2nd benefit

2nd benefit

ข้อเสนอคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการค้มครองผู้บริโภคภาคประชาชนต่อการร่างรัฐธรรมนูญ การปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค

     คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ได้จัดทำข้อเสนอต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญ การปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2557 โดยมีสาระดังนี้

1.  ข้อเสนอต่อเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญและกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญ

     เสนอให้การร่างรัฐธรรมนูญควรต้องยึดหลักการ “ สร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยต้องลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน มีกลไกที่ดีในการตรวจสอบการเอาเปรียบผู้บริโภคและการคอรัปชั่น และมีกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญที่มีการรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนและทำเป็นประชาพิจารณ์รวมถึงต้องมีการลงประชามติ

2.  ข้อเสนอในเชิงเนื้อหาต่อร่างรัฐธรรมนูญ

     2.1  รัฐธรรมนูญควรต้องยึดหลักการ “ สร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยต้องลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน มีกลไกที่ดีในการตรวจสอบการเอาเปรียบผู้บริโภคและการคอรัปชั่น ” ในประเด็นสำคัญต่อไปนี้

            2.1.1  การรับรองสิทธิพลเมืองในฐานะผู้บริโภค เนื่องจากพลเมืองไทยทุกคนเป็นผู้บริโภค จึงควรกำหนดสิทธิของบุคคลซึ่งเป็นผู้บริโภคให้ได้รับการคุ้มครองในสิทธิผู้บริโภคในระดับสากล ที่ประกอบด้วย สิทธิ 8 ประการ คือ
                1)  สิทธิที่จะได้รับสินค้าและบริการที่จำเป็นในการดำรงชีวิต
                2)  สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าและบริการ
                3)  สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองจากการหลอกลวงของโฆษณา หรือการแจ้งประกาศที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด หรือสิทธิที่จะได้รับข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นต่อการตัดสินใจเลือกซื้อ
                4)  สิทธิที่จะได้เลือกซื้อสินค้าและบริการในราคายุติธรรม
                5)  สิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นในฐานะตัวแทนผู้บริโภคเพื่อให้ได้รับประโยชน์ที่พึงได้
                6)  สิทธิที่จะได้รับค่าชดเชย ในกรณีที่ถูกละเมิด หลอกลวงให้ได้รับสินค้าและบริการที่ไม่มีคุณภาพ
                7)  สิทธิที่จะได้รับความรู้และไหวพริบอันจำเป็นต่อการบริโภคอย่างเท่าทัน
                8)  สิทธิที่จะดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี และยังชีพได้อย่างปลอดภัย
            เพื่อให้สามารถรับรองสิทธิพลเมืองในฐานะผู้บริโภคดังกล่าวข้างต้น โดยเฉพาะสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นในฐานะตัวแทนผู้บริโภค ให้มีองค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐ ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนผู้บริโภคทำหน้าที่ให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของหน่วยงานของรัฐในการตราและการบังคับใช้กฎหมายและกฎ และให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่างๆเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งนี้ ให้รัฐสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการขององค์การอิสระดังกล่าว

            2.1.2  การรับรองสิทธิชุมชน
            เพื่อเป็นการรับรองสิทธิผู้บริโภคในฐานะพลเมืองที่จะได้รับสิทธิที่จะได้รับการดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีอย่างปลอดภัย ด้วยการรับรองสิทธิชุมชน ชุมชนท้องถิ่น ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ให้มีสิทธิในการอนุรักษ์ ฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรม รวมถึงการมีส่วนร่วมในการจัดการบำรุงรักษาและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพ
ด้วยการระบุอย่างชัดเจน เรื่องการรับฟังความเห็นประชาชน การจัดทำประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสุขภาพ ด้านสังคม โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และให้มีองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสุขภาพ ด้านสังคม ด้านผู้บริโภค เพื่อให้ความเห็นต่อการดำเนินกิจกรรม โครงการที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ต้องยึดหลักการยินยอมที่ได้รับการบอกแจ้งล่วงหน้า และเป็นอิสระในการตัดสินใจ (Free, Prior and Informed Consent: FPIC) ของชุมชน

