คอบช. เผยผลสำรวจราคาแก๊สสุดโหด สวนราคาน้ำมันดิบ เหตุ LPG โรงแยกก๊าซแพงกว่าตลาดโลก

Written on . Posted in ด้านการบริการสาธารณะ ฮิต: 2495

590128 whact lpg4

         เมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการบริการสาธารณะ ภายใต้คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน และเครือข่ายผู้บริโภค เปิดเผยผลสำรวจราคาขายปลีกก๊าซหุงต้มทั่วประเทศ ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.)

         นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา เจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มพบ. กล่าวว่า คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ประกาศแจ้งราคาจำหน่ายปลีกแนะนำก๊าซปิโตรเลียมเหลวบรรจุถัง (ก๊าซหุงต้ม) ขนาด ๑๕ กิโลกรัม ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ราคาไม่เกินถังละ ๓๗๐ บาท โดยรวมค่าขนส่งถึงผู้ซื้อไม่เกิน ๕ กิโลเมตร ขณะที่ราคาในต่างจังหวัด กรมการค้าภายในแจ้งว่า เป็นอำนาจของคณะกรรมการส่วนจังหวัดว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กจร.) ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการออกราคากำหนด โดยคณะกรรมการฯ เห็นว่าต้องใช้เกณฑ์ ๓๗๐ บาทยึดเป็นเบื้องต้น

         นายอิฐบูรณ์ ให้ข้อมูลการสำรวจพบว่า พื้นที่กรุงเทพฯ สำรวจ ๑๖ ร้านค้าใน ๑๕ เขต มีร้านที่จำหน่ายก๊าซหุงต้มสูงกว่าราคาแนะนำร้อยละ ๑๙ โดยราคาสูงสุดที่พบ คือ ๓๘๐ บาท จำหน่ายเท่ากับราคาแนะนำร้อยละ ๖๒ และจำหน่ายต่ำกว่าราคาแนะนำร้อยละ ๑๙ ขณะที่เขตปริมณฑล ราคาสูงสุดที่สำรวจได้อยู่ที่ จ.ปทุมธานี คือ ๔๐๐ บาท โดยจำหน่ายราคาสูงกว่าราคาแนะนำร้อยละ ๖๕ แล้วยังบวกค่าขนส่งเพิ่มเข้าไปด้วย ซึ่งผิดกฎหมาย ทำให้เห็นว่ามีปัญหาในการควบคุมราคา

         เจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ กล่าวว่า การสำรวจในภาคกลาง จำหน่ายก๊าซราคาสูงกว่าราคาแนะนำร้อยละ ๓๓ โดย จ.ชัยนาท พื้นที่นอกเขตเทศบาลราคาก๊าซถูกกว่าในเทศบาล จึงไม่แน่ใจว่าการกำหนดราคาขึ้นกับอะไร นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องการไม่แจ้งราคาที่สถานที่จำหน่ายอีกด้วย ส่วนภาคตะวันตก มีสัดส่วนการขายเกินราคากำหนดร้อยละ ๕๓ และไม่แจ้งราคาที่ร้านถึงร้อยละ ๖๗ ส่วนภาคตะวันออก จำหน่ายสูงกว่าราคาแนะนำร้อยละ ๘๖ และไม่มีป้ายแสดงราคาร้อยละ ๘๘

         ขณะที่ภาคเหนือ จำหน่ายราคาสูงกว่าร้อยละ ๖๙ และไม่แสดงราคาร้อยละ ๕๗ ส่วนภาคอีสาน ราคาสูงสุดอยู่ที่ ๔๔๐ บาท ต่ำสุดราคา ๒๙๕ บาท โดยจำหน่ายสูงกว่าราคาแนะนำร้อยละ ๗๖ และไม่แจ้งราคาร้อยละ ๘๙ ด้านภาคใต้ ที่ไม่รวมพื้นที่บนเกาะ มีราคาจำหน่ายสูงกว่าราคาแนะนำร้อยละ ๘๗

