2nd benefit

2nd benefit

ปฏิรูปพลังงาน : เปลี่ยนหลังคาบ้านเป็นโรงไฟฟ้า (กรณีศึกษามูลนิธิเพื่อผู้บริโภค) / ประสาท มีแต้ม

คอลัมน์ : โลกที่ซับซ้อน
โดย...ประสาท มีแต้ม

       เมื่อพูดถึงการปฏิรูปพลังงานหลายคนจะมุ่งเป้าไปที่กิจการน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ แต่บทความนี้จะพูดถึงการปฏิรูปกิจการไฟฟ้า เพราะแม้มูลค่าทางการค้าของกิจการไฟฟ้าจะมีขนาดประมาณ 1 ใน 2 ของมูลค่าน้ำมันที่คนไทยใช้ทั้งหมด แต่ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประชาชนในกิจการไฟฟ้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้นรุนแรงมาก นักวิทยาศาสตร์ที่ห่วงใยสังคมได้ประเมินแล้วว่า อันตรายมากที่สุดในโลกในบรรดาภัยจากภาคอุตสาหกรรมทั้งหลาย 

      
       ขณะนี้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (พีดีพี 2013) จะก่อสร้างไฟฟ้าถ่านหินถึง 10 โรง ในหลายจังหวัดของภาคใต้ ทั้งๆ ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว และแหล่งอาหารทะเลชั้นนำของโลก
        
       ท่านผู้อ่านหลายท่านอาจจะลืมไปแล้วถึงผลกระทบต่อชาวแม่เมาะ จังหวัดลำปาง เพราะสื่อเกือบทั้งหมดต่างรับเงินค่าโฆษณาจำนวนมหาศาลจากพ่อค้าพลังงาน สื่อจึงทำหน้าที่รายงานแต่สิ่งที่ไม่สำคัญ จนถึงขั้นบิดเบือน เช่น “เก็บอากาศบริสุทธิ์ใส่ขวด” แต่ผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยชั้นนำในเยอรมนีพบว่า โรงไฟฟ้าถ่านหิน 300 โรง ทำให้คนยุโรปอายุสั้นลง 11 ปี (จากรายงาน Silent Killers : Why Europe must replace coal power with green energy ดาวน์โหลดได้ครับ)
       
       นี่คือความจริงที่พ่อค้าพลังงานไม่อยากให้คนไทยได้รับทราบ
       
       คำถามที่ตามมาก็คือ เรามีทางเลือกอื่นไหม? คำตอบคือ มีครับ และเพื่อให้เกิดพลังใจในการอ่าน ผมขอเรียนสรุปในเบื้องต้นว่า ทั้งๆ ที่เยอรมนีมีแสงแดดน้อยกว่าไทย แต่ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากแสงแดด (โซลาร์เซลล์) ในเยอรมนีในปี 2556 ถ้าสามารถนำมาป้อนให้คนไทยได้จะเพียงพอสำหรับ 17 จังหวัดภาคเหนือ และ 14 จังหวัดภาคใต้รวมกัน
       
       เรื่องที่ผมจะนำมาเล่าต่อไปนี้ เป็นตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นเรื่องที่สามารถเข้าใจได้ไม่ยาก เมื่อท่านอ่านจบแล้ว ผมเชื่อว่าท่านคงจะมีความเห็นคล้องกับผมว่า เป็นสิ่งที่สามารถปฏิรูปได้ง่ายกว่ากิจการน้ำมันที่พัวพันกับกลุ่มทุนระดับโลก โดยประชาชนมีส่วนในการผลักดันนโยบาย และรับผลประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม และทั่วถึง
       
       ผมจะนำเสนอโดยลำดับเป็นข้อๆ ดังนี้
       
       1.ในปี 2554 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้จ่ายค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเดือนละ 2.1 หมื่นบาท ซึ่งถือว่าเยอะพอที่จะต้องคิดแก้ปัญหา มูลนิธิฯ จึงได้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาอาคารซึ่งมี 4 ชั้น โดยเสร็จใช้งานได้ในเดือนตุลาคม 2554 โดยมีขนาด 11 กิโลวัตต์ ใช้พื้นที่ประมาณ 68 ตารางเมตร ในราคา 1.5 ล้านบาท เฉลี่ย 1.36 แสนบาทต่อกิโลวัตต์ (ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่แพงเมื่อเทียบกับราคาปัจจุบัน เพราะว่าราคาลดลงตลอด และมีระบบโครงสร้างที่รับแผงซึ่งผมเห็นว่าดีเกินไป)
       
