2nd benefit

2nd benefit

ทำไมต้อง “ดับซิม” โทรศัพท์ผม ?

manager-sim27102015001

ผมเป็นลูกค้าของค่ายมือถือใหญ่รายหนึ่ง ส่วนใหญ่ผมใช้โทรศัพท์เลขหมายนี้สำหรับการติดต่อสื่อสารทางเสียงเท่านั้น ไม่ได้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตหรือบริการเสริมอื่น การใช้งานโทรศัพท์ของผมเป็นไปตามปกติ พื้นที่บริการค่อนข้างครอบคลุมกว้างไม่ว่าจะอยู่ในเมืองหรือชนบทแม้แต่ในต่างประเทศก็ใช้งานดีโดยไม่มีปัญหาใด ๆ คุณภาพของสัญญาณเสียงค่อนข้างดีสัญญาณมีความต่อเนื่องไม่ขาดหายไม่ว่าจะอยู่กับที่หรือเคลื่อนไหว การชำระค่าบริการหรือการติดต่ออื่น ๆ ก็ได้รับบริการไม่น้อยหน้าผู้ประกอบการรายอื่นที่ผมใช้บริการอยู่หากให้คะแนนผมถือว่าผู้ประกอบการรายนี้ได้คะแนนราว 9 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10

โทรศัพท์เลขหมายที่ผมใช้งานอยู่มีการใช้งานมากว่า 10 ปี ซึ่งผมค่อนข้างพอใจและวางใจกับผู้ประกอบการรายนี้และตั้งใจว่าจะไม่ย้ายค่ายไปไหนเพราะสิ่งที่ได้รับนั้นคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไปแต่ละเดือน โปรโมชั่นต่าง ๆ ผมได้รับผ่านทางโทรศัพท์ผ่านฟังชั่นการรับ-ส่งข้อความยกเว้นเรื่องสำคัญซึ่งต้องการพูดคุยรายละเอียดจะมีพนักงานติดต่อมาหา ส่วนใหญ่ข้อความที่ได้รับจะเป็นการแจ้งเตือนเรื่องค่าบริการที่ใกล้ครบกำหนดชำระหรือไม่ก็ทวงถามค่าบริการเมื่อเลยกำหนดชำระ

ในช่วงหลัง ๆ ผมได้รับข้อความเชิญชวนให้ไป Upgrade ให้เป็นระบบ 3G จากผู้ประกอบการที่ผมใช้บริการอยู่เนือง ๆ จำไม่ได้ว่าเริ่มเมื่อใดและเป็นจำนวนกี่ครั้ง เพราะตั้งใจว่าโทรศัพท์เบอร์นี้จะใช้สำหรับพูดคุยอย่างเดียว ส่วนบริการอินเทอร์เน็ตนั้นผมใช้บริการของผู้ประกอบการรายอื่นอยู่แล้ว ผมจึงไม่ได้สนใจการเชิญชวนไป Upgrade เพราะถือว่าระบบเดิมใช้งานได้เพียงพอกับความต้องการอยู่แล้ว

สิ่งเดียวที่เสียไปจากการไม่ไป Upgrade น่าจะเป็นการไม่ได้รับส่วนลดค่าเครื่องดื่มจากร้านกาแฟแบรนด์ดังเจ้าหนึ่งเท่านั้นเอง ซึ่งผมไม่ได้ถือเป็นสาระสำคัญนักก็แค่จ่ายเต็มราคาเหมือนคนอื่น ๆ ก็หมดเรื่องและการเชิญชวนไป Upgrade ระบบดังกล่าวผมถือว่าเป็นเรื่องปกติของการเชิญชวนลูกค้าไปใช้โครงข่ายใหม่ตามความสมัครใจของลูกค้าเอง ผมคิดเอาเองในฐานะผู้บริโภคว่า ถ้าไม่ Upgrade ก็คงใช้งานระบบเดิมได้ต่อไป ไม่ได้มีปัญหาอะไรเราใช้เฉพาะ Voice เท่านั้น

สิ่งที่ทำให้ผมแปลกใจ จนต้องออกมาเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับ “ปรากฏการณ์ซิมดับ” ทางสื่อสาธารณะก็เพราะว่าในระยะหลัง ผมมักได้รับข้อความแจ้งว่า ซิมของเลขหมายที่ผมใช้งานอยู่จะดับ โดยข้อความล่าสุดที่ผมได้รับเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2558 คือ "เบอร์คุณจะสิ้นสุดการคุ้มครอง 19 พ.ย. 2558 จากนั้นซิมจะดับไม่สามารถใช้และเรียกคืนเบอร์ได้รีบโอนย้ายไปยังผู้ให้บริการที่เลือก สอบถาม 1xxx 11xx"