         นายอิฐบูรณ์ กล่าวว่า คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ให้ข้อมูลว่า ราคาแอลพีจีของตลาดโลกมีราคา ๑๓.๑๕ บาทต่อกิโลกรัม แต่ราคาของ กบง. อยู่ที่ ๑๕.๙๘ บาท ซึ่งสูงกว่าราคาตลาดโลก ในขณะที่ทิศทางราคาก๊าซแอลพีจี (LPG) ของตลาดโลกมีแนวโน้มต่ำลง คณะกรรมการฯ จึงต้องการให้กระทรวงพลังงานแถลงข่าวให้ประชาชนเข้าใจเรื่องต้นทุนโครงสร้างราคา เพื่อให้ประชาชนเข้าใจตรงกันมากขึ้น ทั้งนี้ นายอิฐบูรณ์ กล่าวถึงข้อเสนอของคณะกรรมการองค์การอิสระฯ มีดังนี้ คือ

         ๑. ราคาก๊าซธรรมชาติจากปากหลุม ให้คณะกรรมการปิโตรเลียมและคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานเปิดเผยราคาก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตแอลพีจี และเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า โดยนำเสนอข้อมูลบนเว็บไซต์ เพื่อให้ประชาชนตรวจสอบเทียบกับราคาตลาดโลกได้
         ๒. ราคาก๊าซแอลพีจีจากโรงแยกก๊าซต้องต่ำกว่าราคาตลาดโลก เพราะโรงแยกก๊าซอยู่ในประเทศไทย ใช้ทรัพยากรในประเทศ และส่วนใหญ่ก็คืนทุนมานานแล้ว จึงต้องพิจารณาโดยเร่งด่วน
         ๓. ราคาก๊าซแอลพีจีนำเข้าให้ใช้วิธีประมูล เพื่อให้ได้ราคาที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด
         ๔. ให้ กบง.ปรับปรุงค่าการตลาดให้เหมาะสมกับสภาพปัจจุบัน เพื่อบรรเทาภาระของประชาชน และกระจายรายได้ไปยังผู้ค้ารายย่อย
         ๕. ราคาขายปลีกปลายทาง ให้กระทรวงพาณิชย์ออกประกาศควบคุมราคาก๊าซหุงต้มทุกจังหวัด เพื่อความเป็นธรรมแก่ผู้บริโภคและผู้ค้ารายย่อย


         นายอิฐบูรณ์ กล่าวด้วยว่า การสำรวจครั้งนี้ทำในนามคณะกรรมการองค์การอิสระฯ โดยคณะกรรมการฯ จะมีหนังสือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และให้เครือข่ายผู้บริโภคทั่วประเทศ พิทักษ์ประโยชน์ของตัวเอง เช่น เข้ายื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด และจะทำหนังสือถึงกระทรวงพลังงาน และกระทรวงพาณิชย์ เพื่อให้คุ้มครองผู้บริโภค โดยเริ่มจากเรื่องราคาก๊าซก่อน

         “แม้จะมีหน่วยงานใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการมีคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน แต่เราก็จะไม่ย่อท้อที่จะผลักดันให้เกิดกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งเรามุ่งหวังให้รัฐออกกฎหมายองค์การอิสระฯ เพื่อคุ้มครองให้ประชาชนดูแลตัวเองได้” นายอิฐบูรณ์ กล่าว

         ด้าน นางสาวบุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า ก๊าซเป็นสินค้าที่ควบคุมราคา แต่การควบคุมราคาของหน่วยงานรัฐหย่อนยาน ทำให้ราคาไม่เสถียร จึงต้องการเห็นการควบคุมราคา ไม่ควรให้ผู้บริโภคไปเผชิญปัญหาเอง

