน แถมยังต้องเป็นหนี้ก้อนโตอีกต่างหาก


2. ศึกษาข้อมูลและรายละเอียดของโครงการที่สนใจ ตรวจสอบโครงการที่สนใจ ว่าเป็นโครงการบริษัทใด เป็นที่รู้จักหรือมีผลงานการบริหารจัดการโครงการในอดีตเพื่อเปรียบเทียบผลงาน โดยดูจากใบโฆษณาการขาย หรือ เว็บไซด์ของโครงการนั้นๆ ที่สำคัญต้องเก็บเอกสารที่เกี่ยวข้องของโครงการทั้งหมดไว้ด้วย


3. ไปดูสถานที่จริง มิใช่เพียงแค่ดูจากใบโบชัวร์หรือหน้าเว็บไซด์ ผู้ซื้อต้องไปสำรวจสภาพสถานที่ตั้ง ตัวอย่างบ้านหรือห้องชุดของโครงการว่าเป็นอย่างไร สอดคล้องกับการใช้ชีวิตประจำวันและตรงกับความต้องการหรือไม่


4. ศึกษาสัญญาจะซื้อจะขายให้ดี ก่อนการทำสัญญาและวางเงินจอง ผู้บริโภคควรขอตัวอย่างหนังสือสัญญาจะซื้อจะขาย กรณีบ้านจัดสรรว่าเป็นแบบสัญญามาตรฐานของคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลาง หรือกรณีอาคารชุดว่าเป็นตามแบบมาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคหรือไม่ และข้อมูลอื่นๆเกี่ยวกับโครงการมาพิจารณาก่อน เพื่อเป็นข้อมูลการตัดสินใจ โดยต้องเก็บเอกสารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดไว้เป็นหลักฐานด้วย


5 อย่าเชื่อพนักงานขาย ไม่ควรเร่งรีบที่จะเสียเงินจองเพราะบรรยากาศ การให้บริการของโครงการ เช่น มีคนสนใจจองเป็นจำนวนมาก หรือมีพนักงานมาคอยต้อนรับดูแลอย่างดี เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นเทคนิคการขายอย่างหนึ่งเพื่อดึงดูดผู้สนใจ


6. ทำสัญญาต้องมีใบจอง การทำสัญญาจองบ้านหรือคอนโดแต่ละครั้ง ผู้ประกอบการต้องมีใบจองหรือสัญญาจองให้กับผู้ซื้อ เพื่อใส่รายละเอียดข้อมูลการซื้อขายเป็นหลักฐานต่อกัน โดยสาระสำคัญที่ต้องมีอยู่ในใบจอง มีดังนี้

1)  วันที่และสถานที่ทำสัญญาจอง – เพื่อเป็นหลักฐานว่ามีการทำการจองกันจริง ซึ่งผู้บริโภคต้องไม่ละเลยที่จะสังเกตในเรื่องเหล่านี้ เพราะจะมีผลต่อการทำสัญญาต่อไป

2)  ชื่อผู้จองและผู้รับจอง - ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ ต้องถูกต้อง เพื่อไม่ให้มีปัญหามาแก้ทีหลัง

3)  รายการทรัพย์สินที่จะจอง เช่น จองบ้านจัดสรรหรืออาคารชุด ควรดูว่ามีข้อมูลรายละเอียดของทรัพย์สิน เช่น ขนาดพื้นที่ ราคาซื้อขาย ที่ตั้งโครงการ เป็นต้น

4)  ราคาทรัพย์สินที่ซื้อขาย ต้องตรวจสอบว่าข้อมูลที่ปรากฏในสัญญาหรือใบจอง ตรงตามที่ประกาศขาย หรือต่อรองกันไว้หรือไม่

 

 

ตัวอย่างปัญหาการจอง

 

-  หากเสียเงินทำสัญญาจองแล้ว แต่กู้ไม่ผ่าน ผู้ซื้อจะได้เงินจองคืนได้หรือไม่

 

o ก่อนทำสัญญาจอง

- ผู้ซื้อต้องตรวจสอบเครดิตการเงินกับธนาคารหรือสถาบันการเงินก่อน ว่าสามารถกู้เงินได้หรือไม่ หากพร้อม ค่อยทำสัญญาต่อไป

- ผู้ซื้อต้องไม่อาย ที่จะสอบถามผู้ประกอบการให้ชัดเจน ว่าหากผู้ซื้อกู้ธนาคารไม่ผ่าน จะคืนเงินหรือไม่ เพื่อความชัดเจนในการตัดสินใจของผู้ซื้อ

- ผู้ซื้อต้องรู้จักสังเกตเงื่อนไขในสัญญาให้ดี หากพบข้อความในทำนองว่า ถ้ากู้ธนาคารไม่ผ่านจะถูกริบเงิน ผู้ซื้อต้องโต้แย้งและขอให้แก้ไขข้อความดังกล่าวโดยทันที หากผู้ประกอบการไม่ยอมแก้ไขสัญญา ผู้ซื้อก็ไม่ควรทำสัญญาด้วย

- การทำเรื่องกู้เงินกับธนาคารเดียวอาจจะมีความเสี่ยง ผู้ซื้อควรขอยื่นกู้มากกว่าหนึ่งธนาคาร และอาจหาผู้ค้ำประกันหรือผู้กู้ร่วม เพื่อเพิ่มโอกาสในการกู้ให้ผ่านมากขึ้น

 

o หลังทำสัญญาจองแล้ว กู้ไม่ผ่าน
- ผู้ซื้อต้องกลับไปดูสัญญาให้ละเอียดว่ามีข้อความเกี่ยวกับ ถ้าผู้ซื้อกู้ธนาคารไม่ผ่านแล้วผู้ประกอบการจะคืนเงินหรือไม่
- หากไม่มีข้อความระบุ ว่าจะไม่คืนเงิน กรณีกู้ไม่ผ่าน ผู้ซื้อมีสิทธิเรียกร้องผู้ประกอบการขอเงินคืนได้ทันที ด้วยการทำหนังสือขอเงินคืน โดยทำเป็นจดหมายลงทะเบียนแนบใบตอบรับ
- แต่หากมีข้อความระบุ ว่าจะไม่คืนเงิน กรณีกู้ไม่ผ่าน ผู้ซื้อก็ยังมีสิทธิเรียกร้องขอเงินคืนด้วยการทำหนังสือถึงผู้ประกอบการ เพื่อขอเงินคืน โดยทำเป็นจดหมายลงทะเบียนแนบใบตอบรับได้เช่นกัน เนื่องจากผู้ประกอบการต้องใช้สัญญามาตรฐานในการทำสัญญาซื้อขายกับผู้ซื้อ ซึ่งสัญญามาตรฐานจะไม่มีสัญญาข้อนี้อยู่
- หากผู้ประกอบการปฏิเสธการคืนเงินทุกกรณี ผู้ซื้อมีสิทธิร้องเรียนต่อหน่วยงาน เช่น สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค หรือมูลนิธิให้ช่วยเจรจาไกล่เกลี่ย และฟ้องคดีต่อศาลเป็นคดีผู้บริโภคเพื่อเรียกร้องเงินคืนได้

 

พิมพ์