ผมไม่ทราบว่า “ซิมดับ” ตามข้อความที่ได้รับมานั้นแปลว่าอะไรและครอบคลุมความหมายใดบ้างและไม่รู้ว่าใครเป็นผู้ประกาศจะ “ดับซิม “เพราะไม่ได้แจ้งชื่อผู้ประกาศไว้ สมมุติว่าประกาศนี้เป็นประกาศที่ออกมาจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ก็ยิ่งเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจเป็น ทวีคูณเมื่อผู้กำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมเป็นผู้ประกาศ “ดับซิม” เสียเองแล้วผู้บริโภคจะหวังพึ่งใครได้เล่า

ผมเองเข้าใจตามประสบการณ์ว่าคำว่า “ซิมดับ” ตามที่ได้รับแจ้งมานั้นก็คือ ตัวซิมการ์ดที่บรรจุข้อมูลรายละเอียดเลขหมายที่ผมใช้นั้นจะถูก ระงับการใช้อย่างถาวรและเบอร์นั้นจะใช้ไม่ได้อีกต่อไป ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าผมแปลคำว่า “ซิมดับ” ถูกหรือผิดเพราะผมไม่ทราบจริง ๆ ว่าคำว่า“ซิมดับ” ที่เขาแจ้งมานั้นกินความขนาดไหนและยังไม่เคยได้ยินคำจำกัดความของคำว่า “ซิมดับ” อย่างเป็นเรื่องเป็นราว และคนที่ตกที่นั่งเดียวกับผมนั้นคงจะมีหลายล้านคนกระจายกันอยู่ทั่วประเทศทั้งในเมืองและในชนบทที่ห่างไกล ซึ่งผมเชื่อว่าเป็นไปไม่ได้ที่ทุกคนจะรับทราบและปฏิบัติได้ตามขั้นตอนที่ได้รับแจ้งมาและแน่นอนว่าต้องมี “ซิมดับ” เกิดขึ้นหากยังคงดันทุรังที่จะใช้วิธี “ดับซิม” ของผู้ใช้โทรศัพท์ต่อไป

ผู้ที่ออกประกาศและเจ้าของโครงข่ายเคยคิดกันบ้างหรือไม่ว่า วันหนึ่งลูกค้านับล้านคนที่ใช้โทรศัพท์ติดต่องานในภาวะปกติและในภาวะฉุกเฉินจะปั่นป่วนและเดือดร้อนขนาดไหนเมื่อเกิด “ซิมดับ”

หากปรากฏการณ์ “ซิมดับ” เกิดขึ้นจริงตามที่ผมได้รับแจ้งมาโดยที่ผู้ถือครองเลขหมายที่มีตัวตนนั้นไม่ได้ไปย้ายค่ายจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม รางวัล “การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” (ITU Global Sustainable Digital Development Award) ที่ท่านนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปรับมากับมือจาก Mr. Houlin Zhao เลขาธิการสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) หมาด ๆ ในโอกาสครบรอบ 150 ปีของ ITU ณ ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ในฐานะหนึ่งใน 9 ประเทศกำลังพัฒนาแถวหน้าที่มีผลงานดีเด่นในการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อความยั่งยืน คงไม่เหลือคุณค่าอะไรให้คนไทยได้ภูมิใจเป็นแน่

ผมเข้าใจว่าการเขี่ยทิ้งหรือการฆ่าเทคโนโลยีเดิมเพื่อก้าวสู่เทคโนโลยีใหม่อย่างพลิกโฉม(Revolutionary) โดยไม่สนใจมูลค่าของโครงข่ายเดิมที่ผมให้คะแนนการบริการเกือบเต็มสิบและยังสามารถสร้างมูลค่าให้รัฐได้อีกหลายปีท่ามกลางการคัดค้านของพนักงานในหน่วยงานที่เป็นเจ้าของสัมปทานนั้นน่าจะ เป็นการทำในสิ่งที่ตรงข้ามกับคำว่าการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามความหมายของ ITU และในขณะเดียวกันการ “ดับซิม” ของผู้ใช้บริการนั้นเท่ากับว่าประเทศไทยกำลังลดระดับมาตรฐานการบริการลงเพื่อตอบสนองต่อเทคโนโลยีใหม่ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งต่อตัวชี้วัดมาตรฐานการให้บริการโทรคมนาคมของประเทศไทยซึ่งผมเชื่อแน่ว่าไม่เป็นสิ่งที่พึงประสงค์ของทุกฝ่าย

