2nd benefit

2nd benefit

สถานการณ์ที่อยู่อาศัย กับ การคุ้มครองผู้บริโภคไทย แค่ไหนถึงเป็นธรรม?

 home-istock2

วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปี สหประชาชาติได้กำหนดให้เป็น “วันที่อยู่อาศัยโลก (World Habitat Day)” เริ่มขึ้นในปี 1989 (พ.ศ. 2532) มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศต่างๆ ให้ความสนใจกับสถานการณ์อยู่อาศัยและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ตลาดจนสิทธิพื้นฐานของการมีที่อยู่อาศัญที่เหมาะสม สร้างความตระหนักในความรับผิดชอบร่วมกันในการจัดการให้มนุษย์ทุกคนมีที่อยู่อาศัยในอนาคต

ปัจจุบัน ที่อยู่อาศัยได้ผุดขึ้นเหมือนดอกเห็ด ขณะที่การควบคุมคุณภาพมาตรฐานยังหย่อนยานทำให้เกิดข้อพิพาทระหว่างผู้ประกอบกับผู้บริโภคขึ้นบ่อยครั้ง จะเห็นได้ว่า จากข้อมูลสถิติเรื่องร้องเรียนของศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ตั้งแต่เดือน มกราคม 2557 – กันยายน 2558 พบว่า มีผู้บริโภคที่ประสบปัญหาเข้าร้องเรียนจำนวน 175 ราย สามารถแบ่งกลุ่มปัญหาได้ดังนี้

581005 case1

581005 case2ที่มา : สถิติการรับเรื่องร้องเรียน ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระหว่างเดือนมกราคม 2557 – กันยายน 2558

 

จากข้อมูลสถิติการรับเรื่องร้องเรียนของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พบว่า ในปี 2557 พบลักษณะปัญหาเรื่องการผิดสัญญาซื้อขาย การสร้างไม่ได้มาตรฐาน ชำรุดบกพร่อง เท่ากันคือ 17 ราย หรือร้อยละ 20.48 รองลงมาคือปัญหาเรื่องการผิดสัญญาก่อสร้างล่าช้า พบ 7 ราย หรือร้อยละ 8.43

ขณะที่ในปี 2558 (ข้อมูล ณ วันที่ 30 ก.ย. 58) พบว่า ลักษณะปัญหาเรื่องการผิดสัญญาก่อสร้างล่าช้ากลับขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งคือ 25 ราย หรือร้อยละ 27.17 ซึ่งมีจำนวนปัญหาเพิ่มขึ้นอย่างมาก ขณะที่ปัญหาเรื่องการผิดสัญญาซื้อขาย และปัญหาการสร้างไม่ได้มาตรฐาน ชำรุดบกพร่อง พบเท่ากันคือ 3 ราย หรือร้อยละ 3.26

ซึ่งปัญหาก่อสร้างล่าช้าและสร้างไม่ได้มาตรฐานพบในกลุ่มบ้านจัดสรร และคอนโดมิเนียม ส่วนปัญหาเรื่องการผิดสัญญาซื้อขาย พบในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย เช่น ซื้อบ้านเอื้ออาทร (การเคหะแห่งชาติ) ที่ไม่สามารถผ่อนจ่ายค่างวดได้ตรงตามเวลาที่กำหนด จนเป็นเหตุถูกยึดที่อยู่อาศัย หรือให้ทำสัญญาใหม่ที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค

นายโสภณ หนูรัตน์ นักวิชาการด้านกฎหมาย คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) ได้ให้ความเห็นว่า การเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วในภายใต้ภาวะการแข่งขันอย่างรุนแรงที่ผ่านมาในอดีตจนถึงปัจจุบัน ทำให้เกิดปัญหาในด้านที่อยู่อาศัยหลายประเด็น ปัจจุบันในประเทศไทยยังไม่มีหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบในเรื่องที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะ ทำให้เกิดความสับสนต่างๆ กับผู้บริโภคในการใช้สิทธิเรียกร้อง อย่างในกรณีของบ้านหรืออาคารชุดที่สร้างแล้วชำรุดบกพร่องไม่ได้มาตรฐาน ไม่ได้เป็นไปตามสัญญา หากมีหน่วยงานกลางซึ่งทำหน้าที่ตรวจบ้านหรืออาคารชุด ก็จะเป็นที่พึ่งให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจต่อการซื้อหาบ้านหรืออาคารชุดต่างๆ มากขึ้น

“สาเหตุสำคัญมาจากการไม่มีหลักประกันอะไรให้กับผู้บริโภคว่าเมื่อเกิดปัญหาแล้วจะมีทางออกให้กับผู้บริโภคอย่างไร โดยผู้บริโภคมักมีปัญหาตั้งแต่ทำสัญญา หรือหลังจากทำสัญญา หรือโอนกรรมสิทธ์แล้วไม่สามารถอยู่ได้ เพราะ ไม่มีน้ำ ไม่มีไฟ ถูกขับไล่ อีกทั้งกลุ่มปัญหาเกิดได้ทั้งในระดับปัจเจกและกลุ่มคณะ ขณะที่หน่วยงานหรือกลไกที่มีหน้าที่กำกับดูแลกลับไม่มีประสิทธิภาพพอที่จะรับประกันสิทธิผู้บริโภคได้ ดังนั้นการต่อสู้เพื่อให้ได้รับความเป็นธรรมอาจต้องแลกด้วยหลายสิ่งหลายอย่าง” นักวิชาการด้านกฎหมาย (คอบช.) กล่าว

นายโสภณ กล่าวต่อไปว่า เนื่องในวันที่ 5 ตุลาคมนี้ เป็นวันที่อยู่อาศัยโลก จึงอยากขอให้ภาครัฐ และภาคธุรกิจ ให้ความสำคัญกับเรื่องที่อยู่อาศัยมากขึ้น ไม่ใช่แค่มีนโยบายสร้างที่อยู่อาศัยให้เพียงพอต่อความต้องการ แต่ต้องกำกับดูแลให้ผู้บริโภคได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี มีที่อยู่อาศัยที่ได้มาตรฐาน ส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีความรู้เท่าทันในการเลือกซื้อที่อยู่อาศัย ส่วนทางผู้ประกอบการต้องมีความรับผิดชอบ ใช้สัญญามาตรฐานตามกฎหมาย และสร้างบ้านโดยใช้วัสดุที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน และตัวผู้บริโภคเอง หากจะทำสัญญาซื้อที่อยู่อาศัยก็ต้องตรวจสอบข้อมูลของผู้ประกอบการ และศึกษาสัญญาให้ดีก่อนทำสัญญา เพื่อรักษาสิทธิของตนเอง

 

ข่าวบทความเนื้อหาใกล้เคียงกัน :

|

Tags: คอบช. , มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค , ที่อยู่อาศัย, บ้าน, คอนโดมิเนียม, วันที่อยู่อาศัยโลก, World Habitat Day, ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค, บ้านเอื้ออาทร