         “เราอยากให้รัฐบาลควบคุมราคาก๊าซให้เข้มข้นเหมือนราคาหวย เพราะเราต้องใช้ก๊าซทุกวัน” ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคกล่าวและว่า เขาต้องการเห็นการกำหนดกติกา และควบคุมราคาอย่างจริงจัง และให้มีการแข่งขันกันได้ โดยไม่ให้มีใครผูกขาดการนำเข้า หรือผูกขาดการผลิตโดยบริษัทเดียว และการประกันราคารายได้ให้ผู้ประกอบการ ทำให้ราคาก๊าซแพงกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งรัฐต้องดูแลให้ราคาก๊าซโรงกลั่นในประเทศถูกกว่านำเข้า

         นายรุ่งชัย จันทสิงห์ นักวิชาการด้านพลังงาน ผู้ประสานเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย ให้ความเห็นว่า ราคาก๊าซแอลพีจีควรมีราคาลดลง เพราะแนวโน้มในเดือนกุมภาพันธ์ ราคาในตลาดโลกจะลดลงอีก ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีที่กระทรวงพลังงานจะปรับลดราคาลงมา

         “จากความไม่รู้ของประชาชนว่าราคาก๊าซมีการชดเชยค่าขนส่งให้แล้ว ทำให้ผู้ประกอบการเอาเปรียบประชาชน ดังนั้นราคาก๊าซควรเท่ากันทั่วประเทศ” นักวิชาการด้านพลังงานระบุ
นายประสาท มีแต้ม ประธานคณะอนุกรรมการบริการสาธารณะ ด้านพลังงาน ให้ข้อมูลว่า ราคาก๊าซที่ผลิตในประเทศไทยมีราคาสูงขึ้นมาตลอดตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ เป็นต้นมา ขณะที่ราคาน้ำมันลดลงในช่วง ๒ ปีที่ผ่านมา ทั้งที่ราคาก๊าซและราคาน้ำมันในต่างประเทศจะสัมพันธ์กัน ซึ่งขณะนี้ราคาก๊าซในตลาดโลกขายที่ ๑๐๐ บาทต่อล้านบีทียู แต่ประเทศไทยขาย ๒๒๐ บาทต่อล้านบีทียู ซึ่งแพงกว่าเป็น ๒ เท่า “ก๊าซที่ผลิตในไทย ส่วนใหญ่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งสัมพันธ์ว่าทำไมค่าไฟไม่ลด เพราะก๊าซขึ้นตลอด แต่ราคาน้ำมันดิบขึ้นๆ ลงๆ” นายประสาท กล่าว

         ด้าน นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพฯ ให้ความเห็นว่า ราคาก๊าซในตลาดโลก ๑๓.๑๕ บาท แต่ราคาของไทยแพงกว่าราคาตลาดโลก ทั้งที่เป็นทรัพยากรในประเทศ และโรงก๊าซก็สร้างขึ้นมาโดยภาษีของประชาชน ดังนั้นราคาจริงควรถูกลง และหากรัฐบาลจะปฏิรูปโครงสร้างราคาที่เป็นธรรม ราคาก๊าซที่โรงแยก จะต้องถูกกว่าราคาตลาดโลก โดยเสนอให้ กบง.ต้องกำหนดให้ราคาเนื้อก๊าซแอลพีจีก่อนบวกภาษีควรอยู่ที่ราคาต่ำกว่าราคาตลาดโลก คือ ราคาประมาณ ๑๐ บาท เพื่อให้ราคาปลีกไม่ควรเกิน ๑๘ บาทต่อกิโลกรัม ไม่ใช่ ๒๒.๒๙ บาท ซึ่งจะทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากก๊าซที่มาจากในประเทศ และสอดคล้องกับราคาตลาดโลกที่ลดลง

         ขณะที่ นายปฏิวัติ เฉลิมชาติ ตัวแทนสมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น ให้ความเห็นว่า เครือข่ายฯ จะนำเรื่องร้องเรียนเรื่องการขายเกินราคาส่งให้ กจร. เพื่อดูว่าคณะกรรมการฯ จะจัดการอย่างไร

พิมพ์