2nd benefit

2nd benefit

คสช.เตรียมปฏิรูปพลังงาน มุ่ง'แข่งขัน-ราคาเป็นธรรม'

news img 594166 1

"ประยุทธ์"เตรียมประกาศนโยบายปฏิรูปพลังงาน จับตาแนวทาง"กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน"

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) จะประกาศนโยบายปฏิรูปพลังงานในเร็วนี้ โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาแผนการปฏิรูปพลังงาน หลังจากพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองหัวหน้าคสช.ได้เสนอแผนไปแล้วเมื่อสัปดาห์ก่อน

คสช.ได้ประกาศไว้ว่าการปฏิรูปพลังงานเป็นเรื่องสำคัญของประเทศและต้องการให้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย โดยมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารของกระทรวงพลังงาน และบริษัทปตท. จำกัด(มหาชน) รวมทั้งล่าสุด ได้แต่งตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ เรกูเลเตอร์ ชุดใหม่เข้าไปแทน

ก่อนหน้าการปฏิวัติในวันที่ 22 พ.ค. มีความเคลื่อนไหวด้านพลังงานของกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน ที่นำโดยนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ก่อนที่นายปิยสวัสดิ์ ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายด้านพลังงานในสมัยรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลนานนท์ เมื่อปี 2550 ให้เข้ามามีบทบาทอีกครั้งในระดับปฏิบัติการ คือเป็นประธานบอร์ดปตท.

นอกเหนือนี้ การโยกย้ายข้าราชการระดับสูงในกระทรวงพลังงานชนิดที่เรียกว่า "ล้างบาง" โดยให้นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ข้ามห้วยจากเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ(กพร.)มาเป็นปลัดกระทรวงพลังงาน

ล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการออกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ฉบับที่ 95/2557 เมื่อวันที่ 17ก.ค. 2557 แต่งตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ เรกูเลเตอร์ ชุดใหม่ ทั้ง 7 คน ก็เป็นทิศทางที่สอดรับกับแผนปรับโครงสร้างพลังงานทั้งระบบ

เนื่องจากการตั้งเรกูเลเตอร์ทั้ง 7คน เป็นการคัดเอาคนมีความรู้ทั้งในเรื่องของการจัดทำแผน เรื่องของไฟฟ้าทั้งระบบผลิตและระบบจำหน่าย รวมไปถึงคนที่มีความรู้เรื่องของระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ และคนที่มีความรู้ในเรื่องของระบบบัญชีและต้นทุน ที่คิดว่าเหมาะสมกับภารกิจที่จะดำเนินการ

เรกูเลเตอร์ อย่างน้อย 2 ใน 7 คน คือ นายวีระพล จิระประดิษฐกุล อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ก็เคยเป็นลูกน้องเก่าของนายปิยสวัสดิ์ และ น.ส.วิไลพร ลิ่วเกษมศานต์ อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ก็เป็นคนที่อยู่ในกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน

เตรียมพร้อมปฏิรูปพลังงาน

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่าแนวทางการทำงานของเรกูเลเตอร์จะผสานเป็นทิศทางเดียวกันกับปตท. ในเรื่องของการเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขันในธุรกิจพลังงาน ตามที่วางแนวทางเอาไว้

การเปลี่ยนแปลงในตำแหน่งสำคัญของหน่วยงานด้านพลังงาน ทำให้คสช.เริ่มเดินหน้าการปฏิรูปพลังงานทั้งระบบ ตั้งแต่ระดับนโยบาย จนถึงระดับปฏิบัติอย่างปตท.

ทั้งนี้ ข้อเสนอของกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน คือ ต้องการที่จะให้ราคาพลังงานสะท้อนอุปทานและอุปสงค์ของตลาดที่มีการแข่งขันอย่างแท้จริง โดยในกรณีที่ธุรกิจพลังงานมีลักษณะการผูกขาดโดยธรรมชาติ เช่น เรื่องของท่อส่งก๊าซ ก็เสนอให้มีการปรับโครงสร้างตลาดให้มีการแข่งขันมากขึ้น รวมทั้งกำกับดูแลกิจการอย่างเข้มงวด ที่จะช่วยให้ราคาพลังงานอยู่ในระดับที่เป็นธรรมแก่ผู้บริโภค

แนวทางที่จะดำเนินการ คือ เพิ่มการแข่งขันในธุรกิจน้ำมัน โดยให้ ปตท.อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า การลดการถือหุ้นของ.ปตท.ในกิจการโรงกลั่น SPRC และโรงกลั่น บางจาก การแยกกิจการท่อส่งก๊าซธรรมชาติออกจาก ปตท.เพื่อความโปร่งใสและง่ายแก่การกำกับดูแล

ในขั้นแรกให้.ปตท.ถือหุ้น 100% และในขั้นตอนที่สองให้แยกความเป็นเจ้าของออกจากกัน (ownership separation) โดยรัฐถือหุ้นเกินกว่า 50%

ทั้งนี้ ผู้ที่ให้บริการส่งก๊าซฯห้ามทำธุรกิจที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ เช่น ไฟฟ้า รวมทั้งการเปิดให้มีการให้บริการใช้ท่อก๊าซธรรมชาติแก่บุคคลที่สาม (Third Party Access) เพื่อให้ผู้ใช้มีทางเลือกในการซื้อก๊าซ

