2nd benefit

2nd benefit

องค์กรผู้บริโภค แจง กรรมการสิทธิฯ องค์การอิสระ ไม่ซ้ำซ้อน สคบ.

45455855

วันนี้ (25 พ.ย. 57) นางสาวบุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค และ ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้เข้าร่วมประชุมกับคณะอนุกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนและการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งทำงานผ่านคณะกรรมาธิการการกฎหมายกระบวนการยุติธรรมและกิจการตำรวจ โดยได้ชี้แจงถึงเหตุผลข้อมูลและรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องความจำเป็นที่ต้องมีกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค

นางสาวบุญยืน ศิริธรรม กล่าวชี้แจงที่มาของกฎหมายฉบับนี้พร้อมยกตัวอย่างปัญหาของผู้บริโภคที่ถูกเอาเปรียบและยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหา

"ในฟากฝ่ายค้าขายก็มีสภาหอการค้า ฟากฝ่ายผลิตก็มีสภาอุตสาหกรรมแต่ฝั่งผู้บริโภคยังไม่มีเจ้าภาพ ดังนั้นการมีองค์การอิสระฯ ก็จะช่วยเป็นปากเป็นเสียงแทนผู้บริโภค เพื่อช่วยตรวจสอบและถ่วงดุลย์อำนาจต่างๆ" นางสาวบุญยืน กล่าว

ด้าน ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง กล่าวเพิ่มเติมถึงความแตกต่างระหว่างกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค และ พ.ร.บ. คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ซึ่งได้อธิบายความแตกต่างของอำนาจหน้าที่ของ สำนักงานคณะกรรมารคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ที่มิได้ซ้ำซ้อนกัน ว่า "คณะกรรมการองค์การอิสระไม่มีอำนาจออกกฎหรือกฎหมาย เพื่อบังคับใช้กับผู้ประกอบธุรกิจได้ ในขณะที่ คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งมีฐานะเป็นเจ้าพนักงานรัฐ และเป็นหน่วยงานราชการสามารถ ออกกฎ หรือ กฎหมาย บังคับใช้กับผู้ประกอบธุรกิจได้ นอกจากนี้ในการดำเนินคดีเพื่อผู้บริโภค คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคสามารถดำเนินคดีแทนให้กับผู้บริโภคได้ ในขณะที่ หน้าที่ของคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคทำได้เพียงแต่สนับสนุนการร้องเรียนหรือสนับสนุนการดำเนินคดีของผู้บริโภค"

ทั้งนี้คณะอนุกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนและการคุ้มครองผู้บริโภค โดย พันตำรวจโท พงษ์ชัย วราชิต ประธานคณะอนุกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนและการคุ้มครองผู้บริโภค ยินดีสนับสนุนการออกกฎหมายนี้ และขอข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกฎหมายองค์การอิสระฯ ฉบับประชาชน ที่ไม่ได้ถูกแก้ไข เพื่อใช้ประกอบการพิจารณา