3.  กรอบแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ

     เพื่อเป็นการรับรองสิทธิผู้บริโภคในฐานะพลเมืองที่จะได้รับสินค้าและบริการที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต อันสำคัญ ได้แก่ อาหาร ที่อยู่อาศัย การเข้าถึงบริการสุขภาพ การสาธารณสุข การศึกษา การเลี้ยงดูบุตรกรณีที่เป็นครอบครัวเดี่ยว การมีงานทำ”การยังชีพอย่างมีคุณภาพของผู้พิการ/ทุพพลภาพ ผู้มีอายุเกินหกสิบปีมีระบบบำนาญประชาชน การจัดสรรที่ดินทำกิน ทั้งนี้รวมถึงการบรรเทาทุกข์อย่างเร่งด่วน ในกรณีภัยพิบัติทางธรรมชาติ เด็ก เยาวชน ผู้พิการ และผู้สูงอายุซึ่งไม่มีผู้ดูแล มีสิทธิได้รับการเลี้ยงดูจากรัฐ ทั้งนี้ให้คำนึงถึงการดำเนินการที่เหมาะสมและสอดคล้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่น ประเพณี ความเชื่อ และศาสนา

     รัฐธรรมนูญควรต้องยึดหลักการ “ กำหนดหน้าที่ของรัฐ” ในประเด็นสำคัญ ดังนี้
     3.1  รัฐต้องออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิพลเมืองในฐานะผู้บริโภค ได้แก่ พรบ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค
     3.2  รัฐต้องให้หลักประกันแก่ประชาชนในด้านศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ และคุณภาพแห่งชีวิต โดยทั่วถึงและเสมอภาคกัน หลักประกันดังกล่าวครอบคลุมถึง การมีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมกับวิถีการดำรงชีวิต การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพที่ได้มาตรฐานโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย บำนาญพื้นฐานที่เพียงพอสำหรับคนสูงอายุ สวัสดิการการเลี้ยงดูบุตร สวัสดิการและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับ คนสูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพที่เน้นโอกาสเข้าถึงวิถีชีวิตที่ใกล้เคียงหรือเสมอภาคกับบุคคลทั่วไป
     3.3  รัฐต้องคุ้มครองให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณูปโภคที่มีคุณภาพ มาตรฐาน ในราคาที่เป็นธรรม รวมทั้งสนับสนุนให้ท้องถิ่น ชุมชน มีส่วนร่วมในการจัดบริการสาธารณูปโภค ที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม
     3.4  ก่อนการทำสัญญาที่มีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรือเป็นภาคี พันธสัญญาระหว่างประเทศ รัฐต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคม และวิถีชีวิต วัฒนธรรมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันงบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสําคัญ ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา
     3.5  รัฐต้องส่งเสริมให้ประชากรมีงานทำ คุ้มครองแรงงานที่อยู่ในวิถีการผลิต ทุกประเภท โดยเฉพาะแรงงานเด็ก และแรงงานหญิง จัดระบบแรงงานสัมพันธ์ การประกันสังคม รวมทั้งคุ้มครองค่าตอบแทนแรงงานให้เป็นธรรม
3.6 รัฐต้องกระจายอำนาจในการจัดบริการการศึกษา การสาธารณสุข การพัฒนาสังคม ชุมชน ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรชุมชน หรือองค์กรเอกชน ทั้งนี้ รัฐต้องควบคุมให้เป็นการจัดบริการที่มีคุณภาพ มาตรฐาน และประสิทธิภาพ โดยไม่หวังผลกำไร

 

4.  ข้อเสนอเชิงระบบการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค

     4.1  การปรับโครงสร้างคณะกรรมการทุกระดับที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค ให้มีสัดส่วนของตัวแทนผู้บริโภคอย่างน้อยหนึ่งในสาม

     4.2  รัฐต้องพัฒนาระบบโครงสร้างความมั่นคงทางยาของประเทศ ( พัฒนากลไกอัตโนมัติ ในการยกเลิกการใช้ยา สารเคมีอันตราย สินค้าหรือบริการที่พบว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ อาทิเช่น กรณียาที่ปรากฎเป็นข่าวอันตรายต่อสุขภาพ หรือมีผลข้างเคียงจนนำมาซึ่งถูกยกเลิกการใช้ในต่างประเทศ หรือประเทศผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือภูมิภาคอาเซียน อาจกำหนดไว้ในคณะกรรมการแห่งชาติด้านยา สารเคมีอันตราย ที่ถูกยกเลิกการใช้ในประเทศผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือภูมิภาคอาเซียนอาจกำหนดไว้ในคณะกรรมการแห่งชาติด้านการจัดการปัญหาสารเคมี )

