2nd benefit

2nd benefit

ผู้บริโภคเปิดสภาผู้บริโภคถกปัญหาราคาน้ำมันเเละแก๊สหุงต้ม กลั่นในไทย ทำไมขายน้ำมันเเพงกว่าส่งออกให้สิงคโปร์

610607 news4
ผู้บริโภคเปิดสภาผู้บริโภคถกปัญหาราคาน้ำมันเเละแก๊สหุงต้ม อดีตรมว.คลังชี้นโยบายการตั้งราคาขายในประเทศสูงเกิน ไม่เป็นธรรมต่อประชาชน แนะ 8 ข้อเสนอแก้ปัญหาพลังงาน

เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเวทีสภาผู้บริโภค กรณีปัญหาราคาน้ำมันและแก๊สหุงต้ม โดยมี น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กทม. นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรมว.คลัง น.ส.บุญยืน ศิริธรรม กรรมการผู้แทนเขต 6 ภาคตะวันตก คณะอนุกรรมการด้านการบริการสาธารณะ ของ คอบช. และมล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนโยบายพลังงานและทรัพยากร มหาวิทยาลัยรังสิต เข้าร่วมเสวนา

610607 news-rosana
น.ส.รสนา กล่าวว่า ขณะนี้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเป็นวงกว้างจากราคาพลังงานที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นในช่วงนี้ ซึ่งพบว่าปัญหาเกิดจากโครงสร้างราคาน้ำมันและก๊าซหุงต้ม (LPG) ที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค อาทิ ราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นอิงขายราคานำเข้าน้ำมันจากสิงคโปร์ทั้งๆที่โรงกลั่นไทยส่งออกน้ำมันมากว่า20 ปี รวมทั้งราคาน้ำมันสำเร็จรูปมีการเก็บภาษีซ้ำซ้อน ทำให้ประชาชนต้องบริโภคพลังงานในราคาที่สูงเกินจริง แต่ไทยกลับมีการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปในราคาที่ต่ำ คิดเป็นมูลค่าถึงปีละ2แสนล้านบาท ซึ่งการเสวนาครั้งนี้ ได้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นร่วมกัน และเห็นชอบให้ยื่นหนังสือข้อเสนอปฏิรูปราคาน้ำมันและก๊าซหุงต้มเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้บริโภค โดยสภาผู้บริโภคด้านพลังงานจะเดินทางไปยื่นหนังสือต่อกระทรวงพลังงานในวันที่ 13 มิ.ย.นี้ เวลา 10.00น. เพื่อขอให้รัฐดำเนินการแก้ไขตามข้อเสนอ รวมทั้งต้องการกระตุ้นสร้างความตื่นตัวด้านพลังงานให้กับประชาชนทั่วไป

สำหรับข้อเสนอแนะมีดังนี้ คือ 1.ให้รัฐบาลยกเลิกการใช้ราคาเสมือนนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปจากสิงคโปร์ 2.ให้รัฐบาลปรับปรุงราคาเอทานอลซึ่งผลิตในประเทศ แต่มีราคาสูงเกินราคาเอทานอลที่บราซิลถึง 9 บาท/ลิตร โดยให้อ้างอิงราคาในต่างประเทศ ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างราคา 12-15 บาท/ลิตร 3.ให้กำหนดราคา LPG จากโรงแยกก๊าซฯใช้กลับไปใช้สูตรเดิมที่อ้างอิงราคาตะวันออกกลางไม่เกิน ที่ 333 เหรียญสหรัฐ/ตัน หรือเฉลี่ย 10 บาท/กก.โดยให้ภาคครัวเรือนได้ใช้ก่อน 4.ยกเลิกกองทุนน้ำมันที่ไม่มีกฎหมายรองรับในการเก็บเงินจากประชาชน 5.ให้หยุดการเก็บเงินจากกองทุนอนุรักษ์พลังงาน เพื่อศึกษาว่าควรดำเนินการอย่างไรต่อไปหรือจะยกเลิกกองทุนดังกล่าวเพราะมีการนำเงินไปอุดหนุนไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันกองทุนนี้มีเงินสะสมมากถึง 4.1 หมื่นล้านบาท จึงควรหยุดการเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันที่อัตรา 10สต./หน่วยได้แล้ว อันจะทำให้ราคาน้ำมันปรับลดลง 6. ให้รัฐยกเลิกการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT)ซ้ำซ้อน โดยให้จัดเก็บภาษีVATจากเนื้อน้ำมันอย่างเดียว 7. ให้รัฐใช้ภาษีสรรพสามิตเพียงกลไกเดียวกันในการควบคุมราคาน้ำมันเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนแทนกองทุนน้ำมันที่ถูกยกเลิกไป และ 8. เสนอให้รัฐตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติเสมือนกับการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ก่อนที่จะมีการเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมเอราวัณและบงกชที่จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2565-66

