2nd benefit

2nd benefit

เลขาฯ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ชี้รัฐมนตรี ไม่มีสิทธิ ทำให้ความปลอดภัยถอยหลัง


bus11
เลขาฯ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ชี้รัฐมนตรี ไม่มีสิทธิ ทำให้ความปลอดภัยถอยหลัง หลังมีข่าว ศักดิ์สยาม ชิดชอบ หารือร่วมกับผู้ประกอบการรถตู้โดยสารกรุงเทพ และมีคำสั่งปรับเปลี่ยนจากรถตู้เป็นไมโครบัสด้วยความสมัครใจ พร้อมโชว์ตัวเลขรถตู้ประสบอุบัติเหตุบาดเจ็บ-ตายอื้อ

จากกรณีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้หารือร่วมกับผู้ประกอบการรถตู้โดยสารกรุงเทพ และมีคำสั่ง จากเดิมที่กรมการขนส่งทางบกมีนโยบายให้ปรับเปลี่ยนจากรถตู้เป็นไมโครบัส เป็นการเปลี่ยนเป็นรถไมโครบัสด้วยความสมัครใจ แต่จะต้องทดแทนรถตู้เก่าโดยไม่เพิ่มรถใหม่ และรถต้องมีคุณภาพ รวมถึงการปรับเปลี่ยนเมื่อรถหมดอายุครบ10ปี ที่รถตู้ขอเปลี่ยนเป็น 15 ปี แต่นายศักดิ์สยาม ได้สั่งการให้กรมการขนส่งทางบกไปศึกษาความเหมาะสม แต่เบื้องต้นให้อยู่ในกรอบเวลาที่ 12 ปีก่อนนั้น

นางสาวสารี อ่องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุถึงประเด็นนี้ว่า รัฐมนตรี ไม่มีสิทธิ ทำให้ความปลอดภัยถอยหลัง พร้อมระบุถึงตัวเลขปี 2558 มีรถตู้ประสบอุบัติเหตุทั้งหมด 98 ครั้ง ตาย 104 คน บาดเจ็บ 847 คน เฉลี่ยแล้วสัปดาห์หนึ่งจะมีคนตาย 2 คน เจ็บอีกเกือบ 10 ราย อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นแบ่งเป็นรถตู้ส่วนบุคคลหรือรถทัศนาจร 68 ครั้ง เสียชีวิต 77 ราย บาดเจ็บกว่า 596 ราย เป็น รถตู้ประจำทางวิ่งต่างจังหวัด (ร่วม บขส.) 26 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 19 ราย บาดเจ็บ 220 ราย และเป็นรถตู้ประจำทางในกรุงเทพ (ร่วม ขสมก.) จำนวน 4 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 8 ราย บาดเจ็บ 31 ราย

สำหรับสถานการณ์อุบัติเหตุรถตู้สาธารณะในปี พ.ศ. 2559 ระหว่างเดือนมกราคม – 8 มีนาคม เกิดอุบัติเหตุทั้งสิ้น 16 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 14 ราย บาดเจ็บ 153 ราย เป็นรถตู้ส่วนบุคคลหรือรถทัศนาจร จำนวน10 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 11 ราย บาดเจ็บอีก 102 ราย เป็นรถตู้ประจำทางวิ่งต่างจังหวัด ร่วม บขส. จำนวน 6 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บกว่า 51 ราย

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง ได้กำหนดมาตรการนำรถโดยสารขนาดเล็กมาตรฐาน 2 (จ) จำนวนที่นั่งไม่เกิน 20 ที่นั่ง (ที่ไม่ใช่ลักษณะรถตู้) และหรือรถโดยสารมาตรฐาน 2 (ค) จำนวนที่นั่งตั้งแต่ 21 - 30 ที่นั่ง ที่ต้องมีระบบเบรกแบบ ABS (Anti-lock Brake System) หรือระบบห้ามล้อแบบอื่นที่มีมาตรฐานเท่ากันหรือสูงกว่า พร้อมติดตั้ง GPS Tracking และอุปกรณ์แสดงผลความเร็ว (Speed Monitor) ตามมาตรฐานที่กรมการขนส่งทางบกกำหนดมาเปลี่ยนทดแทนรถตู้โดยสาร แต่เพื่อลดผลกระทบของผู้ประกอบการให้มีช่วงเวลาปรับตัวจึงได้กำหนดระยะเวลาแบบเป็นขั้นตอน โดยจะเริ่มทดแทนเฉพาะรถตู้โดยสารที่ครบอายุการใช้งาน (ครบ 10 ปี) ก่อน ซึ่งจะทยอยเปลี่ยนในเส้นทาง หมวด 2 กรุงเทพฯ-ต่างจังหวัดทุกเส้นทาง และหมวด 3 ระหว่างจังหวัดกับจังหวัด เฉพาะเส้นทางที่มีจุดจอดรับ-ส่งผู้โดยสารระหว่างทาง มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 เป็นต้นไป

ส่วนเส้นทางหมวด 1 และหมวด 4 ที่ให้บริการในกรุงเทพมหานครและในภูมิภาค รวมถึงเส้นทางหมวด 3 วิ่งระหว่างจังหวัดกับจังหวัด ที่ไม่มีจุดจอดรับ-ส่งผู้โดยสารระหว่างทาง มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 เป็นต้นไป

ขณะที่นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวถึงการกำหนดอายุการใช้งานรถตู้โดยสารประจำทางไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันที่จดทะเบียนครั้งแรก เนื่องจากได้พิจารณาด้านสภาพรถที่เก่าเครื่องอุปกรณ์ชำรุดจะมี ค่าบำรุงรักษาที่สูงกว่ารถใหม่ ทำให้เกิดความไม่คุ้มทุน บริษัทประกันภัยจะไม่รับจัดทำประกันภัยให้ ซึ่งจะสร้างปัญหาให้กับเจ้าของรถเมื่อเกิดอุบัติเหตุ โดยตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 กำหนดเปลี่ยนรถตู้โดยสารที่ครบอายุการใช้งานก่อน (ครบ 10 ปี) เฉพาะในเส้นทาง หมวด 2 กรุงเทพฯ-ต่างจังหวัดทุกเส้นทาง จำนวน 937 คัน ซึ่งผู้ประกอบการได้เปลี่ยนเป็นรถใหม่ทดแทนแล้ว จำนวน 252 คัน

ส่วนรถหมวด 3 ที่วิ่งให้บริการระหว่างจังหวัดกับจังหวัด รวม 238 คัน ได้เปลี่ยนเป็นรถใหม่ทดแทนแล้ว จำนวน 227 คัน (ข้อมูล 1 ตุลาคม 60 – 31 พฤษภาคม 2562) และตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 นี้เป็นต้นไป กำหนดให้ใช้รถโดยสารขนาดเล็กที่ได้มาตรฐานมาให้บริการทดแทนรถตู้ ครบกำหนดอายุ 10 ปี ครอบคลุมรถตู้หมวด 1 และหมวด 4 ที่ให้บริการภายในกรุงเทพมหานครและเส้นทางต่อเนื่องภายในจังหวัด และส่วนภูมิภาคหมวด 2 กรุงเทพมหานครไปยังต่างจังหวัด รวมถึงเส้นทางรถหมวด 3 ที่วิ่งระหว่างจังหวัดกับจังหวัด

ข้อมูลจาก ISRANEWS โดย thaireform