2nd benefit

2nd benefit

คดีโทลล์เวย์ ชี้ชัดหากมีองค์การอิสระฯ ผู้บริโภคจะไม่ถูกเอาเปรียบ

580909 Tollway

วันนี้ (9 ก.ย. 58) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เรียกร้องรัฐบาล ยกเลิกการอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองกลาง พร้อมเรียกเงินกว่า 4.1 พันล้านบาทคืนจากบริษัทเอกชน และให้กลับไปใช้อัตราค่าบริการเดิมก่อนแก้ไขสัญญา หลังศาลปกครองพิพากษา เพิกถอนมติครม. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เอื้อประโยชน์เอกชน

ตามคำพิพากษาศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขดำที่ 2038/2552 , 206/2553 ระหว่าง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นายสมคิด หอมเนตร กับพวกรวม 21 ราย ยื่นฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม อธิบดีกรมทางหลวง บริษัท ทางยกระดับดอมเมือง จำกัด มหาชน คณะรัฐมนตรี กรมทางหลวง และกระทรวงคมนาคม ต่อศาลปกครองกลาง เรื่องเป็นหน่วยงานหรือเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จากกรณีการร่วมกันเห็นชอบและอนุมัติการแก้ไขบันทึกข้อตกลงแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัมปทาน ฉบับที่ 3/2550

ศาลพิเคราะห์ข้อมูล หลักฐานที่ผู้ฟ้องและผู้ถูกฟ้องนำเสนอแล้วเห็นว่า การบันทึกแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาสัมปทานทางหลวง ในทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 31 ถนนวิภาวดีรังสิต ตอนดินแดง-ดอนเมือง ลงวันที่ 21 สิงหาคม 2532 (แก้ไขเปลี่ยนแปลงโดยบันทึกข้อตกลงฉบับที่ 1 วันที่ 27 เมษายน 2538 ฉบับที่ 2 วันที่ 29 พฤศจิกายน 2539 ) ฉบับที่ 3 วันที่ 12 กันยายน 2550 ตามมติคณะรัฐมนตรี สมัย ดร.ทักษิณ ชินวัตร วันที่ 11 เมษายน 2549 และ สมัย พลเอกสุรยุทธ จุลานนท์ วันที่ 10 เมษายน 2550 ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งหก เป็นการกระทำที่เอื้อประโยชน์ให้บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) เพียงฝ่ายเดียว และการจัดเก็บค่าผ่านทางสร้างภาระให้ประชาชน ผู้บริโภค ผู้ใช้ทางยกระดับเกินสมควรจึงเป็นการไม่เหมาะสม ในการยกเลิกผลประโยชน์การตอบแทนรัฐให้แก่เอกชน ขยายอายุสัมปทานออกไปอีก 27 ปี ยอมให้เอกชนมีอำนาจเหนือรัฐ กำหนดราคาล่วงหน้า ขึ้นราคาได้โดยไม่ต้องขออนุญาต ทำให้รัฐและประชาชนได้รับความเสียหาย ดังนั้นมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 11 เมษายน 2549 เฉพาะส่วนรับทราบข้อตกลงในการแก้ไขปัญหาการขาดทุนของบริษัท ทางยกระดับดอนเมือง และมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 10 เมษายน 2550 เฉพาะส่วนที่ให้ความเห็นชอบร่างบันทึกข้อตกลงแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาสัมปทานทางหลวง ฉบับที่ 3/2550 วันที่ 12 กันยายน 2550 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

รศ.ดร.สุธรรม อยู่ในธรรม คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย หอการค้าไทย กล่าวว่า กรณีนี้มีความชัดเจนในทางกฎหมายว่า สัญญาสัมปทานเป็นสัญญาที่มีลักษณะให้บริการสาธารณะโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาช่องทางจราจร จึงเป็นสัญญาทางปกครอง หากมีการแก้ไขเพิ่มเติม หรือเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของสัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขึ้นค่าผ่านทาง ย่อมถือเป็นคำสั่งทางปกครอง

“ผลของคำพิพากษาชี้ให้เห็นว่าข้อกฎหมายที่จำกัดอำนาจรัฐใช้ไม่ได้ นั่นก็คืออำนาจในการกำหนดอัตราค่าผ่านทาง เพราะฉะนั้นนัยยะทางกฎหมายหรือการกำหนดอัตรานั้นไม่ชอบ ซึ่งสำคัญมากทั้งกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคมต้องแสดงท่าทีต่อเรื่องนี้อย่างชัดเจน ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นเรื่องที่ปล่อยละเลยอีก ที่สำคัญคือเป็นบทเรียนที่สำคัญในการทำสัญญาต่างๆ ที่กำลังจะมีระบบคมนาคมต่างๆที่จะทำในขณะนี้ การเขียนสัญญาต่างๆ ต้องรอบคอบไม่ล่วงล้ำอำนาจหน้าที่ที่รัฐบาลมีตามกฎหมายและต้องเอื้อประโยชน์ให้ประชาชน” รศ.ดร.สุธรรมกล่าว