ประเทศไทยเราถือว่าเป็นประเทศแรก ๆ ที่เข้าเป็นสมาชิกสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศซึ่งมีหน้าที่กำหนดมาตรฐานโทรคมนาคม กำหนดเลขหมายโทรคมนาคมและวางแผนความถี่วิทยุ อีกทั้งพัฒนาระบบโทรคมนาคมในภูมิภาคต่าง ๆ เพื่่อลดช่องว่างของการติดต่อสื่อสารของประชากรในโลกนี้ ประเทศไทยเองได้ยึดถือมาตรฐานโทรคมนาคมจาก ITU เป็นแนวทางการพัฒนาระบบโทรคมนาคมของประเทศตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา

สิ่งที่ประเทศไทยยึดถือโดยตลอดตั้งแต่มีระบบโทรคมนาคมในประเทศนี้ก็คือ เสถียรภาพของระบบโทรคมนาคมและความต่อเนื่องของบริการซึ่งต้องดีที่สุดไม่มีการหยุดชะงัก เป็นเรื่องที่รุ่นพี่ๆในวงการโทรคมนาคมถือปฏิบัติและสั่งสอนต่อกันมา สิ่งที่คนไทยสัมผัสได้จากอดีตจนถึงปัจจุบันก็คือไม่ว่าโครงข่ายจะเปลี่ยนเทคโนโลยีไปกี่ยุคก็กี่สมัยตาม “สัญญาณพร้อมต่อ” (Dial Tone ) ของโทรศัพท์บ้านทุกเลขหมายที่มีการลงทะเบียนใช้งานอยู่จะต้องดังอยู่เสมอเมื่อมีการยกหูโทรศัพท์และสัญญาณจะต้องไม่มีการขาดหายเป็นอันขาด ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ชัดถึงมาตรฐานโทรคมนาคมที่ประเทศไทยยึดถืออย่างเคร่งครัด

พูดง่ายๆว่าจากวันที่ประเทศไทยมีโทรศัพท์ใช้จนถึงวันนี้สัญญาณจากโทรศัพท์บ้านไม่เคยดับ การขัดข้องของระบบชุมสาย ระบบข่ายสายและระบบสื่อสัญญาณที่ถือเป็นหัวใจหลักของโครงข่ายโทรคมนาคม ที่เรียกว่า “ระบบล่ม” นั้น ในวงการโทรคมนาคมถือเป็นเรื่องใหญ่และต้องแก้ไขให้กลับคืนดีโดยเร็วที่สุดและต้องมีการรายงานความเสียหายและในบางกรณีต้องถูกสอบสวนและลงโทษซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากเหตุสุดวิสัยทั้งสิ้น จึงไม่มีมืออาชีพในวงการโทรคมนาคมคนไหนที่ยอมให้โครงข่ายของตัวเองเกิดบริการหยุดชะงักด้วยความจงใจยกเว้นเหตุสุดวิสัยเท่านั้นเพราะต่างทราบดีว่าการติดต่อสื่อสารที่ชะงักงันนั้นส่งผลเสียหายต่อเศรษฐกิจและความเชื่อถือเป็นอย่างยิ่ง เป็นเรื่องที่มืออาชีพด้านโทรคมนาคมตระหนักอยู่เสมอเมื่อทำงานกับโครงข่ายโทรคมนาคมที่ให้บริการแก่ประชาชนในวงกว้างในประเทศที่ไม่ได้มีความพร้อมในหลายๆด้าน

ดังนั้นข้อความที่ผมได้รับในเรื่อง“ซิมดับ” ซึ่งเป็นความจงใจของใครก็ตามที่จะระงับการใช้โทรศัพท์นั้นเป็นวิธีการที่ผิดปกติที่ผมไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน ผมเองในฐานะผู้บริโภครับไม่ได้กับวิธีการ “ดับซิม “และผมเชื่อว่าคนไทยอีกหลายล้านคนที่ตกที่นั่งเดียวกับผมก็คงไม่สามารถรับวิธีการนี้ได้เช่นกัน ผมมั่นใจว่าเรายังมีทางออกอีกหลายทางเลือกที่จะไม่ให้เกิด “ปรากฏการณ์ซิมดับ” เพียงแต่ผู้มีอำนาจและผู้ปฏิบัติจะเปิดใจและรับฟังข้อท้วงติงและกลับไปทบทวนรวมถึงมองโครงข่ายโทรคมนาคมในมุมมองอื่นที่ไม่ใช่เรื่องของเทคโนโลยีแต่เพียงอย่างเดียวบ้างหรือไม่ เท่านั้นเอง

