2nd benefit

2nd benefit

ภาคประชาชน ร้อง สปท.หนุนกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค

590223 news2
เมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน เครือข่ายผู้บริโภค และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นจดหมายขอให้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) สนับสนุนกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค โดยมีนายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธาน สปท. และนายศิริชัย ไม้งาม ประธานคณะอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูประบบแรงงานและระบบคุ้มครองผู้ บริโภค เป็นตัวแทนรับจดหมาย ที่รัฐสภา

นางสาวบุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า เครือข่ายผู้บริโภคต้องการให้ สปท.ช่วยผลักดันและสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.... เพราะกฎหมายฉบับนี้ผ่านการพิจารณาของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) แล้ว จึงต้องการให้ สปท.นำไปใช้ปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศ

ประธานสหพันธ์ฯ ให้ความเห็นว่า ก่อนหน้านี้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเรียกประชุมหน่วยงานรัฐ และตัวแทนจากสภาอุตสาหกรรม แล้วมีมติไม่สนับสนุนกฎหมายฉบับนี้ โดยอ้างว่ามีการทำงานซ้ำซ้อนกันกับหน่วยงานรัฐ ซึ่งถือว่าเป็นการดูถูกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) วุฒิสมาชิก และ สปช.ที่ผ่านกฎหมายฉบับนี้

ด้านนายอลงกรณ์ ให้ความเห็นว่า จะนำข้อเสนอของเครือข่ายฯ ส่งไปให้ประธานฯ พิจารณา แต่โดยส่วนตัวนั้น เขาเห็นด้วยที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของสังคมไทยและคนไทย โดยมองว่าการทำงานขององค์การอิสระฯ ไม่ได้ซ้ำซ้อนกันกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) แต่อย่างใด ซึ่งหน่วยงานรัฐต้องทำความเข้าใจกับกฎหมายฉบับนี้ อย่างไรก็ดี คนที่ต้องตัดสินใจคือคณะทำงาน ๓ ฝ่าย ที่ประกอบด้วยคณะรัฐมนตรี สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และ สปท. ก่อนนำส่งให้นายกรัฐมนตรีชี้ขาดต่อไป

“ผม เห็นด้วยกับการมีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๔๐ ซึ่งในชั้น ส.ส.ก็ผ่านมาทุกพรรค ล้วนแต่สนับสนุนกฎหมายให้เกิดการคุ้มครองผู้บริโภค และในการปฏิรูปก็จำเป็นต้องขับเคลื่อนเรื่องนี้” รองประธาน สปท.กล่าว

นายศิริชัย กล่าวว่า คณะอนุกรรมาธิการฯ มีความเห็นว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างแท้จริง อีกทั้งจะเป็นประโยชน์กับประชาชนทั้งสิ้น และจะนำเสนอเรื่องให้กับประธานคณะกรรมาธิการฯ พิจารณาในวันพรุ่งนี้

ทั้งนี้ เหตุผลของเครือข่ายฯ ในการสนับสนุนกฎหมายองค์การอิสระฯ คือ ๑.สังคม ไทยต้องการตัวแทนผู้บริโภคในการกำหนดกติกา และมาตรการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคกับหน่วยงานรัฐ ๒.สนับสนุนและสร้างความเข้มแข็งให้ผู้บริโภคในการมีข้อมูล ความรู้ ความเท่าทัน สามารถต่อรองเมื่อเกิดปัญหาขึ้นกับตนเอง รวมถึงสนับสนุนหน่วยงานรัฐในการคุ้มครองผู้บริโภคให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น และ ๓.เป็นองค์กรที่จะช่วยสนับสนุนหน่วยงานรัฐในการคุ้มครองผู้บริโภค