       2.จากการสอบถามเลขาธิการมูลนิธิ (คุณสารี อ๋องสมหวัง) ได้ความว่า ระบบที่ติดตั้งจะทำให้ค่าไฟฟ้าที่มูลนิธิใช้ลดลง เพราะไฟฟ้าที่ผลิตเองได้จะถูกนำมาใช้ ถ้าไฟฟ้าที่ผลิตได้เองไม่พอใช้ กระแสไฟฟ้าจากระบบสายส่งของการไฟฟ้านครหลวงจะเข้ามาเสริม แต่ถ้าผลิตเองได้มากจนเหลือใช้ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันหยุด) กระแสไฟฟ้าที่เหลือก็จะไหลเข้าสู่ระบบสายส่งของการไฟฟ้า แต่การไฟฟ้าไม่ยอมจ่ายค่าไฟฟ้าที่รับไป ทั้งๆ ที่มีมูลค่าระบบที่ติดตั้งที่นี่ไม่มีแบตเตอรี่นะครับ
       
       3.หลังจากติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์แล้วค่าไฟฟ้าลดลงจากเดือนละ 21,125 บาท มาเหลือเฉลี่ยเดือนละ 13,030 บาท ทั้งๆ ที่ในระยะหลังมูลนิธิมีเจ้าหน้าที่มากขึ้น และมีห้องสตูดิโอเพิ่มขึ้นด้วย (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมจากกราฟ)
        
557000002201501    
       4.เนื่องจากระบบที่ติดตั้งไม่สามารถตรวจวัดได้ว่า ไฟฟ้าที่ผลิตได้เองมีกี่หน่วย และการใช้ไฟฟ้าในแต่ละเดือนก็ไม่คงที่ ประกอบกับข้อมูลบางส่วนก็ขาดหายไป ผมจึงใช้วิธีการประมาณการตามหลักวิชาคณิตศาสตร์
        
       สรุปได้ว่า ในเดือนตุลาคม 2554 ระบบที่ติดตั้งนี้สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าจำนวน 2,394 หน่วย คิดเป็นเงิน 9,044 บาท (หน่วยละ 3.78 บาท)
       
       จากข้อมูลดังกล่าว พบว่า โดยเฉลี่ยแผงโซลาร์เซลล์นี้สามารถผลิตไฟฟ้าได้ กิโลวัตต์ละ 217 หน่วยต่อเดือน หรือวันละ 7 หน่วยต่อกำลังผลิต 1 กิโลวัตต์
       
       ถ้าคิดเป็นต่อตารางเมตร พบว่าสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 1.14 หน่วย
       
       โดยทฤษฎี ความเข้มของพลังงานแสงแดดในประเทศไทยสามารถให้พลังงานเฉลี่ย 5.04 หน่วยต่อตารางเมตร ดังนั้น ระบบที่ติดตั้งของมูลนิธิฯ ประสิทธิภาพในการแปลงพลังงานไฟฟ้าได้ประมาณ 22% ซึ่งถือว่าสูง แต่อย่าลืมว่าเป็นการประเมินบนขีดจำกัดของข้อมูลดังที่กล่าวแล้ว
       
       ภาพข้างล่างเป็นข้อมูลเสริมที่ผมใช้ในการบรรยายให้ชาวบ้านที่คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินฟังครับ อาจจะทำให้ท่านเข้าใจดีขึ้น
        
557000002201502  
       และเพื่อให้เห็นความวิริยะของชาวเยอรมัน ผมขอนำเสนออีกภาพครับ เป็นการติดตั้งบนอาคารของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง บนพื้นที่หลังคา 3,100 ตารางเมตร โดยเฉลี่ยแล้วสามารถผลิตไฟฟ้าได้ประมาณแค่ 0.49 หน่วยต่อตารางเมตรเท่านั้น น้อยกว่าเรามาก แต่เขาก็ทำ!
        