การประกาศ “ดับซิม” ใน พ.ศ. 2558 ซึ่งเป็นปีที่เทคโนโลยีก้าวเข้าสู่ยุค 4G อย่างที่โฆษณากันนั้นเป็นเรื่องที่น่าตกใจและอยู่เหนือความคาดหมาย เป็นการกระทำที่ขัดกันอย่างสิ้นเชิงกับมาตรฐานโทรคมนาคมในยุคเดิมที่ประเทศไทยพยายามจะรักษาความต่อเนื่องของการบริการไว้อย่างดีที่สุดไม่ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีกี่ยุคต่อกี่ยุคก็ตามเพื่อให้ผู้ใช้โทรศัพท์ได้ใช้โทรศัพท์ได้ตลอดเวลาเมื่อต้องการ เท่าที่เทคโนโลยีในขณะนั้นจะอำนวยให้ แม้ว่าในวิธีปฏิบัติจะยุ่งยากซับซ้อนต่อผู้ประกอบการมากเพียงใดก็ตามและประเทศไทยเราถือปฏิบัติกันมาอย่างนั้นเพื่อไม่ให้สัญญาณดับในช่วงการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี

ในช่วงสิบปีที่ผ่านมาผมสังเกตว่าบทบาทของภาครัฐในเรื่องการพัฒนาระบบโทรคมนาคมถดถอยลงมาก แต่บทบาทจะไปโดดเด่นอยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) เป็นส่วนใหญ่ หลายภารกิจ กสทช. ปฏิบัติได้ชัดเจนเป็นรูปธรรมและไม่เกิดข้อขัดแย้งที่รุนแรงจนกระทบต่อผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็น การประกาศมาตรฐานโทรคมนาคมต่าง ๆ รวมทั้ง การกำกับดูแลเลขหมายโทรคมนาคม เป็นต้น

แต่เป็นที่น่าสงสัยว่าภารกิจเกี่ยวกับนโยบายการพัฒนากิจการโทรคมนาคมของประเทศที่สำคัญบางเรื่องซึ่งภาครัฐต้องแสดงบทบาทนั้น กลับกลายเป็นภารกิจที่ถูกขับเคลื่อนโดยองค์กรอิสระไปเสียแล้วหรือโดย เฉพาะอย่างยิ่งภารกิจด้านการพัฒนาโครงข่ายโทรคมนาคมประเภทไร้สายนั้นแทบจะไม่ได้ยินนโยบายใดๆออกมาจากภาครัฐเลย ทั้ง ๆ ที่เป็นภารกิจที่ภาครัฐต้องเป็นผู้นำด้วยซ้ำไป

การที่มีการปล่อยปละละเลยจนถึงกับมีการประกาศ “ดับซิม” อย่างเปิดเผย นั้นแสดงถึงความอ่อนแอของประเทศไทยในหลายด้าน เช่น มาตรฐานการกำกับดูแล มาตรฐานการบริการ มาตรฐานการคุ้มครองผู้บริโภค การรับรู้ข้อจำกัดของผู้บริโภคไทย ตลอดจนนโยบายที่ลักลั่นระหว่างหน่วยงานของรัฐกับองค์กรอิสระ อย่างเห็นได้ชัด

ดังนั้นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อวงการโทรคมนาคมเมืองไทยในวันนี้คงไม่ต้องรอให้ถึงวัน “ซิมดับ” หรอกครับ แค่มีการประกาศว่าจะมีการ “ดับซิม” กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารภายใต้การกำกับดูแลของรัฐควรต้องร้อนใจและเห็นความสำคัญต่อความผิดปกติที่เกิดขึ้นและรีบดำเนินการเสีย จะเพิกเฉยและหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์นี้คงจะไม่ได้แล้วละครับ

นอกจากนี้ องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคทั้งหลาย โดยเฉพาะฝ่ายคุ้มครองผู้บริโภคของ กสทช. เองควรแสดงจุดยืนต่อเรื่องนี้อย่างจริงใจและชัดเจน มิฉะนั้นความน่าเชื่อถือในเรื่องมาตรฐานการให้บริการโทรคมนาคมของประเทศไทยรวมทั้งชื่อเสียงของหน่วยงานการคุ้มครองผู้บริโภคที่มีตัวตนชัดเจนนั้นคงจะไม่พ้นการถูกบั่นทอนลงด้วย“ปรากฏการณ์ซิมดับ” ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าขายหน้าและคนไทยคงพูดได้ไม่เต็มปากว่าประเทศไทยเคยรับรางวัล “การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” จากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศมาแล้ว

 

ที่มา : สำนักข่าวอิศรา  วันอังคาร ที่ 27 ตุลาคม 2558 เวลา 15:00 น.  เขียนโดย  พันธ์ศักดิ์ อาภาขจร

ภาพประกอบ : www.manager.co.th

 

ข่าวบทความเนื้อหาใกล้เคียงกัน:

|

Tags: กสทช.,, ซิม, sim, ซิมดับ