2nd benefit

2nd benefit

302 องค์กรผู้บริโภคโหวตไม่รับร่าง รธน.ฉบับลดอำนาจประชาชน การคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในร่างก้าวถอยหลัง

press 050859002


นางสาวบุญยืน  ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค ยืนยัน ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่จะลงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ กำหนดสาระสำคัญว่า "องค์กรของผู้บริโภคมีสิทธิรวมกันจัดตั้งเป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระเพื่อ ให้เกิดพลังในการพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ทั้งนี้หลักเกณฑ์และวิธีการจัดตั้ง อำนาจในการเป็นตัวแทนผู้บริโภค และการสนับสนุนด้านการเงินจากรัฐ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด" การเขียนในลักษณะนี้สะท้อนให้เห็นความล้าหลังของร่างรัฐธรรมนูญกลายเป็นย้อน ไปในอดีตก่อนปี 2540 ไม่มีความก้าวหน้าในการปฏิรูประบบการคุ้มครองผู้บริโภค หรือหลักประกันสิทธิผู้บริโภค ไม่มีการกำหนดให้มีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคทำหน้าที่ตัวแทน ผู้บริโภคระดับประเทศในการให้ความเห็นต่อหน่วยงานรัฐ สนับสนุนผู้บริโภคให้เท่าทันปัญหาและสามารถคุ้มครองตนเองได้ รวมทั้งสนับสนุนหน่วยงานรัฐในการกำกับดูแลการคุ้มครองผู้บริโภค ทำให้ขาดกลไกคุ้มครองผู้บริโภคที่สำคัญอย่างที่เคยมีในรัฐธรรมนูญปี 40 และ 50     

 

         การที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด เขียนเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคกำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐ ถือเป็นการลดทอนสิทธิเสรีภาพประชาชน สะท้อนการสร้างความเหลื่อมล้ำในการใช้อำนาจของรัฐ และสวนทางกับหลักการร่างรัฐธรรมนูญที่บอกว่าต้องการจะปราบการทุจริต คอร์รัปชัน ซึ่งผู้ประกอบการหรือนายทุนมักผูกขาดใช้อำนาจเงินมหาศาลเข้าหาอำนาจรัฐให้ เอื้อประโยชน์ให้  นำไปสู่แนวทางการปฏิรูปประเทศภายใต้รัฐธรรมนูญที่ประชาชนหรือผู้บริโภคไม่มี ส่วนร่วม


          นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า บุคคลมีสิทธิรวมตัวกันจัดตั้งองค์กรผู้บริโภคเพื่อคุ้มครองสิทธิและพิทักษ์ ผู้บริโภค เป็นการเขียนรัฐธรรมนูญโดยไม่ได้เข้าใจบริบทสังคม เพราะผู้บริโภคมีการรวมกลุ่มตั้งเป็นองค์กรผู้บริโภคกันมานานกว่า 30 ปีแล้ว หน้าที่ในการตรวจสอบในฐานะประชาชนในฐานะผู้บริโภคมีอยู่แล้ว เป็นสิทธิและหน้าที่พื้นฐานของประชาชนในฐานะผู้บริโภค แต่การกำหนดให้เป็นองค์การอิสระในรัฐธรรมนูญ เป็นองค์การมหาชนแบบหนึ่ง ซึ่งทำหน้าที่ที่เรียกว่า special delivery unit จะมีศักดิ์และสิทธิมากกว่าการรวมตัวเป็นกลุ่ม ชมรม มูลนิธิ สมาคม หรือรูปแบบอื่นๆ เป็นการสร้างหลักประกันให้กับสิทธิผู้บริโภคที่จะได้รับการคุ้มครอง เป็นการใช้พลังผู้บริโภคในการพัฒนามาตรฐานของสินค้าและบริการ ทำให้ผู้บริโภคมีความรู้ คอยเป็นหูเป็นตา ให้กับหน่วยงานรัฐ ประสบการณ์ของกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคที่มากกว่า 37 ปีลำพังการมีกฎหมายที่ดี มีหน่วยงานรัฐด้านการคุ้มครองผู้บริโภคที่ดีเท่านั้นไม่เพียงพอ ต้องสนับสนุนให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมในการคุ้มครองตนเองและสังคม

         หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ คสช. และรัฐบาลควรเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กำหนดเรื่องการปฏิรูประบบการคุ้มครองผู้บริโภคที่ชัดเจนไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ และเร่งรัดการทำกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคโดยเร็ว


          นางสาวสุรีรัตน์ ตรีมรรคา  กรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ด้านบริการสุขภาพ กล่าวว่า เนื้อหาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิทธิในการได้รับบริการสาธารณสุข และหน้าที่ของรัฐมีเนื้อหาที่เปลี่ยนแปลงไป เมื่อเทียบกับรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 โดยตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ มาตรา 47 ที่กำหนดว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐ บุคคลผู้ยากไร้ย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตามที่กฎหมายบัญญัติ” มีการตัดเรื่อง “ สิทธิเสมอกัน” เช่นที่เคยมีในรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 51 ระบุว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการทางสาธารณสุขที่เหมาะสมและได้ มาตรฐาน และผู้ยากไร้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐโดย ไม่เสียค่าใช้จ่าย...” ทำให้สวัสดิการรัฐ 2 เรื่องคือ หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และหลักประกันรายได้ให้ผู้สูงอายุที่ให้ทุกคนอย่างเสมอภาคหายไป ทำให้สิทธิของประชาชนที่เคยมีลดทอนลง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มุ่งจำกัดสิทธิมากกว่าคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน

         นอกจากนี้ ร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีการลงประชามติ ระบุว่า ให้ชุมชนมีสิทธิจัดสวัสดิการได้ ซึ่งเหมือนจะดูดีแต่กลับผลักภาระการจัดสวัสดิการไปให้ชุมชน ทั้งนี้โดยเฉพาะการศึกษา สุขภาพ บำนาญไม่สามารถไปรอดได้ เพราะสวัสดิการชุมชนจะบำนาญให้ประชาชนด้วยกันเองไปตลอดชีวิตไม่ได้ หรือจะจัดการศึกษาให้ทุกคนตั้งแต่อนุบาลถึงปริญญาตรีไม่ได้ และเห็นว่าหน้าที่ของรัฐต้องไปเอาความมั่งคั่งในรูปแบบภาษีกลับมาแล้วคืน ภาษีนั้นกลับไปให้กับทุกคนในรูปแบบสวัสดิการแล้วไม่ต้องแยกแยะว่าสวัสดิการ นั้นให้เฉพาะคนจนหรือคนรวย



ผศ.รุจน์ โกมลบุตร กรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ด้านสื่อและโทรคมนาคม กล่าวว่า  ตามร่างรัฐธรรมนูญในประเด็นการเปลี่ยนแปลงเรื่องการจัดสรรคลื่นความถี่และ กสทช. ภายใต้หมวดหน้าที่ของรัฐ และปรับนิยามคลื่นความถี่จาก “ทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ” เป็น “ทรัพยากรของชาติ” เป็นแนวคิดที่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา เนื่องจากแนวคิดที่รัฐเป็นเจ้าของ ครอบครองและใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ได้สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งมีการเปลี่ยนระบบสัมปทานไปสู่ระบบใบอนุญาต  ยิ่งไปกว่านั้น ยังพบด้วยว่ามีการตัดข้อความ “การแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม” ที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับที่ให้กำเนิดพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความ ถี่ฯ ฉบับปัจจุบัน ทำให้เกิดคำถามว่า การจัดสรรทรัพยากรคลื่นความถี่ยังคงวางอยู่บนพื้นฐานให้เกิดการแข่งขันโดย เสรีอย่างเป็นธรรม หรือเป็นการนำคลื่นความถี่ไปใช้ประโยชน์ของคนเพียงบางกลุ่ม 

         นอกจากนี้ พบว่า มีการตัดเรื่องการจัดให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการสื่อมวลชนสาธารณะ ทำให้ขาดหลักประกันสิทธิแก่ภาคประชาชน และอาจส่งผลต่อการเปลี่ยนถ้อยคำในร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความ ถี่ฯ ที่กำหนดให้ภาคประชาชนได้ใช้คลื่นความถี่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20

          ด้วยเหตุนี้ เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทั้งหมด 302 องค์กร จึงมีความเห็นร่วมกันที่จะโหวตโน ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง เพราะเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคที่ไม่ ก้าวหน้า ทั้งขาดหลักประกันด้านสิทธิและสวัสดิการของประชาชน