     4.3  การปรับปรุงมาตรการเชิงลงโทษให้เข้มงวดมากขึ้น หรือการเยียวยาผู้เสียหายเชิงลงโทษ เช่น
            -  การลงโทษผู้ผลิตที่โฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือโฆษณาเกินจริง หลอกลวง อีกทั้งเพิ่มบทลงโทษในฐานความผิดจากการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพให้หนักขึ้น รวมถึงให้มีบทลงโทษเจ้าของสื่อหรือเจ้าของสถานี โดยต้องรับผิดชอบในความผิดทุกกรณีของการโฆษณา โดยอาจตั้งคณะกรรมการเฉพาะเรื่องเพื่อพิจารณา ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนผู้บริโภคไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง
            -  การชดเชยเยียวยาผู้เสียชีวิตจากรถโดยสารสาธารณะเทียบเท่ากับผู้เสียชีวิตจากการชุมนุมทางการเมือง และควรมีการเพิ่มวงเงินค่ารักษาพยาบาลที่คุ้มครอง โดยไม่ต้องรอพิสูจน์ถูกผิด
            -  สร้างระบบร่วมจ่ายระหว่างบริษัทประกันภัยกับผู้ประกอบการ (ทั้งที่มีใบอนุญาตและร่วมบริการ)
            -  เรื่องความรับผิดของผู้ประกอบการกรณีความชำรุดบกพร่องแล้ว แก้ไขไม่ได้ แก้แล้วแก้อีก หรือกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขได้ภายใน 30 วัน ให้เพิ่มบทลงโทษสูงสุดกับผู้ประกอบการ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภค เช่น ให้ซื้อห้องคืนทันทีเป็นต้น
            -  ให้มีการสร้างหลักประกันให้กับผู้ซื้อบ้านแล้วไม่ได้บ้าน เช่น กลไกการประกันเงินดาวน์ รวมถึงกองทุนชดเชยความเสียหายให้กับผู้ซื้อบ้านที่ไม่ได้บ้าน ต้องได้รับเงินคืนพร้อมดอกเบี้ยโดยไม่มีการหักค่าใช้จ่ายและเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น โดยเงินอาจมาจากทั้งผู้ประกอบการและการนำเงินของผู้บริโภคบางส่วนที่จ่ายไปในการดาวน์บ้านหรือทำระบบการรับประกันการดาวน์ที่ชัดเจน

     4.4  การสนับสนุน องค์กรผู้บริโภค ให้มีส่วนร่วมและติดตามกำกับการคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งทำหน้าที่ให้ข้อมูลและสนับสนุนผู้บริโภค

     การคุ้มครองผู้บริโภคมีหลายหน่วยงานมากที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพาณิชย์ อุตสาหกรรม และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค แต่พบว่า ปัจจุบัน รัฐยังไม่สามารถให้การคุ้มครองผู้บริโภคได้จริง ดังนั้นรัฐจะต้องสนับสนุน ศูนย์ประสานงานหรือศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภคภาคประชาชน องค์กรผู้บริโภคให้มีส่วนร่วมในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคในทุกด้าน ให้มีความสามารถกลั่นกรอง ช่วยเหลือ และที่สำคัญสนับสนุนในการให้ข้อมูลกับผู้บริโภคที่สามารถใช้ประกอบการตัดสินเลือกแบบแผนการผลิตและการบริโภค รวมถึงให้ผู้บริโภคตระหนักและเท่าทันปัญหาในยุคบริโภคนิยม สนับสนุนการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและคุ้มครองสิทธิของตนเอง รวมถึง ในการออกประกาศหรือกำหนดมาตรการต่างๆ เช่น การกำหนดอัตราดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียมทางการเงินต่างๆ ขอให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชน และขอให้มีการเพิ่ม สัดส่วนผู้แทนผู้บริโภค เพื่อให้มีส่วนร่วมในการกำหนดมาตรการหรือประกาศที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภค

 

iconคลิก Downloads File