2nd benefit

2nd benefit

มติ สนช. 159 เสียง เอกฉันท์ เห็นชอบออก กม. การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค

consumer law 1502622

มติ สนช. 159 ต่อ 0 เห็นชอบให้ออกกฎหมาย พ.ร.บ. การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคมีผลใช้บังคับภายใน 60 วัน

         วันนี้ (15 กุมภาพันธ์ 2562) ณ รัฐสภา ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีนายพีระศักดิ์ พอจิต เป็นรองประธาน สนช. คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. ... วาระที่ 2 และ 3 โดยหลังจากที่ประชุม สนช. ลงมติเป็นรายมาตราในวาระที่ 2 เรียบร้อยแล้ว จึงมีการลงมติในวาระที่ 3 เห็นชอบให้ออกกฎหมาย พ.ร.บ. การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. ... ด้วยคะแนนเสียง 159 เสียงเป็นเอกฉันท์ งดออกเสียง 3 และ ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง โดยกฎหมายดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับภายใน 60 วัน

          สำหรับ การพิจารณาวาระที่ 2 นั้น ได้พิจารณามาตราที่มีการแก้ไขทั้งหมด 4 มาตรา ได้แก่ มาตรา 2, 7, 10 และ 19 จากกฎหมายทั้งหมด 20 มาตรา ซึ่งประเด็นแก้ไขที่สำคัญ และมีการถกเถียงชี้แจงเพิ่มเติมนั้นอยู่ในมาตรา 19 ในประเด็นเรื่องเงินสนับสนุนจากรัฐบาล ร่างกฎหมายฉบับกรรมาธิการมีการแก้ไขให้รัฐบาลจัดสรรเงินไว้ที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และการจ่ายเงินอุดหนุนให้แก่สภาองค์กรฯ ให้เป็นไปตามระเบียบ ที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีกำหนด ซึ่งถูกท้วงติงจาก นายมณเฑียร บุญตัน และนางสุรางคณา วายุภาพ สมาชิก สนช. ให้เขียนไว้เหมือนร่างเดิมของรัฐบาล ที่เป็นการจัดสรรเงินอุดหนุนโดยตรงแก่สภาองค์กรของผู้บริโภค เพื่อคงความเป็นอิสระในการดำเนินงานของสภาองค์กรฯ และการบริหารงานที่เป็นอิสระตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

consumer law 150262

        ทั้งนี้อำนาจหน้าที่ของสภาองค์กรของผู้บริโภคนั้น ในกฎหมายได้ระบุไว้ว่า ในฐานะตัวแทนผู้บริโภค ให้สภาองค์กรฯ มีอำนาจดำเนินการในเรื่องต่างๆ ดังต่อไปนี้ด้วย

         (1) ให้ความคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค เสนอแนะนโยบายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคต่อคณะรัฐมนตรีหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง

         (2) สนับสนุนและดำเนินการ ตรวจสอบ ติดตาม เฝ้าระวังสถานการณ์ และแจ้งเตือนภัยปัญหาผู้บริโภค โดยจะระบุชื่อสินค้าหรือบริการหรือชื่อของผู้ประกอบธุรกิจด้วยก็ได้

         (3) รายงานการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคไปยังหน่วยงานของรัฐ หรือหน่วยงานอื่นที่รับผิดชอบ และเผยแพร่ให้ประชาชนทราบ

         (4) สนับสนุนและช่วยเหลือองค์กรของผู้บริโภค และส่งเสริมการรวมตัวขององค์กรของผู้บริโภคในระดับจังหวัดและเขตพื้นที่

         (5) สนับสนุนการศึกษาและและการวิจัยเพื่อประโยชน์ในการดำเนินงานคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค

         (6) สนับสนุนและช่วยเหลือสมาชิกในการไกล่เกลี่ยหรือประนีประนอมยอมความข้อพิพาท เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค ทั้งก่อนและในระหว่างการดำเนินคดีต่อศาล

         (7) ดำเนินคดีแทนผู้บริโภค

          (8) รวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคในการตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการ ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก

150219 news law duty

         กฎหมาย พ.ร.บ. การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค ได้รับการอนุมัติหลักการ จากคณะรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2561 ในชื่อ “(ร่าง) พ.ร.บ. สภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ พ.ศ. ...” ซึ่งร่างกฎหมายฉบับนั้นได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากผู้บริโภคและองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศแล้ว ต่อมา วันที่ 7 พฤศจิกายน 2562 กฎหมายดังกล่าวมีการแก้ไข โดยคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะพิเศษ ซึ่งมีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน และให้เหตุผลว่า “(ร่าง) พ.ร.บ. สภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ พ.ศ. ...” ขัดต่อรัฐธรรมนูญ จึงมาการเปลี่ยนชื่อและแก้ไขเนื้อหา จนได้ร่างกฎหมายฉบับใหม่ออกมา ในชื่อ “(ร่าง) พ.ร.บ. การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. ...” จากนั้น วันที่ 10 มกราคม 2562 สนช. ได้มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. ... วาระที่ 1 ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม). เสนอเป็นเรื่องเร่งด่วน และได้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นคณะหนึ่งเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว โดยมีกำหนดเวลาพิจารณาภายใน 45 วัน ซึ่งนำมาสู่การพิจารณาวาระที่ 2 และ 3 จนกระทั่งออกเป็นกฎหมายในวันนี้

Tags: องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค , คอบช. , สภาองค์กรผู้บริโภค