ชี้ปตท.ลดหุ้นโรงกลั่นต้องใช้เวลา

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การดำเนินการตามแนวทางของกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน ถึงแม้ว่าในหลักการจะเป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่เมื่อลงไปในขั้นตอนของการปฏิบัติแล้วยังเป็นเรื่องที่ยาก เช่น การขายหุ้นปตท.จากโรงกลั่นSPRC ที่พนักงานส่วนใหญ่ผูกพันกับความเป็นปตท. การจะลดการถือหุ้นจะต้องกระทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อไม่ให้เกิดแรงต้านและกลายเป็นประเด็นการเมือง

ส่วนการขายหุ้นในโรงกลั่นบางจาก ถึงแม้ว่าจะไม่กระทบกับธุรกิจของบางจากเพราะในการทำข้อตกลงต่างๆทั้งเรื่องของการซื้อน้ำมันดิบ การเช่าคลังน้ำมันนั้น เป็นสัญญาที่ตกลงกันในเชิงพาณิชย์ แต่ก็ต้องดูด้วยว่าผู้ที่จะเข้ามาถือหุ้นใหม่ นั้นจะต้องเข้าใจการทำงานและวัฒนธรรมองค์กรของบางจาก เพราะไม่เช่นนั้น ก็จะเกิดแรงต้านอีกเช่นกัน

ที่ผ่านมาผู้บริหารของปตท.ปฏิเสธมาตลอดว่า การที่ปตท.เข้าไปถือหุ้นในโรงกลั่นน้ำมัน 5 แห่งจาก 6 แห่งที่มีอยู่ในประเทศนั้น เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการที่เข้าไปฟื้นฟูกิจการโรงกลั่นน้ำมันที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 โดยไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะผูกขาดธุรกิจ และที่ผ่านมาการบริหารงานก็ค่อนข้างเป็นอิสระ ปตท.เป็นแต่เพียงผู้ถือหุ้นที่ส่งคนเข้าไปนั่งเป็นกรรมการเท่านั้น เช่นกรณีของโรงกลั่นน้ำมันบางจาก

แยกธุรกิจท่อส่งก๊าซปตท.ยังถือหุ้น100%

ด้านนายสุรงค์ บูลกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน บริษัทปตท.จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ปตท.กำลังศึกษาโมเดลการแยกกิจการท่อส่งก๊าซ จากหลายประเทศ ทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา โดยแต่ละโมเดลก็มีจุดดีจุดด้อยที่แตกต่างกัน ซึ่งคาดว่าภายในวันที่1 ม.ค. 2558 การแยกทรัพย์สินของธุรกิจท่อส่งก๊าซ ออกมาอยู่ในธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน น่าจะแล้วเสร็จ จากเดิมที่ท่อส่งก๊าซ อยู่รวมเป็นเนื้อเดียวกับธุรกิจก๊าซธรรมชาติ

ทั้งนี้ ในเบื้องต้นจะยังไม่มีการแยกออกไปจัดตั้งเป็นบริษัทใหม่ เนื่องจากจะต้องรอความชัดเจนทางด้านนโยบายในอีกหลายเรื่อง

“เปรียบเทียบให้เข้าใจง่ายๆ ก็เหมือน ปตท.ทำธุรกิจอพาร์ตเม้นท์ ที่ปัจจุบัน ปตท.เป็นทั้งผู้ลงทุน ผู้บริหาร และผู้อาศัย ที่ไม่ได้แยกออกจากกัน เมื่อเป็นนโยบาย ที่ต้องการที่จะให้เกิดความชัดเจน เพื่อที่จะเปิดโอกาสให้เอกชนรายอื่นเข้ามาเช่า เบื้องต้นก็จะต้องแยกทรัพย์สินกันออกมาให้ชัดก่อน ว่าส่วนไหนเป็นของใคร แล้วต่อไปใครจะเป็นผู้มาบริหาร หรือออกกฎระเบียบ ซึ่งมีรายละเอียดค่อนข้างมาก จึงต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร “นายสุรงค์ กล่าวยกตัวอย่างเปรียบเทียบ

ชงระดับนโยบายชี้ขาด

นายสุรงค์ กล่าวว่า ยังมีประเด็นสำคัญที่จะต้อง มีความชัดเจนในระดับนโยบายเช่น เรื่องเกี่ยวกับความมั่นคง ว่า หากผู้ที่มาเช่าท่อของปตท.ไม่สามารถที่จะส่งก๊าซให้กับลูกค้าได้ตามกำหนด ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ และรับผิดชอบอย่างไร เรื่องของราคาก๊าซที่รวมกันอยู่เป็นพูล(pool) คือรวมทั้งก๊าซจากอ่าวไทย ก๊าซจากพม่า แอลเอ็นจีนำเข้า ที่อยู่เป็นสูตรเดียวกัน เมื่อจะให้คนอื่นมาแข่งขันกับปตท. จะต้องมีการคิดสูตรใหม่อย่างไร

“ที่ผ่านมา ปตท.เป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด ผู้ใช้ไม่ต้องกังวลว่าก๊าซจะมาจากไหนอย่างไร แต่หากจะต้องแยกธุรกิจออกจากกัน ลูกค้าโดยเฉพาะโรงไฟฟ้าจะทำอย่างไร หากเอกชนรายอื่นไม่ส่งเชื้อเพลิงได้ตามสัญญา และหากโรงไฟฟ้าเดินเครื่องไม่ได้ ก็จะกระทบกับความมั่นคงทางด้านไฟฟ้า ซึ่งประเด็นต่างๆเหล่านี้จะต้องใช้นโยบายที่ชัดเจนลงมาว่าจะทำอย่างไร ต้องการแบบไหน “นายสุรงค์ กล่าว
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์  วันที่ 21 กรกฎาคม 2557 10.30