"เวลานี้ ราคาพลังงานในไทยเลือกอิงราคาต่างประเทศที่แพงที่สุด เช่นน้ำมันก็อิงสิงคโปร์บวกค่าขนส่งและประกันภัย แต่ราคาเอทานอลแทนที่จะกำหนดราคาใกล้บราซิลที่ถูกกว่าไทย 9บาท/ลิตร ส่วนก๊าซหุงต้มก็อิงตลาดจร โดยอ้างกลไกเสรี" น.ส.รสนา ระบุ

610607 news

610607 news3

ก่อนหน้านั้น นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊คในหัวข้อ "โรงกลั่นชี้แจงเหตุผลทำไมราคาน้ำมันขายคนไทยต้องแพง-แต่ไม่ถูกต้อง!" โดยระบุว่า CEO Thaioil (นายอธิคม เติบศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)) และ IRPC (สุกฤตย์ สุรบถโสภณ" กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน)) ให้สัมภาษณ์ในสกู๊ปข่าวเศรษฐกิจ รายการข่าวค่ำ อสมท. ออกอากาศเมื่อวันที่ 5 มิ.ย.61 ว่า คำชี้แจงของทั้งคู่ เป็นการยอมรับชัดเจนว่าโรงกลั่นส่งออกในราคาต่ำกว่าขายคนไทย แต่พยายามชี้แจงเหตุผลความจำเป็น ซึ่งตนมองว่าเป็นเหตุผลที่ไม่ถูกต้อง

นายธีระชัย ยังได้ระบุถึงสาระสำคัญว่า การระบุว่าโรงกลั่นสิงคโปร์แต่ละแห่งมีกำลังกลั่นสูงกว่าไทย ต้นทุนของไทยจึงสูงกว่า ทั้งที่ความจริงต้นทุนการกลั่นน้ำมันในประเทศไทยสูงกว่าโรงกลั่นในสิงคโปร์ แต่ก็เพียงเล็กน้อยมาก แทบจะไม่ต่างกัน แต่ในทางกลับกัน ค่าจ้างแรงงานและเงินเดือนผู้บริหารไทยนั้นต่ำกว่าสิงคโปร์มากมาย เช่นเดียวกับการอ้างต้นทุนการสำรองน้ำมัน แต่กลับถูกนำมาเป็นข้ออ้างเพื่อบวกค่าขนส่งเทียม อีกทั้งยังมีการอ้างการแข่งขันเช่นเดียวกับอุตสาหกรรมใหญ่อื่นๆ ที่มีตั้งราคาขายแข่งกับการนำเข้านั้น ต้องมองว่าธุรกิจอื่นต่างจากธุรกิจกลั่นน้ำมัน ที่เป็นลักษณะผูกขาด และรัฐเป็นผู้กำหนดสูตรราคา การอ้างการนำเข้าเป็นข้ออ้าง เพื่อบวกค่าขนส่ง ประกันภัย ฯลฯ ทั้งที่ไม่มีการขนส่งน้ำมันสำเร็จรูปมาจากสิงคโปร์จริงๆ