557000002201503
        
       พูดถึงเรื่องนี้ทำให้ผมคิดถึงมหาวิทยาลัยที่ผมเคยสอนครับ บางคณะมีพื้นที่หลังคากว่า 15 ไร่
        
       ถ้าติดแผงโซลาร์เซลล์ และคิดค่าไฟฟ้าหน่วยละ 6.16 บาท (ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ) ก็จะทำให้คณะนั้นจะมีรายได้ปีละ 30-35 ล้านบาท สบายๆ (หมายเหตุ ทั้งวิทยาเขตเสียค่าไฟฟ้าปีละประมาณ 170 ล้านบาท)
       
       5.ที่กล่าวมาแล้วเป็นเรื่องจริงที่เกิดกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทางมูลนิธิเคยสอบถามทางการไฟฟ้าว่า ทำไมไม่รับซื้อไฟฟ้าส่วนที่เหลือ คำคอบสั้นๆ แต่แสบ คือ ไม่มีนโยบาย
       
       6.กระทรวงพลังงาน โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานมีโครงการส่งเสริมการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา โดยจะเดินไฟฟ้าเข้าระบบภายในสิ้นเดือนธันวาคม 2556 จำนวน 200 เมกะวัตต์ โดยแบ่งเป็นอาคารที่อยู่อาศัย และอาคารธุรกิจอย่างละครึ่ง และแบ่งเป็นเขตนครหลวง (กฟน.) 40% และภูมิภาค 60% (หมายเหตุ แค่เกณฑ์นี้ก็เถียงกันได้แล้ว) โดยมีอัตรารับซื้อไฟฟ้าในกรณีบ้านอยู่อาศัย อาคารธุรกิจขนาดเล็ก อาคารธุรกิจกลาง-ใหญ่/โรงงาน หน่วยละ 6.96, 6.55 และ 6.16 บาท ตามลำดับ
       
       7.เป็นที่น่าแปลกใจมากว่า ทั้งๆ ที่กระทรวงพลังงานมีวัตถุประสงค์ของโครงการนี้ว่าเพื่อ “สร้างมูลค่าเพิ่มบนหลังคาบ้าน และช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์” แต่กฎเกณฑ์ที่ตั้งไว้กลับขัดแย้งกับวัตถุประสงค์ กล่าวคือ “(1) อาคารต้องไม่เป็นหน่วยงานของรัฐ (2) กรณีเป็นนิติบุคคลต้องมีวัตถุประสงค์ในการจดทะเบียนต้องเกี่ยวกับการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า และ (3) ต้องไม่ติดแผงโซลาร์เซลล์มาก่อน”
       
       ผมคิดว่ามันคือกฎเกณฑ์ที่ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์เลย ดังนั้น กรณีของมูลนิธิฯ จึงต้องตกไปเพราะข้อ (2) และ (3)
       
       8.จากเอกสารเดิม เขียนว่า ถ้าลงทุนติดตั้งขนาด 1 กิโลวัตต์ (7 ตารางเมตร) จะใช้เงินลงทุน 6 หมื่นบาท (กรณีมูลนิธิฯ 1 กิโลวัตต์ 1.36 แสนบาท) จะผลิตไฟฟ้าได้ปีละ 1,300 หน่วย หรือวันละ 0.52 หน่วยต่อตารางเมตร (ประมาณครึ่งหนึ่งของมูลนิธิฯ) โดยมีระยะคืนทุน 6 ปี 7 เดือน
       
       อย่าลืมนะครับว่า ราคาแผงโซลาร์เซลล์มีราคาลดลงทุกปี ในขณะที่ประสิทธิภาพกลับเพิ่มขึ้น ข้อมูลจากกลุ่มคนที่ศึกษาในกรณีของสหรัฐอเมริกา สรุปว่า ต้นทุนในสหรัฐอเมริกา ลดลงเฉลี่ยปีละ 10% ในขณะเดียวกัน ต้นทุนในประเทศเยอรมนีก็มีประมาณครึ่งหนึ่งของในสหรัฐอเมริกา
       
       เท่าที่ผมดูผ่านๆ ในเฟซบุ๊ก พบว่าราคาปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 4 หมื่นบาทต่อกิโลวัตต์ และจะถูกกว่านี้อีกในอนาคตอันใกล้
       