นายชัยรัตน์ แสงอรุณ ทนายความและกรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า คำวินิจฉัยของศาลในครั้งนี้ถือเป็นตัวอย่างคดีที่สำคัญของรัฐกับความล้มเหลวในการทำสัญญาร่วมกับเอกชนที่ไม่โปร่งใส ยอมยกผลประโยชน์รัฐ ให้เอกชนในทุก ๆ ด้านสร้างภาระให้ประชาชน และผู้บริโภค คณะรัฐมนตรี รัฐมนตรี ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้บริหารระดับสูง ที่กระทำการ แล้วเอื้อประโยชน์เอกชน ย่อมมีความผิดในการทำหน้าที่ไม่ชอบและสามารถร้องต่อปปช.ได้

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า คดีนี้ ศาลปกครองกลาง ได้วินิจฉัยอย่างชัดเจนในคำพิพากษาว่า สิทธิของผู้บริโภคย่อมได้รับการคุ้มครอง ตามมาตรา 61 วรรคหนึ่ง แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 จากกรณีการเก็บค่าผ่านทางที่ไม่เป็นธรรม

“มติคณะรัฐมนตรี ในการแก้ไขสัญญาสัมปทานทางยกระดับดอมเมือง จำกัด(มหาชน) หรือดอนเมืองโทลล์เวย์ ครั้งที่ 2 ในปี 2539 ที่รวมเอาสัญญาสัมปทานเดิม ตอนดินแดง-ดอนเมือง รวมกับส่วนต่อขยาย ดอนเมือง-หน้ากองทัพอากาศ โดยปรับราคาขึ้นและขยายอายุสัญญาสัมปทานให้เอกชนเพิ่มอีก 25 ปี (ครบปี 2564) และ ครั้งที่ 3 ในปี 2550 ที่ขยายอายุสัญญาสัมปทานออกไปอีก 27 ปี (ครบปี 2577) เป็นมติคณะรัฐมนตรีที่เอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนเพียงฝ่ายเดียว และโดยเฉพาะครั้งสุดท้าย ที่ยอมยกอำนาจของรัฐให้เอกชน ทั้งในส่วนการขึ้นราคาโดยไม่ต้องขออนุญาต การสละสิทธิการฟ้องคดี ยกเลิกผลประโยชน์ที่ต้องตอบแทนคืนรัฐ ยกเลิกการก่อสร้างงานต่างๆที่ขัดประโยชน์กับเอกชน ซึ่งผลจากการทำสัญญาที่ให้ประโยชน์กับเอกชนฝ่ายเดียวแบบนี้” เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกล่าว


นอกจากนี้นางสาวสารีได้ขอเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการอุทธรณ์คดี และเร่งดำเนินการเรียกเงินคืนจากบริษัทเอกชนที่สร้างภาระเกินสมควรและไม่เหมาะสมให้กับผู้บริโภค ในความเสียหายจำนวน 2,020 วัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 4,121,056,540.00 บาท และให้รัฐบาลมีมาตรการให้บริษัททางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) ให้กลับไปใช้อัตราค่าผ่านทางในอัตราเดิมก่อนมีการแก้ไขสัญญา นั่นคือ 35 บาทสำหรับรถสี่ล้อ และ 65.บาทสำหรับรถเกินหกล้อ จนกว่าจะมีคำพิพากษาเป็นอย่างอื่น

ด้าน นางสาวบุญยืน ศิริธรรม ในฐานะกรรมการคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) ให้ความเห็นว่าผลการตัดสินถือว่าเป็นบรรทัดฐานในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภค และสะท้อนให้เห็นความสำคัญของการต้องให้มีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคเกิดขึ้น เพราะเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคโดยหน่วยงานรัฐ ซึ่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ทำหน้าที่นี้ไม่ได้เพราะไม่มีอำนาจตรวจสอบหน่วยงานรัฐ

“อย่างไรก็ตามทางองค์กรผู้บริโภคจะติดตามคดีนี้อย่างใกล้ชิดและใช้ทุกหนทางในการเรียกคืนความยุติธรรมให้กับประชาชนทั้งการฟ้องคดีแบบกลุ่มหรือ คลาสแอคชั่น การร้องเรียนต่อ ปปช.เพื่อเอาผิดต่อผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งสะท้อนชัดแล้วว่าต้องมีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค” นางสาวบุญยืนกล่าว

 

 

ข่าวบทความเนื้อหาใกล้เคียงกัน:

|

Tags: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค , โทลล์เวย์, ทางยกระดับ