2nd benefit

2nd benefit

ผู้บริโภคค้านมติ กสท. เอื้อควบรวมกิจการสื่อ SLC ถือหุ้นเกิน 10%

natdanai260358

วันที่ 26 มีนาคม 2558 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช) จัดประชุมเรื่อง ‘ข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิรูปสื่อและการคุ้มครองผู้บริโภคภายใต้การปรับปรุงกฎหมาย กสทช. : อนาคต กสทช. ในยุค 'ปฏิรูป' ทางออกปฏิรูปสื่อ หรือ ทางตัน” ณ สำนักงาน กสทช.

ทั้งนี้ ในระหว่างการประชุมได้มี ตัวแทนเครือข่ายครอบครัว เครือข่ายผู้บริโภค และเครือข่ายสื่อเพื่อเด็ก เครือข่ายชุมชน กว่า 50 คน ยื่นหนังสือถึง นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) เรียกร้องขอให้ยกเลิกมติ กสท.กรณีบริษัท โซลูชั่น คอนเนอร์ (1998) จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย จำกัด (มหาชน) เกินกำหนดไม่ผิดกติกา

โดยเนื้อหาในหนังสือระบุว่า ตามที่ความในมาตรา 31 ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 แสดงเจตนารมณ์ที่ชัดเจน ห้ามมิให้มีการครองสิทธิข้ามสื่อหรือควบรวมกิจการสื่อ ซึ่งเป็นไปเพื่อปกป้องรักษาสิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนให้ได้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นธรรมหลากหลาย โดยปราศจากการครอบงำจากกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

พวกเราพลเมืองมีความกังวลอย่างสูงว่า มติ กสท. เมื่อวันจันทร์ที่ 23 มีนาคมที่ผ่านมา ที่เป็นมติ 2:2:1 ซึ่งสรุปใจความได้ว่า การที่บริษัท โซลูชั่น คอนเนอร์ (1998) จำกัด (มหาชน) หรือ SLC เข้ามาถือหุ้นบริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย จำกัด (มหาชน) ถึง 12.27% ถือว่าไม่ผิดกติกานั้น กำลังเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ เปิดทางให้เกิดการควบรวมสื่ออย่างกว้างขวาง

โดยไม่คำนึงว่า มติดังกล่าวขัดต่อ มาตรา 31 ของ พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 และละเมิดสิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสารจองประชาชน ที่ถูกต้อง เป็นธรรม ปราศจากการครอบงำ

หนังสือระบุด้วยว่า การลงมติของ กรรมการ กสทช. 3 ท่าน คือ พ.อ.ดร. นที ศุกลรัตน์ พล.ต.อ.ทวีศักดิ์ งามสง่า ผู้ที่งดออกเสียง และ พลโท ดร. พีระพงษ์ มานะกิจ ผู้ที่ออกเสียงว่าไม่ผิด เป็นการกระทำที่เห็นได้ชัดว่าเพิกเฉยต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. และถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนที่ได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญ

จึงเสนอให้ กสท.ดำเนินการดังนี้

1. ให้ยึดมั่นเจตนารมณ์ของกฎหมาย และเจตนารมณ์ของการปฏิรูปสื่อเป็นสำคัญ ทั้งนี้ให้เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ

2. ยกเลิกมติดังกล่าวโดยด่วน

3. มีมติที่เคารพต่อหลักเกณฑ์ก่อนการประมูลดิจิทัล ที่ห้ามการถือหุ้นไขว้ในสื่อดิจิทัลเกิน 10% และนำมาปฏิบัติอย่างต่อเนื่องภายหลังการประมูล

หาก กสท.จะยืนยันมติเดิม กลุ่มประชาชนจะดำเนินการร้องเรียนเพื่อนำมาสู่การถอดถอน กสทช.ที่ได้รับมอบอำนาจจากประชาชนให้มาเป็นกรรมการในองค์กรกำกับดูแล แต่ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ที่มีความสำคัญยิ่งต่ออนาคตประเทศ

ด้าน น.ส.สุภิญญา กล่าวว่า การประชุมครั้งที่ผ่านมาเป็นความเห็นของกรรมการแต่ละคนเท่านั้น ยังไม่ใช่มติของบอร์ด เพราะหากเป็นมติต้องมีการฟันธงว่า "กรณี SLC ถือหุ้น เกิน 10% ผิดกฎหมายหรือไม่" ซึ่งในการประชุม กสท. วันที่ 30 มีนาคม 2558 จะสอบถามในที่ประชุมว่า จะรับรองเรื่องนี้ว่าเป็นมติตามระเบียบการประชุมได้หรือไม่

ทั้งนี้ ได้ทำหนังสือถึงเลขาธิการ กสทช. เพื่อสอบถามถึงระเบียบ กสทช. และแนวปฏิบัติของการประชุม กสทช. ที่ผ่านมาหรือกรณีเทียบเคียง ในการพิจารณาการลงมติเสียงข้างมากและการวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมสำหรับกรณีที่เกิดขึ้นในการลงมติวาระที่แตกต่างกันของคณะกรรมการแต่ละท่าน ส่วนกรณีที่ภาคประชาชน จะยื่นถอดถอนนั้น มองว่าเป็นเรื่องที่ยื่นถอดถอนได้ หากเห็นว่า กสทช. ปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบ.

 

ที่มา : สำนักข่าวอิศรา  วันพฤหัสบดี ที่ 26 มีนาคม 2558 เวลา 12:12 น.

 

บทความเนื้อหาใกล้เคียงกัน:

|