       ในเรื่องการคืนทุน กรรมการจากสภาอุตสาหกรรมท่านหนึ่งได้กล่าวนอกห้องประชุมแห่งหนึ่งว่า หากได้รับอนุญาตในประเทศไทย และอัตราการจ่ายในปัจจุบันจะสามารถคืนทุนได้ประมาณ 4 ปีเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ข่าวการจ่ายใต้โต๊ะจึงหนาหูมาก
       
       ประเด็นสำคัญของการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์อยู่ที่ไหน? บทเรียนจากเยอรมนี
       
       ในปี 1999 ดร.เฮอร์มันน์ เชียร์ (Hermann Scheer) อดีต ส.ส. ฝ่ายค้าน ได้เล่าให้ฟังว่า ตนได้ร่วมกับพรรคพวกเพียง 2-3 คนเท่านั้น สามารถผ่านกฎหมายที่มีชื่อว่า “Law for the Priority of Renewable Energies (กฎหมายเพื่อให้พลังงานหมุนเวียนก่อน)”
       
       วิธีการในกฎหมายนี้มีสาระสำคัญง่ายๆ 3 ข้อเท่านั้น หากขาดข้อใดข้อหนึ่งหรือเพี้ยนไปจากนี้แม้เพียงเล็กน้อยก็จะไม่บรรลุตามความมุ่งหมายของแนวคิด
       
       ข้อที่ 1 ใครก็ตามที่สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ ให้สามารถป้อน (Feed In) กระแสไฟฟ้าเข้าสู่ระบบสายส่งได้ก่อนและไม่จำกัดจำนวน
       
       ข้อที่ 2 เป็นสัญญาระยะยาวประมาณ 20-25 ปี
       
       ข้อที่ 3 ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น (บ้าง) ให้เป็นภาระของผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศ
       
       การไปจำกัดจำนวนของกระทรวงพลังงานไทยจึงเป็นการฝ่าฝืนหลักการสำคัญในข้อแรก ที่เหลือก็ไม่ต้องพูดกันให้เสียเวลา นอกจากนี้ ยังมีระเบียบหยุมหยิมอีกเยอะมาก เช่น ต้องมีวิศวกรเซ็นรับรองคำขอ เป็นต้น
       
       สำหรับข้อ 3 ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ผมคำนวณคร่าวๆ คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณเดือนละ 20-30 บาทต่อครอบครัวเท่านั้น (ขึ้นอยู่กับว่าจะผลิตเท่าใด) ซึ่งผมเชื่อว่าคนไทยคงจะยอมได้เพื่อแลกกับสุขภาพของผู้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน
       
       ประเด็นสุดท้าย ผมขอนำเรื่องราวของกลุ่มเคลื่อนไหวในสหรัฐอเมริกามาเล่าครับ พร้อมข้อมูลสำคัญในแผ่นสไลด์สำหรับท่านที่สนใจเชิงลึก
        
557000002201504       
       สาระสำคัญของกลุ่มนี้ก็คือ การทำพลังงานให้เป็นประชาธิปไตย ด้วยการกระจายโรงไฟฟ้ามาอยู่บนหลังคาบ้านของตนเองซึ่งก็เป็นกลไกของธรรมชาติอยู่แล้ว พวกเขาเสนอทีเล่นทีจริงว่าจะตั้งพรรคการเมือง โดยเสนอนโยบายว่า จะส่งเสริมให้บ้านทุกหลังต้องผลิตไฟฟ้าให้ได้ 3 กิโลวัตต์ (ดังรูป) ในหนึ่งบ้านมีสิทธิออกเสียงได้ 2 คน ดังนั้น ถ้ามีสมาชิก 100 ล้านหลัง พวกเขาก็จะชนะการเลือกตั้งอย่างแน่นอน
       
       หัวใจสำคัญของประชาธิปไตยคือ การกระจายอำนาจโดยการใช้ประโยชน์จากพระอาทิตย์ แต่สิทธิดังกล่าวได้ถูกพ่อค้าพลังงาน และนักการเมืองบางกลุ่มละเมิดด้วยกระบวนการที่ว่า “หนึ่งล้างสมองสองปล้น” ตามชื่อหนังสือเล่มใหม่ของผมครับ หากท่านสนใจกรุณาค้นหารายละเอียดได้จากบทความครั้งก่อนครับ

 

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์   23 กุมภาพันธ์ 2557 21:31 น.