นายธีระชัย ระบุอีกว่า ยังมีการอ้างอีกว่า การตั้งราคาส่งออกต่ำกว่าราคาขายในประเทศเป็นผลดีต่อผู้บริโภคไทย เพราะโรงกลั่นจะได้แข่งขันกันขายในประเทศ ซึ่งความเป็นจริงแล้ว การตั้งราคาส่งออกต่ำกว่าราคาขายในประเทศ จะเป็นผลดีต่อผู้บริโภคไทยได้ ก็ต่อเมื่อผู้บริโภคไทยมีโอกาสซื้อในราคาตลาดส่งออกด้วย แต่ไม่อาจเกิดขึ้นได้ เนื่องจากรัฐไปกำหนดว่า โรงกลั่นจะขายคนไทยในราคานำเข้า ในการขายผู้บริโภคไทยจึงไม่เกิดการแข่งขันกันดังที่กล่าวอ้าง ดังนั้น การอ้างว่าราคาส่งออกที่ต่ำกว่าราคาขายในประเทศ จะเป็นผลดีต่อผู้บริโภคไทย จึงไม่เป็นเหตุเป็นผล

ส่วนประเด็นที่ว่า สาเหตุที่ราคาส่งออกต่ำกว่าขายในประเทศ เพราะส่งออกน้ำมันตกเกรด ส่วนที่ขายในไทยแพงกว่าเพราะปรับเป็นมาตรฐานยูโร 4 นั้น นายธีระชัย ระบุว่า ต้นทุนการกลั่นของน้ำมันแต่ละเกรดตกเพียงประมาณ 10-15 สตางค์ต่อลิตรเท่านั้น จึงไม่สามารถอธิบายราคาเบนซินส่งออกไปอินโดจีนที่ต่ำกว่าราคาขายคนไทยลิตรละเกือบ 1 บาทได้ และราคาส่งออกไปสิงคโปร์ ก็ต่ำกว่าราคาขายคนไทยถึงลิตรละ 2-3.50 บาท รวมทั้งสิงคโปร์มีมาตรฐานสูง จึงไม่น่าจะเป็นไปได้ที่น้ำมันขายไปยังประเทศสิงคโปร์จะเป็นน้ำมันตกเกรด ดังนั้น การอ้างข้อแตกต่างทางคุณภาพ จึงไม่น่าเชื่อถือ และไม่สามารถอธิบายเหตุผลที่โรงกลั่นตั้งราคาส่งออกต่ำกว่าราคาที่ขายคนไทย อนึ่ง เนื่องจากการขยายกำลังกลั่นในไทยนั้น เป็นการขยายเพื่อส่งออก ดังนั้น น้ำมันที่ส่งออกส่วนใหญ่จึงย่อมเป็นน้ำมันตามเกรดที่ตลาดผู้ซื้อกำหนด และย่อมไม่ใช่เศษน้ำมัน หรือน้ำมันตกเกรด

"ผมขอย้ำว่า กระทรวงพลังงาน/หน่วยงานที่กำกับดูแลโครงสร้างราคาน้ำมันที่ขายภายในประเทศ จะต้องตอบคำถามประชาชนว่า - ทำไมยอมให้มีการบวกค่าขนส่งน้ำมันสำเร็จรูปจากสิงคโปร์ ค่าสูญเสียระหว่างขนส่ง และค่าประกันภัยเข้าไปในราคาขาย อันเป็นค่าใช้จ่ายเทียม ทั้งที่การกลั่นกระทำในประเทศไทย ท่านนายกฯ ก็รู้ในประเด็นนี้มาก่อน มิใช่หรือ รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานคนปัจจุบันก็รู้ มิใช่หรือ รัฐบาลนี้จึงมีหน้าที่ต้องชี้แจงว่า นโยบายพลังงานของท่าน เห็นถึงความจำเป็นในกรณีนี้ ของโรงกลั่น หรือของประชาชนกันแน่ และขอร้องว่า ท่านไม่ต้องส่งคนจากโรงกลั่น/ผู้ผลิต/ผู้ค้าส่ง-ค้าปลีก หรือผู้ซึ่งได้รับประโยชน์ในเรื่องนี้ ออกมาชี้แจงที่มาของผลประโยชน์ของตัวเอง แบบอ้อมไป อ้อมมา ซึ่งประชาชนไม่ได้ประโยชน์อะไร" นายธีระชัยระบุ

ข้อมูลจาก FB:องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค
https://amp.mgronline.com
นสพ.โพสต์ทูเดย์

Tags: น้ำม, ัแก๊สหุงต้